สวัสดีจ้า...เหล่านักลงทุน เคยไหมที่ดันไปเจอ "คอนโด" ราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป อยากรู้ใช่ไหมว่าเพราะอะไร เราเองก็อยากรู้เช่นกัน  เราจึงติดต่อไปหาเบอร์ผู้ดูแลที่ทิ้งเอาไว้ในเว็บไซต์แห่งหนึ่งเพื่อสอบถามถึงราคาที่น่ายั่วยวนใจเหลือเกิน

จนเราพบความจริงว่า ห้องคอนโดแห่งที่มีราคาต่ำกว่าท้องตลาดนั้น มีสถานะเป็นหนี้เสียหรือหนี้ชำระค้าง ซึ่งมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งคือ NPL ย่อมาจาก Non Performing Loan นั่นเองจ้า สถานะนี้เกิดจากเจ้าของคนเก่าไม่ยินยอมชำระเงินคืนให้ธนาคารที่ซึ่งขอกู้มานั้นเอง จึงทำให้เกิดการยึดทรัพย์เข้าสู่กรมบังคับคดี สถานที่รวบรวมทรัพย์ประเภท ที่ดิน บ้าน ทาวเฮาส์ และคอนโด มาให้นักลงทุนที่สนใจมาประมูลกันจ้า

ยังไม่หมดแค่นี้ บังเอิญเราได้พูดคุยกับตัวแทนของเอเจนซี่แห่งหนึ่งที่ดูแลทรัพย์สินชิ้นนี้ที่มีสถานะเป็นหนี้ชำระค้างด้วย เราจึงขออนุญาตสอบถามกระบวนการซื้อ – ขาย "คอนโด" แห่งนี้ เพื่อเป็นความรู้ต่อคนที่สนใจหรือเคยได้ยินแต่ไม่ทราบกระบวนการภายในที่เกิดขึ้นกันจ้า

เจ้าหน้าที่อธิบายให้เราฟังว่า ถ้าสนใจทรัพย์สินที่เป็นหนี้ค้างชำระจริงๆ และต้องการใช้บริการผ่านเอเจนซี่ จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลให้แก่นักลงทุนตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการไม่ว่าจะประมูลแพ้หรือชนะก็ตาม โดยมีลำดับดังนี้

วางมัดจำ

นักลงทุนจะต้องวางเงินมัดจำให้แก่เอเจนซี่เพื่อเป็นค่าดูแลตั้งแต่ติดต่อวันนัดหมาย เพื่อเข้าไปประมูลทรัพย์ โดยมูลค่าของเงินมัดจำนั้นอยู่ที่หลักหมื่นจ้า

วางเงินประกันเพื่อการประมูล

วางเงินประกันจำนวนหลักแสนต้นๆ ต่อการประมูลด้วย เพราะการขอเข้าร่วมการประมูลสินทรัพย์ต้องเตรียมเงินสดหรือแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายกองจำหน่ายทรัพย์สินกรมบังคับคดีเพื่อใช้เป็นหลักประกันการเข้าสู้ราคา ซึ่งขึ้นอยู่กับราคาทรัพย์สินที่กรมบังคับคดีเขาตีราคา และจำนวนเงินประกันที่ต้องวางก่อนประมูลทรัพย์

ประมูลราคา

เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนดังกล่าวแล้ว ทางเจ้าหน้าที่จากเอเจนซี่ก็จะพาเราเข้าไปประมูลทรัพย์สินที่เราสนใจ โดยการประมูลจะมีการยกป้ายราคา ซึ่งขั้นตอนนี้ทางเจ้าหน้าที่จะจัดการให้แก่นักลงทุนเอง โดยก่อนเข้าไปประมูลทางเจ้าหน้าที่จะมีการบอกเรทราคาให้แก่นักลงทุนว่า ทรัพย์สินที่สนใจจะถูกประเมินอยู่ในช่วงราคาที่เท่าไหร่

ประมูลชนะ

ถ้าเราประเมินชนะในราคาที่หวังไว้ ก็สามารถดำเนินการต่อด้วยการซื้อทรัพย์ได้ ซึ่งการเป็นเจ้าของทรัพย์ลักษณะนี้จำเป็นต้องแบกรับความเสี่ยงถึงสภาพความทรุดโทรมต่อทรัพย์สินพอสมควร ซึ่งหากภายหลังนักลงทุนที่ชนะการประมูลทรัพย์ไปพบว่าทรัพย์สินที่ประมูลชนะมานั้นเกิดความชำรุดเสียหายมากก็ไม่สามารถไปฟ้องร้องเจ้าของเดิมได้ (อ้างอิงจากกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา 473 ได้ระบุว่า ผู้ซื้อไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายกับผู้ขายได้หากทรัพย์ชำรุดบกพร่อง) แต่เราก็สามารถขอเข้าไปดูทรัพย์โดยติดต่อจากคนที่ดูแลเราและประเมินว่าทรัพย์ว่ามีความเสี่ยงสภาพทรุดโทรมต่อทรัพย์สินที่เราพึงพอใจที่จะลงทุนได้เช่นกัน

ประมูลแพ้

ในขณะที่ถ้านักลงทุนประมูลแพ้ต่อนักลงทุนรายอื่น ทางเอเจนซี่แจ้งว่าจะคืนเงินค่ามัดจำหลักหมื่นรวมถึงค่าประกันในการเข้าไปประมูลหลักแสนคืนให้หมด เป็นอันจบกระบวนการจ้า

ส่วนใครที่สนใจอยากลงทุนต่อสถานะทรัพย์สินประเภทนี้เราก็อยากให้ไตร่ตรองดีๆ เพราะของดีราคาถูกมันมี แต่ก็ไม่ง่ายที่จะหาได้ภายในชั่วพริบตานะจ๊ะ เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง แต่การไม่มีความรู้การลงทุนเลยเสี่ยงกว่ามากจ้า

ขอให้โชคดีในการลงทุนทุกคนนะจ๊ะ

อ้างอิงข้อมูล: https://bit.ly/2ukr95P

ติดตามความรู้เรื่องการเงินการลงทุนจาก aomMONEY

Website : www.aomMONEY.com

Youtube : https://www.youtube.com/AommoneyTH

กลุ่มกองทุนไหนดี : https://www.facebook.com/groups/SelectedFund/

ทีมกองบรรณาธิการ aomMONEY