[Economy] ช่วงที่ผ่านมามีการพูดถึงเรื่องดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอย่างมาก

ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง.ในวันที่ 10 เมษายน 2567 มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี โดย 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี

โดยมองว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นจากปีก่อน โดยได้รับแรงสนับสนุนต่อเนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว รวมทั้งมีแรงส่งจากการใช้จ่ายภาครัฐที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี”

ความเห็นนี้อาจจะขัดใจใครหลายๆ คน เพราะอาจจะรู้สึกว่า ตั้งแต่เปิดปี 67 ประเทศไทยเองเศรษฐกิจก็ชะลอตัวลงไป ตัวเลขเงินเฟ้อเองก็ติดลบ 6 เดือนติดต่อกันด้วย

จึงมีทั้งฝั่งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในเรื่องของดอกเบี้ยนโยบายในเวลานี้

นาย อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย มองว่าตอนนี้เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวเพราะสาเหตุ “จากการที่ประเทศไทยไม่ได้รับประโยชน์มากจากการฟื้นตัวของตลาดโลก เพราะปัจจัยต่างประเทศมีความผันผวน ทั้งตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก กระทบการส่งออก และกระทบไปสู่การผลิตในประเทศ ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวเฟดอาจเลื่อนปรับดอกเบี้ยนโยบายจากพฤษภาคมเป็นมิถุนายน ทำให้เม็ดเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ส่งผลให้บาทอ่อนค่า”

และประเมินว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าจะเหลือ 2.00% ภายในปีนี้

นาย อมรเทพ กล่าวต่อว่า “การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อปรับสมดุลเศรษฐกิจไทยให้สอดคล้องกับศักยภาพการเติบโตที่ไม่ถึง 3% ต่อปี แต่ก็มีความเสี่ยงที่เงินทุนจะไหลออก หากมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายจริง และอาจทำให้เงินบาทอ่อนค่า จนอาจซ้ำรอยกับที่สวิตเซอร์แลนด์กำลังเผชิญอยู่ นักลงทุนต่างชาติอาจเทขายสินทรัพย์ไทย อย่างหุ้น และ บอนด์ ทำให้สินทรัพย์ไทยมีความน่าสนใจลดลง”

อัตราดอกเบี้ยนโยบายคืออะไร ?

ก่อนจะไปต่อขออธิบายเรื่อง ‘อัตราดอกเบี้ยนโยบาย’ สักหน่อย

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นอัตราที่ธนาคารกลางจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารพาณิชย์ที่เอาเงินมาฝาก หรือเป็นอัตราที่ธนาคารกลางเก็บดอกเบี้ยจากธนาคารพาณิชย์ที่มากู้เงิน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลกับอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์คิดกับลูกค้าที่เป็นผู้กู้หรือผู้ฝากเงินต่อไป

อัตราดอกเบี้ยนโยบายกำหนดโดยธนาคารกลาง เป็นอัตราดอกเบี้ยที่สำคัญที่สุดที่จะส่งผลกับอัตราดอกเบี้ยอื่น ๆ ในระบบเศรษฐกิจ

ของประเทศไทย คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ของอเมริกา คือ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) หรือกลุ่มประเทศยูโรโซน คือ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประมาณนี้

การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งการผลิต การบริโภค การค้า และการลงทุน และยังมีผลต่อการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อหรือราคาของสินค้าและบริการในที่สุด

5 ช่องทางที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนและธุรกิจ

1. ช่องทางอัตราดอกเบี้ย (Interest rate channel)

เมื่อแบงก์ชาติลดอัตราดอกเบี้ย ก็จะส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้/เงินฝากลดลง นำไปสู่ต้นทุนการลงทุนและบริโภคที่ลดลง มีโอกาสทำให้ประชาชนต้องการบริโภคมากขึ้น และธุรกิจก็อยากจะลงทุนเพิ่มขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็จะเติบโตและเงินเฟ้อก็จะเพิ่มขึ้นตามมา

2. ช่องทางสินเชื่อ (Credit channel)

เมื่อแบงก์ชาติลดอัตราดอกเบี้ย ก็จะส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้/เงินฝากลดลง ภาคธุรกิจก็จะมีภาระหนี้ลดลง ส่งผลให้ฐานะทางการเงินเข้มแข็งขึ้น นำไปสู่การที่ธนาคารยอมปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจมากขึ้น ธุรกิจขยายตัว การผลิตเพิ่ม การลงทุนเพิ่ม กิจกรรมทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อก็เพิ่มขึ้น

3. ช่องทางราคาสินทรัพย์ (Asset price channel)

เมื่อแบงก์ชาติลดอัตราดอกเบี้ย ก็จะส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้/เงินฝากลดลง ประชาชนดึงเงินออกมาจากการฝากเงิน เพราะดอกเบี้ยต่ำลง หันไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ มากขึ้น (ทอง หุ้น ฯลฯ) สินทรัพย์มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทำให้คนรู้สึกมั่งคั่งมากขึ้น นำไปสู่การใช้จ่ายเพิ่มขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสูงขึ้น

4. ช่องทางอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange rate channel)

เมื่อแบงก์ชาติลดอัตราดอกเบี้ย ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยกับต่างประเทศลดลง ส่งผลให้เงินทุนไหลออก ทีนี้เงินบาทก็จะอ่อนค่าลง ส่งผลให้การส่งออกดีขึ้น (เงินต่างชาติซื้อของเราได้เยอะขึ้น) นำเข้าลดลง (เราซื้อของต่างชาติได้แพงขึ้น) การผลิตในประเทศขยายตัว กิจกรรมทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อก็เริ่มโต

5. ช่องทางการคาดการณ์ (Expectations channel)

เมื่อแบงก์ชาติลดอัตราดอกเบี้ย แล้วภาคธุรกิจและประชาชนคิดว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้น ก็จะผลักดันให้เกิดการบริโภคและลงทุนเพิ่มขึ้น นำไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสูงขึ้นก็จะตามมา

แต่หากภาคธุรกิจและประชาชนคิดว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวแย่ลง ผลออกมาจะเป็นอีกแบบหนึ่ง การบริโภคก็จะลดลงและลงทุนลดลง นำไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อลดลงตามไปด้วย

ความเสี่ยงที่ต้องระวัง

นาย อมรเทพ กล่าวว่า

“เมื่อใดที่แบงก์ชาติตัดสินใจลดอัตรานโยบาย อาจถูกมองว่าเป็นการเปิดประตูสู่เงื่อนไขการเงินที่ผ่อนคลายขึ้น อีกทั้งจะยิ่งกระตุ้นความคาดหวังภายในตลาดการเงิน หรือทำให้ผู้ที่อยู่ในตลาดเงินและตลาดทุนดำเนินกิจกรรมไปในการกดดันให้อัตราดอกเบี้ยลดต่ำลงหรือมีผลข้างเคียงต่ออัตราแลกเปลี่ยนและกิจกรรมหรือเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอื่นอย่างไม่ตั้งใจและควบคุมไม่ได้”

คล้ายกับน้ำทะลักเขื่อนที่ไหลผ่านประตูที่เปิดออกและไม่สามารถย้อนกระแสน้ำให้ไหลกลับได้

CIMB ยังมองว่า กนง. น่าจะลดอัตราดอกเบี้ยลงสองครั้งในปีนี้ เหลือระดับ 2.0% “ ไม่ใช่เพียงเพื่อประคองเศรษฐกิจไทยที่เติบโตช้าและอัตราเงินเฟ้อต่ำในช่วงครึ่งปีแรก แต่เพื่อตอบสนองต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยในระยะยาวที่ศักยภาพการเติบโตลดต่ำลง ปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ เช่น ขาดการลงทุน แรงงานขาดทักษะ และสังคมสูงวัย ที่ไม่อำนวยต่อการใช้อัตราดอกเบี้ยที่สูงในระยะยาว”

โดยคาดว่าหลังจากที่เศรษฐกิจไทยน่าจะเร่งตัวขึ้นหลังรัฐบาลมีงบประมาณมากระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนในเดือนเมษายน นโยบายการเงินอย่างอัตราดอกเบี้ยจะกลายเป็น “กองหลัง” ไว้เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจให้เติบโต

ซึ่งทาง CIMB มีการคาดการณ์เอาไว้ว่าเงินบาทน่าจะอ่อนค่าแตะ 37 บาท/ดอลลาร์ ภายในสิ้นปี 2024

แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องกลับมาตั้งคำถามว่าการลดดอกเบี้ยจะช่วยได้เยอะขนาดไหน หากเป็นเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้างมันจะไม่ได้กระตุ้นเศรษฐให้เติบโตแบบยั่งยืน นาย อมรเทพ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “การปรับลดดอกเบี้ยคงไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เป็นเพียงการพยุงชั่วคราว เพราะปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยยังมีอยู่ เช่น ขาดการลงทุนจากต่างชาติ การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวน้อย การขาดทักษะแรงงานสังคมสูงอายุของไทย ทำให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำ 3% ในระยะยาว และไม่น่าสนใจในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ จึงอยากเห็นมาตรการภาครัฐในการเร่งปรับปรุงปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ และเน้นศักยภาพของไทยโตขึ้นได้ในอนาคต”