ท่ามกลางบรรยากาศวิกฤตโควิดในขณะนี้ นอกจากการแพร่ระบาดที่พ่นพิษไปยังวงล้อของเศรษฐกิจยังส่งผลระยะยาวไปสู่ประชาชน โดยเฉพาะการถูกเลิกจ้าง ลดเงินเดือนและอื่นๆ อีกมากมาย ส่งผลให้เกิดการกู้หนี้ยืมสินจนเป็นภาระที่เพิ่มพูน หลายๆ คนในช่วงนี้จึงมองหาทางออกด้วยการ “ปรับโครงสร้างหนี้” และ “การรีไฟแนนซ์” ในทรัพย์สินที่ตนมีเพื่อลดรายจ่าย

ทว่าหลายคนยังไม่รู้ว่า "การปรับโครงสร้างหนี้ กับ การรีไฟแนนซ์" นั้นแตกต่างกันอย่างไร เพื่อไขข้อสงสัยและเลือกใช้วิธีดังกล่าวอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ ทาง aomMONEY ไม่รอช้าที่จะสรุปมาให้ทุกคนได้ทำความเข้าใจ โดยมีรายละเอียดดังนี้ครับ

"การปรับโครงสร้างหนี้" หรือ "Restructuring"

จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ เราไม่สามารถผ่อนหรือชำระหนี้สินตามที่ธนาคารกำหนดหลายงวดติดต่อกัน ซึ่งอาจเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น ถูกเลิกจ้างจากโควิด หรือ ประสบอุบัติเหตุจนไม่มีรายได้มาชำระ โดยสิ่งที่เราต้องทำ คือ ชี้แจงถึงสาเหตุและปัญหาให้กับทางธนาคารทราบทันที เพื่อหาทางออกร่วมกัน ทั้งนี้ส่วนใหญ่ธนาคารจะช่วยในการประนอมหนี้และเสนอให้เราปรับโครงสร้างหนี้

ยกตัวอย่าง เช่น จากที่ต้องผ่อนเดือนละ 20,000 บาท ธนาคารอาจจะปรับโครงสร้างหนี้ แล้วลดให้ผ่อนเดือนละ 5,000 บาท โดยยอดดังกล่าวอาจจะเป็นดอกเบี้ย จนกว่าเราจะปรับแก้ปัญหาส่วนตัว ค่อยกลับมาผ่อนเหมือนเดิม

"การรีไฟแนนซ์" หรือ Refinance

คือ การย้ายผ่อนสินเชื่อเดิมจากธนาคารนึงไปอีกธนาคารหนึ่งหรือธนาคารใหม่ที่เสนออัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่า โดยการรีไฟแนนซ์นี้หลักๆ จะเป็น บ้านและคอนโด ซึ่งส่วนมากนิยมรีไฟแนนซ์ทุกๆ 3 ปี เนื่องจากเวลากู้บ้านหรือคอนโด เราจะได้รับดอกเบี้ยที่ถูกใน 3 ปีแรกนั้นเอง

การปรับโครงสร้างหนี้ ? การรีไฟแนนซ์

เพราะฉะนั้นการรีไฟแนนซ์ ไม่ใช่ การปรับโครงสร้างหนี้แต่อย่างไร เพราะการรีไฟแนนซ์ คือ การขอลดดอกเบี้ยกับธนาคารในการผ่อนชำระค่างวด ซึ่งจะทำให้เราประหยัดเงินได้มากกว่า โดยเราไม่เสียประวัติทางการเงิน แค่ต้องเตรียมตัวในการรีไฟแนนซ์ทุกๆ 3 ปี ส่วนการปรับโครงสร้างหนี้ คือ การจัดการตัวเองในเรื่องของการผ่อนชำระยอดค่าใช้จ่ายที่ค้างมาหลายงวด โดยไม่หนีหายไป แต่เป็นการปรึกษาและหาทางออกร่วมกัน โดยอาจผ่อนปรนด้วยการชำระน้อยลง ซึ่งยอดที่จ่ายจะเป็นดอกเบี้ย

คำแนะนำจาก aomMONEY

หากประสบปัญหาในเรื่องค่างวดที่ต้องจ่ายรายเดือนกับทางธนาคาร ไม่ควรค้างจ่ายไว้นานแต่ควรไปปรึกษาเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ส่วนการรีไฟแนนซ์ คือ การมองหาโอกาสในการลดดอกเบี้ยในการจ่ายค่างวด โดยเงินที่เหลือสามารถนำไปใช้จ่ายด้านอื่นๆ ได้ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ หรือ การรีไฟแนนซ์ ควรประเมินสถานการณ์และวางแผนให้ดี

สำหรับบทความในครั้งหน้า ทาง aomMONEY จะนำเสนอในเรื่องใด รอติดตามกันนะครับ

ขอบคุณครับ

บ.ก.aomMONEY

ติดตามความรู้เรื่องการเงินการลงทุนจาก aomMONEY

Website : www.aomMONEY.com

Youtube : https://www.youtube.com/AommoneyTH

กลุ่มกองทุนไหนดี : https://www.facebook.com/groups/SelectedFund/