หลังจากกรมสรรพสามิตมีแนวคิดจะเก็บ "ภาษีไขมันและความเค็ม" จากสินค้าที่มีไขมันและความเค็มในปริมาณมาก โดยนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวว่า มีแผนจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบแนวคิดดังกล่าว เพราะเป็นต้นเหตุสำคัญในการทำลายสุขภาพ โดยจะใช้รูปแบบเดียวกับการเก็บภาษีจากความหวาน

กรมสรรพสามิตมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนบทบาทการเก็บภาษี จากเดิมเก็บภาษีบาปเป็นหลัก เปลี่ยนมาเก็บภาษีสินค้าที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ ภาษีบาป ภาษีพลังงาน และภาษีสิ่งแวดล้อม โดยภาษีสิ่งแวดล้อมนี้จะรวมไปถึงสินค้าที่กระทบต่อสุขภาพประชาชนด้วย

โดยให้ระยะเวลาแก่ผู้ประกอบการเพื่อการปรับตัวเป็นระยะเวลา 5 ปี ถ้าผู้ประกอบการสามารถลดปริมาณไขมันและความเค็มตามที่กำหนดได้ จะมีการปรับลดอัตราภาษีให้ แต่หากไม่สามารถทำได้ จะเก็บอัตราภาษีตามที่กำหนดไว้

โดยอธิบดีกรมสรรพสามิตระบุว่า การเก็บ "ภาษีไขมันและความเค็ม" นั้นเป็นไปเพื่อสุขภาพของคนในชาติ และเพื่อช่วยรัฐลดงบประมาณในการรักษาสุขภาพ การรักษาโรคไตที่เกิดจากการกินเค็ม ต้องเสียเงินปีละหลายหมื่นล้านในการรักษาพยาบาล ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลถังแตกอย่างที่มีการวิจารณ์แต่อย่างใด

“เรื่องสุขภาพของคนในชาติก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่หวังจะช่วยลดภาระงบประมาณด้านค่ารักษาพยาบาลลงในอนาคต แต่ต้องย้ำว่า เรื่องเหล่านี้ยังอยู่ในขั้นการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นกรณีอาหารที่มีความมัน หรือไขมันทรานส์ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต หรือเรื่องความเค็มที่ทำให้เกิดโรคไต ก็ต้องใช้งบประมาณหลายหมื่นล้านบาทในการรักษาแต่ละปี

ทั้งหมดนี้ ทางกรมสรรพสามิตต้องการปรับตัวเองจากที่ถูกมองว่าเก็บแต่ภาษีบาป ไปสู่การส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้คนไทยมากขึ้น ไม่ใช่รัฐบาลถังแตก ไม่เกี่ยวเลย” นายพชรกล่าว

กรณีการขึ้นภาษีไขมันนั้น นาย Richard Tiffin ผู้อำนวยการศูนย์ความมั่นคงด้านอาหารแห่ง University of Reading เคยให้ความเห็นไว้เรื่องที่มีการประมาณการในปี 2030 ว่า โรคอ้วนจะทำให้อังกฤษมีต้นทุนกับการแบกรับภาระโรคดังกล่าวราว 2 พันล้านปอนด์

นาย Richard และนาย Matthew Salois ได้ให้ความเห็นไว้ว่า "การขึ้นภาษีเช่นนี้ดูเหมือนจะมุ่งเป้าไปที่คนจำพวกที่มีการควบคุมอาหารที่ย่ำแย่ ซึ่งคนพวกนี้มีแนวโน้มจะเป็นคนยากจน ในความเป็นจริง มันอาจจะส่งผลเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยต่อพฤติกรรมควบคุมอาหารของพวกเขา แต่มันจะส่งผลต่อด้านการเงินต่อพวกเขาที่สูงขึ้นอย่างแน่นอน"

นโยบายเช่นนี้นอกจากจะไม่ช่วยทำให้เศรฐกิจ สังคม และสุขภาพดีขึ้นแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อคนจนอย่างมากด้วย การเพิ่มภาษีโดยมีเป้าหมายพุ่งไปที่เรื่องอาหารที่เป็นอาหารที่ไม่ส่งเสริมให้สุขภาพดี จะส่งผลเสียยิ่งขึ้น เพราะการบริโภคอาหารที่ไม่ได้ส่งเสริมให้คนสุขภาพดีขึ้นส่งผลโดยตรงต่อครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ

ขณะที่งานศึกษาจาก Deakin University ก็เผยให้เห็นว่า รายจ่ายต่อหัวสำหรับภาษีเครื่องดื่มหรือของหวานทั้งหลายนั้นส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนที่ยากจนมากกว่ากลุ่มคนที่ร่ำรวยมั่งคั่ง

ที่มา :

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
ไทยรัฐ
มติชน
LSE
BBC
The Guardian
ขอบคุณภาพอธิบดีกรมสรรพสามิตจากมติชน

ติดตามความรู้เรื่องการเงินการลงทุนจาก aomMONEY

Website : www.aomMONEY.com

Youtube : https://www.youtube.com/AommoneyTH

กลุ่มกองทุนไหนดี : https://www.facebook.com/groups/SelectedFund/

ทีมกองบรรณาธิการ aomMONEY