มนุษย์เงินเดือน ที่ยื่นภาษีประจำปี 2561 มีประเด็นอะไรแบบไหนที่ควรรู้บ้าง?

สำหรับการยื่นภาษีปี 2561 ที่กำลังเข้มข้นอยู่ตอนนี้ มีคำถามเข้ามาทางเพจ TAXBugnoms เยอะมากครับ โดยเฉพาะเรื่องการยื่นภาษีของมนุษย์เงินเดือนที่มากมายหลายประเภท พรี่หนอมเลยสรุปประเด็นสำคัญไว้ในบทความนี้อีกทีครับผม

อย่าลืมนะครับว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการยื่นภาษีของมนุษย์เงินเดือน คือ เรื่องหลักฐานการมีเงินได้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าเริ่มต้นถูกตั้งแต่ตรงนี้ก็สบายใจได้ล่วงหน้าเลยล่ะครับ

1. สำหรับกรณีมนุษย์เงินเดือนทั่วไป

ควรได้รับหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายของปี 2561 ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 ครับ เพราะเป็นหน้าที่ของนายจ้างที่ต้องทำเรื่องนี้ให้กับเรา ถ้าใครยังไม่ได้รีบตามเอกสารมาด่วนๆเลยครับ

ถ้าได้เอกสารหัก ณ ที่จ่ายใบนี้มา เราจะได้ข้อมูลทั้งรายได้แล ะค่าลดหย่อนหลายตัวมาพร้อมๆกัน นั่นคือ เงินได้ทั้งปี (รวมถึงยอดภาษีที่ถูกหักไว้ ด้วย) กับ เงินประกันสังคมที่นำส่ง (สูงสุด 9,000 บาท) และเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชี พที่ในปีนั้นถูกหักไว้นั่นเองครับผม ซึ่งตรงนี้แปลว่าเราสามารถนำข้อมูลเบื้องต้นเหล่านี้ไปยื่นภาษีได้ส่วนนึงละ ที่เหลือก็ค่อยมาเช็คกันต่อว่าต้องมีหลักฐานเอกสารอะไรบ้าง?

สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่ไม่เคยยื่นภาษี หรือ ยื่นไม่ค่อยเป็น เพราะมีคนช่วยยื่นตลอด พรี่หนอมแนะนำคลิปสอนยื่นภาษีคลิปนี้เลยครับ ลองดูหลักการคำนวณภาษีแล้วค่อยๆทำตาม รับรองชีวิตสบายขึ้นมากเลยครับผม

https://youtube.com/watch?v=PKNDDyqMj5w%3Fwmode%3Dopaque

2. สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่เปลี่ยนงานใหม่ หรือลาออกจากงานระหว่างปี 2561

กลุ่มนี้แนะนำให้นำรายได้ทั้งหมดที่ได้ในปี 2561 เอามารวมกันยื่นภาษีครับ อย่างงว่ายื่นเฉพาะที่เก่าหรือที่ใหม่ เอาเป็นว่ามีที่ไหนก็ยื่นให้หมดครับ

สมมติว่า นายบักหนอมมีรายได้จากที่ทำงานเก่าในช่วงต้นปี 2561 อยู่ 200,000 บาท และย้ายงานใหม่มาอีกที่หนึ่งช่วงกลางปีถึงสิ้นปี โดยมีรายได้อยู่ 500,000 บาท แบบนี้นายบักหนอมก็ะต้องยื่นรายได้ทั้งปี คือ 700,000 บาทนั่นเองครับ

ถึงแม้ว่าเราจะเอารายได้ทั้งสองที่ (หรือมากกว่า) มารวมกัน แต่ตรงช่อง เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงินได้จะมีช่องเดียว ดังนั้นเวลากรอกในช่องนี้ ให้กรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของบริษัทที่จ่ายเงินให้เรามากที่สุดครับ

ถ้ามีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือน เช่น รับงานฟรีแลนซ์ เปิดธุรกิจ ขายของออนไลน์ ทั้งหมดนี้ให้เอามายื่นภาษีทั้งหมดจ้า แต่สิ่งที่ต้องรู้คือเรามีรายได้ประเภทไหนใน 8 ประเภทบ้าง แยกออกมาให้ดี เพื่อที่จะได้คำนวณหักค่าใช้จ่ายให้ถูกต้องครับ

3. กรณีมีปัญหาออกจากงานแล้วได้เงินชดเชยต่างๆ ให้เช็คดีๆก่อนว่าเงินก้อนนี้ได้รับยกเว้นภาษีแบบไหนบ้าง หรือเป็นเงินประเภทไหนที่นายจ้างจ่ายให้กับเรา

เช่น เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานที่ได้รับยกเว้นตามระยะเวลาการทำงานสูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท โดยส่วนที่เกินเงินชดเชยในส่วนนี้ต้องเอามาคำนวณภาษีด้วยนะครับไม่งั้นจะผิดได้ ยิ่งกว่านั้น ถ้าใครได้เงินแบบพิเศษที่ไม่ใช่ชดเชย เช่นเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินที่จ่ายให้นอกเหนือจากการนี้ พรี่หนอมบอกเลยว่าต้องเอามาคำนวณภาษีทั้งหมดจ้า โดยมีหลักการพิจารณาดังนี้

1. กลุ่มแรก เงินก้อนใหญ่เห็นแล้วตกใจ

เช่น เงินชดเชย บำเหน็จ (หรือลักษณะเดียวกับบำเหน็จ ) และเงินอื่นๆที่นายจ้างจ่าย ให้เราไปจากชีวิตเขา กลุ่มนี้ให้เช็คก่อนว่า เงินชดเชยแรงงานเนี่ยมันได้ รับสิทธิยกเว้นภาษีตามกฎหมายหรือเปล่า ถ้าได้ก็เอาเฉพาะส่วนที่ไม่ได้รับยกเว้นมาเสียภาษี

ถามว่าจะรู้ได้ยังไงว่าต้อง เสียภาษีกี่บาท คำตอบคือ ดูใบหักภาษี ณ ที่จ่ายครับ มันมีบอกหมดว่าเรามีเงินได้ กี่บาทแล้วถูกหักภาษีไว้กี่บาท มันจะช่วยตอบปัญที่ยุ่งยากของเราให้ง่ายขึ้น

2. กลุ่มสอง เงินกองทุนต่างๆ

สำรองเลี้ยงชีพ กบข. เงินกลุ่มนี้จะได้แยกต่างหากออกมา (ถ้าเราเลือกเอาเงินออกจากกองทุน) ซึ่งตัวเลขที่จะเอามาเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีนั้น คือ ส่วนที่นายจ้างสมทบ + ผลประโยชน์จากการลงทุน

ถามว่าจะรู้ได้ยังไงว่าต้อง เสียภาษีกี่บาท คำตอบคือ ดูใบหักภาษี ณ ที่จ่าย (อีกแล้ว) ครับ มันมีบอกหมดว่าเรามีเงินได้ กี่บาทแล้วถูกหักภาษีไว้กี่บาท (ซ้ำกับข้อเมื่อกี้เป๊ะเลย)

ป.ล. ขอบอกไว้หน่อยนะครับว่ากรณีออกจากงานเมื่ออายุเกิน  55 ปี ไม่ต้องเสียภาษีกรณีเงินได้ จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนะครับผม เพราะกฎหมายยกเว้นให้ฟรีๆเลยครับ

แต่ข้อดีของกลุ่มที่ 2 นี้ก็คือ ไอ้เงินที่เราสะสมเข้ากองทุนในปีนั้น ยังใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้อยู่นะ เพราะมันถือเป็นเงินของเราที่จ่ายเข้ากองทุนและได้สิทธิตามกฎหมาย บางคนชอบงงๆ ไม่เอามารวมคิดจ้า บอกเลยว่าอันนี้เสียประโยชน์กันไปฟรีๆ เลยครับผม

แต่กลุ่มนี้ก็มีข้อดีกว่ากลุ่มแรก นั่นคือ จะได้รับสิทธิพิเศษเลือกเสียภาษีต่างหากได้ ถ้าหากทำงานมาตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป สามารถใช้สิทธิแยกคำนวณภาษี ออกมาได้เลยนะ (ซึ่งถ้าลองคำนวณแล้วพบว่าแยกคำนวณคุ้มกว่าก็ควรแยก - กรณีคนที่มีรายได้เยอะๆ ) แต่ถ้าทำงานไม่เกิน 5 ปี อันนี้ต้องรวมคำนวณเหมือนเป็นเงินเดือนตามประเด็นแรกปกติเลยจ้า

หลักการทั้งหมดที่ว่ามาตั้งแต่แรก พรี่หนอมแนะนำให้ลองดูในรูปนี้เพิ่มเติม น่าจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นนะครับ สำหรับกรณีของการออกจากงานแล้วได้เงินชดเชยทั้งหมดครับ

https://www.facebook.com/plugins/post.php?href=https%3A%2F%2Fwww.facebook.com%2FTaxBugnoms%2Fphotos%2Fa.192327474126010%2F2991797204179009%2F%3Ftype%3D3&width=500

ถ้าหากอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว รู้สึกว่ามันน่าจะเป็นเรื่องยาก ออกจากงานทั้งทีจะยื่นภาษียังไง ผมแนะนำให้ลองดูและฟังเป็นคลิปดูครับ (คิดว่าช่วยได้) โดยทั้งสอนหลักการในการจัดการ และวางแผนยื่นภาษีได้อย่างถูกต้องตามหลักการของกฎหมาย พร้อมทั้งกรอกแบบให้ดูเป็นตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงในการทำงานของผมเองครับ

https://www.youtube.com/embed/4DHNJDvFqhE?wmode=opaque

เรื่องราวทั้งหมดก็มีประมาณนี้... สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่ต้องการยื่นภาษี แต่พรี่หนอมอยากจะแนะนำอีกนิดว่า ปีที่แล้วผ่านไป เราน่าจะเอาประสบการณ์ปีใหม่มาใช้กันต่อได้เลย (ถ้าเรายังเป็นมนุษย์เงินเดือนอยู่) นั่นคือปี 2562 นี้ลองวางแผนภาษีประจำปีแล้วแจ้งทางฝ่ายบุคคลไว้ล่วงหน้าได้เลยครับ โดยวิธีการกรอกฟอร์ม ลย.01 เพื่อวางแผนว่าปีนี้จะต้องถูกหักภาษีเท่าไร วางแผนยังไงดี งานนี้ถือเป็นการตั้งเป้าหมายปีใหม่ไปในตัวพร้อมๆกันครับผม

แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อๆไปครับ :)