พี่ว่าช่วงหลังคน Gen Y, Gen Z นิยมใช้ชีวิตที่มีไลฟ์สไตล์กันมากขึ้นนะ อย่างพี่เองก็เป็นแนวชอบของกิน ชอบรีวิวห้องอาหาร โดยเฉพาะพวกบุฟเฟต์นานาชาติ ส่วนเพื่อนบางคนก็ชอบไปพักผ่อนตามโรงแรมและสถานที่เที่ยวต่างๆ บางทีเราก็สงสัยไงว่าใครเป็นเจ้าของ บริษัทไหนเป็นผู้ดำเนินกิจการ

บางทีเราก็เซอร์ไพรส์ดีนะเมื่อรู้ว่าหลายๆ แบรนด์ที่เราไปใช้บริการบ่อยๆ ที่อยู่ในระดับ Midscale ขึ้นไป เช่น โรงแรม ฮิลตัน สุขุมวิท ดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ ดิ แอทธินี โฮเทล กรุงเทพฯ และสถานที่เที่ยวชื่อดังอย่าง เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ดำเนินการภายใต้บริษัทเดียวกันคือ Asset World Corporation หรือ AWC ซึ่งบริษัทนี้อยู่ในเครือ TCC Group ของคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี โดยกลุ่มบริษัทนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการบริหารอสังหาริมทรัพย์และมีความน่าเชื่อถือสูงมาก

Asset World Corporation (AWC) มีโครงสร้างธุรกิจยังไง?

ถ้าเราเข้าไปดูในเว็บไซต์ของทางบริษัทฯ เขาจะแบ่งกลุ่มธุรกิจเป็น 3 ส่วนหลักคือ

1. Hospitality

ถือเป็นธุรกิจของ AWC ที่ร่วมมือกับแบรนด์โรงแรมระดับโลกเพื่อการบริหารในประเทศไทย เช่น Marriott , Hilton , Banyan Tree , Melia , Okura เป็นต้น ซึ่งถือเป็นแบรนด์โรงแรมในระดับ Midscale ขึ้นไป โดยมีการขยายโครงการไปทั้งในพื้นที่ของกรุงเทพฯ และแหล่งท่องเที่ยวในต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน AWC มีแบรนด์โรงแรมระดับโลกทั้งหมด 6 แบรนด์ รวมแล้วมีโรงแรม 14 แห่ง เป็นจำนวนห้องมากถึง 4,421 ห้อง และในอนาคต AWC กำลังจะกลายเป็นผู้ให้บริการโรงแรม ในระดับ Midscale ขึ้นไปรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

2. Retail and Wholesale

เป็นส่วนของธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง ตามไลฟ์สไตล์ของเราเลย หลักๆ ที่เราน่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดีคือ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ที่ชาวต่างชาติชอบมาเที่ยว เดินซื้อของ นั่งชิงช้าสวรรค์ ตรงนี้ถือว่าเป็นหนึ่งใน Landmark สำคัญในการท่องเที่ยวของกรุงเทพฯ เลย อย่างนักท่องเที่ยวมากันเยอะมาก ที่นี่หลายคนชอบเพราะมีร้านค้าหลากหลายให้เราได้เลือกซื้อของ

ถ้าใครชอบไปเที่ยวแบบเลือกซื้อของตามร้านที่เรียงกันเยอะๆ AWC ก็มีตลาดนัดแบบ Community Mall อีกที่คือ ตะวันนา บางกะปิ ตรงใกล้ๆ เดอะมอลล์บางกะปินะครับ สามารถแวะซื้อเสื้อผ้า เครื่องสำอาง และของกินตามร้านต่างๆ ได้อย่างสนุกเลย

นอกจากนี้ก็ยังมีห้างด้วยนะ ของ AWC หลักๆ ก็มี Gateway ซึ่งตอนนี้มีสาขาบางซื่อและเอกมัย พี่เองก็ใช้บริการสาขาเอกมัยบ่อย สะดวกดีนะ ลง BTS แล้วก็เดินเข้าห้างเลย ส่วนใหญ่ก็นัดเพื่อนไปกินข้าว อาหารญี่ปุ่นกันช่วงหลังเลิกงาน

อีก 2 ที่ที่หลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้จัก ที่แรกคือ ลาซาล อเวนิว อยู่แถวบางนาที่จะเป็นแหล่งไลฟ์สไตล์ชิคๆ มีทั้งร้านค้า ร้านกาแฟชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็น Starbucks, Uniqlo, Villa Market, KFC และร้านของคนท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นร้านทำผม ร้านขายยา และมีสนามเด็กเล่นให้ได้พักผ่อนด้วย และอีกที่คือ AEC Trade Center ซึ่งอยู่ในระหว่างการพัฒนาและเตรียมความพร้อม ซึ่งจะเป็นศูนย์การค้าส่งระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการ (B2B) ในระดับภูมิภาคที่ดำเนินธุรกิจอย่างครบวงจรให้นักธุรกิจได้ต่อยอดกิจการไปยังประเทศต่างๆ ได้

ธุรกิจกลุ่มนี้ หรือที่รู้จักกันในนามธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้าจะมีทั้งสิ้น 9 โครงการ มีพื้นที่เช่าสุทธิรวมกันมากกว่า 360,000 ตร.ม.

3. Office

อีกหนึ่งธุรกิจของ AWC คือการเป็นเจ้าของธุรกิจอาคารสำนักงานในพื้นที่ใจกลางเมืองของกรุงเทพมหานคร อย่าง ตึกเอ็มไพร์ ทาวเวอร์  ย่านสาทร-ช่องนนทรี อาคารแอทธินี ทาวเวอร์ และ 208 วายเลสโร้ด ย่านเพลินจิต ซึ่งมีจุดเด่นคือเป็นอาคาร Mixed – Use และอาคาร อินเตอร์ลิงค์ ทาวเวอร์ ย่านบางนา ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงการเข้าออกสู่พื้นที่ EEC ได้ในอนาคต

อาคารสำนักงานของ AWC นั้นมีจุดเด่นร่วมกันที่ชัดเจนคือ พื้นที่ทำเลย่านใจกลางเมือง เช่น สาทร ช่องนนทรี และเพลินจิต ซึ่งตอบโจทย์กลุ่มเจ้าของกิจการที่มองหาสถานที่ประกอบการ อีกทั้งยังคัดเลือกคัดสรรพันธมิตรทางธุรกิจที่หลากหลาย เพื่อนำเสนอบริการหรือสินค้าที่เติมเต็มความต้องการและไลฟ์สไตล์คนเมืองได้อย่างดี นอกจากนี้ยังมีย่านบางนา พื้นที่ชานเมืองซึ่งเป็นจุดเชื่อมออกไปสู่โซนอุตสาหกรรมภาคตะวันออก จากภาพรวมทั้งหมด AWC มีพื้นที่เช่าสุทธิรวมทั้งหมดมากถึง 270,594 ตร.ม. และเป็นเจ้าของอาคารสำนักงานที่มีพื้นที่เช่าสูงที่สุดในกรุงเทพฯ

นอกจากนี้ยังมีอาคาร อินเตอร์ลิงค์ ทาวเวอร์ ที่อยู่ย่านบางนา เหมาะสำหรับผู้เช่าสำนักงานที่ใกล้กับโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ซึ่งในอนาคตจะเชื่อมโยงกับ EEC ได้ด้วยครับ

เห็น 3 กลุ่มธุรกิจนี้แล้วคงเห็นความแข็งแกร่งของ AWC กันเลยใช่ไหมครับ นอกจากจะเป็นเจ้าของโรงแรมรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยแล้ว ยังเป็นเจ้าของแลนด์มาร์คกลุ่มกิจการการค้า มีอาคารสำนักงาน Flagship เกรด A+ อาคารแนวไลฟ์สไตล์แบบ Mixed-Use ที่อยู่ในทำเลทองที่เป็น CBD ของประเทศไทย และมีโครงการ ห้างค้าปลีกที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย รวมถึงเป็นปลายทางของนักท่องเที่ยวแนวไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็นคอมมูนิตี้ ช้อปปิงมอลล์ และ คอมมูนิตี้ มาร์เก็ต

ผมว่าจริงๆ แล้วชื่อแบรนด์และโครงการต่างๆ นั้น เราคงคุ้นหูกันมากกว่า 80% ยิ่งใครที่ใช้ชีวิตและมีไลฟ์สไตล์คนเมืองยิ่งคุ้นเคยกันเลย ทั้งหมดนี้ก็อยู่ในเครือของ AWC ทั้งหมดเลยนะครับ

ส่องรายได้ของ AWC กันว่าเป็นอย่างไร?

จากเอกสารข้อมูล Filing ของบริษัทฯ นะครับ เขาแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มโรงแรมและกลุ่มพาณิชยกรรมที่รวมกันระหว่างร้านค้าปลีก ค้าส่ง และอาคารสำนักงาน ถ้าเราสังเกตรายได้ของทั้ง 2 กลุ่มตั้งแต่ปี 2559 ถึง 2561 จะเห็นได้ว่ารายได้รวมนั้นโตขึ้น แต่รายได้ในกลุ่มของโรงแรมจะโตกว่าในกลุ่มของพาณิชกรรม

ในปี 2559 รายได้อยู่ที่ 8,989.55 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนรายได้กลุ่มโรงแรม 51.80% พาณิชยกรรม 48.20% 

ในปี 2560 รายได้อยู่ที่ 10,456.42 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนรายได้กลุ่มโรงแรม 57.78% พาณิชยกรรม 42.22% 

ในปี 2561 รายได้อยู่ที่ 10,998.64 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนรายได้กลุ่มโรงแรม 60.76% พาณิชยกรรม 39.24%

ศักยภาพในอนาคตของ AWC

ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจ AWC เติบโตจะมาจาก 3 ส่วนนะครับ ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยว ภาคบริการ และภาคการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งประเทศไทยเองนั้นก็มีจุดเด่นของอุตสาหกรรมทั้ง 3 ส่วนนี้อยู่แล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวเราก็เพิ่มอยู่ตลอด

จากสถิติของกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา จำนวนนักท่องเที่ยว 4 ปีย้อนหลังมีดังนี้ครับ

ในปี 2561 เรามีจำนวนนักท่องเที่ยว 38.3 ล้านคน

ในปี 2560 เรามีจำนวนนักท่องเที่ยว 35.4 ล้านคน

ในปี 2559 เรามีจำนวนนักท่องเที่ยว 32.6 ล้านคน

ในปี 2558 เรามีจำนวนนักท่องเที่ยว 29.9 ล้านคน

และตามข้อมูลของ Jones Lang Lasalle (JLL) นั้น อัตราการเติบโต CAGR 10 ปีย้อนหลังอยู่ที่ 10.1%

ในส่วนของอสังหาริมทรัพย์ที่มีรายได้จากการให้เช่าทั้งเพื่อการค้าส่ง ค้าปลีก รวมไปถึงการเช่าอาคารสำนักงานนั้นก็ได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ในปัจจุบันประเทศไทยเองก็กำลังมีการพัฒนาในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม ทั้งสนามบินและรถไฟ และเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ทำให้กรุงเทพ มีความสามารถในการแข่งขันและกลายเป็นจุดศูนย์กลางของธุรกิจทั้งในไทยและอาเซียน ซึ่งจะส่งผลต่อการเช่าพื้นที่การค้าและสำนักงาน โดยเฉพาะย่านที่สำคัญในอนาคต

จะเห็นได้ว่าการเติบโตนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เทรนด์ดังกล่าวจึงทำให้ AWC มีโอกาสที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องได้ เพราะเป็นทั้งเจ้าของและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำที่มุ่งเน้นการลงทุนในประเทศไทย ทรัพย์สินที่มีอยู่ก็เป็นที่รู้จักอยู่ใน Prime Location แหล่งธุรกิจ CBD ซึ่งมีประชากรหนาแน่น และหลายที่ก็เป็นแลนด์มาร์คสำคัญของประเทศ แน่นอนว่าทรัพย์สินของบริษัทฯ นั้น กว่า 90% บริษัทฯ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ (Freehold) เมื่อเวลาผ่านไปราคาทรัพย์สินของบริษัท แต่ละแห่งก็จะปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ได้

โครงการในอนาคตของ AWC ก็มีอีกเยอะนะครับ จากข้อมูล Filing ของบริษัทฯ คาดการณ์เอาไว้ว่าภายในสิ้นปี 2562 อสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์จะมีพื้นที่เช่าสุทธิ 436,922 ตารางเมตร และโรงแรมมีห้องพักรวม 4,432 ห้อง และจากการคาดการณ์ของโครงการที่พัฒนาอยู่ทั้งหมด ในปี 2568 จะมีพื้นที่ให้เช่าเพื่อการพาณิชย์ถึง 686,075 ตารางเมตร และห้องพักประมาณ 8,506 ห้อง ซึ่งถ้าเทียบกับปัจจุบันแล้วก็ถือว่าเพิ่มกันเป็นเท่าตัวเลยทีเดียว

ข้อได้เปรียบที่สำคัญอย่างหนึ่งของบริษัทเลยก็คือ การเป็นส่วนหนึ่งของ TCC Group ที่มีที่ดินทั่วประเทศ AWC จึงเข้าทำสัญญาให้สิทธิ์ (Right of First Offer and Right of First Refusal Agreement) กับทางผู้ถือหุ้นใหญ่ ในการได้ที่ดิน/อสังหาริมทรัพย์ในทำเลที่สำคัญของประเทศก่อนใคร เพื่อนำอสังหาริมทรัพย์มาพัฒนาเพื่อการพาณิชย์ และมีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธโครงการต่างๆ ก่อนจะถูกเสนอไปที่อื่นๆ ในภายหลังได้

นอกจากนี้ ยังสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและทรัพยากรบุคคลโดยใช้ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทในเครือเพื่อสร้างประโยชน์ทางธุรกิจได้อย่างสูงสุด เช่น การสร้าง Economy of Scale ของเครือ TCC Group ในการต่อรองกับคู่ค้าต่างๆ ได้ด้วย ความพิเศษนี้จึงกลายเป็นสิ่งที่ AWC ได้เปรียบกว่าบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายอื่นๆ และแน่นอนครับว่าบริษัทนี้มีทีมงานผู้บริหารซึ่งมีประสบการณ์ และความรู้ความชำนาญในธุรกิจโดยตรง ประสบการณ์ในวงการอสังหาริมทรัพย์กว่า 20 ปีก็เป็นอีกจุดแข็งหนึ่งของบริษัทครับ

IPO ครั้งแรกของ AWC

ทั้งนี้ AWC มีแผนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต และเพื่อเพิ่มมูลค่าของเงินทุนในระยะยาว AWC เตรียมเปิดให้นักลงทุนจองซื้อหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ระหว่างวันที่ 25-27 กันยายนนี้ ภายใต้ชื่อย่อ “AWC” จำนวนไม่เกิน  8,000 ล้านหุ้น ที่ราคาเสนอขาย 6.00 บาทต่อหุ้น

แบ่งเป็น หุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 6,957 ล้านหุ้น คิดเป็นไม่เกิน 22.47% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้ และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Overallotment Option หรือ Greenshoe) จำนวนไม่เกิน 1,043 ล้านหุ้น

โดยนำเงินที่ได้รับจากการจัดสรรหุ้นส่วนเกินไปใช้ในกลไกการรักษาระดับราคาหุ้น (Stabilization) เสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนเกี่ยวกับเสถียรภาพของราคาหุ้นในช่วง 30 วันแรกหลังเข้าจดทะเบียนซื้อขาย

โดยมี บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย และมีผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย คือ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท หลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท หลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดจองซื้อหุ้นสามัญให้แก่นักลงทุนประเภทบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ในวันที่ 25-27 ก.ย. 62 และผู้ลงทุนสถาบัน (รวมถึงผู้ซื้อหุ้นเบื้องต้นในต่างประเทศ และผู้จัดการการจัดจำหน่ายร่วมในต่างประเทศ) ในวันที่ 1-3 ต.ค.62 ที่ราคา 6.00 บาทต่อหุ้น โดยคาดว่าหุ้นสามัญของบริษัทจะสามารถเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ในช่วงต้นเดือน ต.ค.62

ทั้งนี้ AWC มีการลงนามในสัญญา Cornerstone Placing Agreement กับนักลงทุนสถาบันรวมทั้งสิ้น 13 แห่ง ได้แก่ บลจ.บัวหลวง บลจ.เอ็มเอฟซี บลจ.กสิกรไทย บลจ.ไทยพาณิชย์ บลจ.ทิสโก้ บลจ.กรุงไทย บลจ.วรรณ บลจ.ธนชาต  บลจ.อเบอร์ดีน สแตนดาร์ด (ประเทศไทย) บมจ.เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต GIC Private Limited, Maitri Asset Management และ Affin Hwang Asset Management Berhad โดยนักลงทุนที่ลงนามในสัญญาดังกล่าว จะซื้อหุ้นจำนวนรวม 3,454,000,000 หุ้น หรือประมาณร้อยละ 50 ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายในครั้งนี้ (ไม่รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน)

AWC มีจุดประสงค์ในการระดมทุนเพื่อ 

  • ใช้เป็นเงินทุนในการเข้าซื้อกิจการที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินกลุ่ม 3 ซึ่งจะเป็นโครงการใหม่ ๆ ที่เข้ามาเสริมในพอร์ตโฟลิโอของ AWC หลังไอพีโอ
  • ใช้ในการลงทุนพัฒนา และ/หรือปรับปรุงทรัพย์สินของบริษัทฯ และ/หรือ บริษัทย่อย เพื่อสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนให้กับบริษัทและผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น 
  • นอกจากนี้บางส่วนจะใช้ในการชำระคืนเงินกู้ยืมให้กับธนาคาร และ/หรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกโดยบริษัท และ/หรือบริษัทย่อย

โดยสรุปเราคงได้เห็นภาพของ Asset World Corporation กันมากขึ้นนะครับว่าเป็นส่วนหนึ่งของ TCC Group ที่ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงแรม พื้นที่ให้เช่าเพื่อการค้า และสำนักงานที่อยู่ในพื้นที่ทำเลทอง มีศักยภาพในการเติบโตมากจากเทรนด์การเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุน งบการเงินก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากการขยายตัวและการเติบโตของธุรกิจ มีความได้เปรียบในการแข่งขันในหลายๆ ด้านจากความสัมพันธ์กับทางเครือ TCC Group มีทีมงานผู้บริหารที่มีประสบการณ์ พร้อมที่จะพัฒนาให้บริษัทไปสู่เป้าหมายการเติบโตในอนาคตด้วยครับ

สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริษัท AWC ได้ที่ https://investor.assetworldcorp-th.com/

บทความนี้เป็น Advertorial