เฮ้ย!! นายอยากวางแผนภาษีใช่ไหม ว่าแต่คำนวณภาษีตัวเองเป็นหรือยังล่า

สวัสดีครับ กลับมาพบกันอีกครั้งผม TAXBugnoms กับบทความเรื่องภาษีใน Aommoney.com ที่เก่าเวลาเดิมเพิ่มเติมอาทิตย์ละครั้ง วันนี้ผมขออนุญาตชวนเพื่อนๆพี่ๆน้องทุกท่านที่กำลังเตรียมตัวยื่นแบบแสดงรายการภาษี มารู้จักกับวิธีการคำนวณภาษีที่ถูกต้องกันดีกว่าครับ 

หนึ่งปัญหาที่ผมพบบ่อยๆ สำหรับคนที่วางแผนภาษีหรือต้องการวางแผนภาษี นั่นคือ ปัญหาในการคำนวณภาษีของตัวเองครับ ซึ่งคนส่วนใหญ่สนใจเรื่องการวางแผนภาษีกันเป็นหลัก เฮ้ย ชั้นอยากจะประหยัดภาษี ต้องซื้อ LTF RMF กันเท่าไร และทำยังไงไม่ต้องจ่ายให้พี่ๆสรรพากรเยอะที่สุด นี่แน่ะๆๆๆ มาเลยๆๆๆๆ ขอไวๆๆ ด่วนๆๆๆ ตอนนี้ (เอ่อ..เดี๋ยวผมขอตัววางถุงกาวลงก่อนนะครับ)

วันนี้ผมเลยขอนำกรณีศึกษาของแฟนเพจ TAXBugnoms ท่านหนึ่งที่สอบถามมาทางหลังไมค์มาเล่าสู่กันฟังครับ เผื่อว่าจะได้เข้าใจหลักการการคำนวณภาษีกันมากขึ้น เอาล่ะครับ เรามาดูกันเลยดีกว่าว่าปัญหานั้นมันเป็นอย่างไรบ้าง

สวัสดีค่ะ.. ตามเพจมานานมีข้อสงสัยรบกวนสอบถามนะคะ หนูเป็นพนักงานประจำยื่นภาษีแล้วได้คืนมา แต่ไม่มั่นใจว่าที่ได้คืนมานั้นมันคำนวณให้เรายังไง ข้อมูลเป็นดังนี้ค่ะ

ปี 2558 เป็นคนโสดมีรายได้ทั้งปีที่ 436,000 บาท โดยหักภาษีไว้ 9,063.63 บาท และมีรายการค่าลดหย่อนดังต่อไปนี้

1. ประกันชีวิตตัวเองจำนวน 12,700 บาท
2. LTF จำนวน 28,000 บาท
3. ประกันสังคมจำนวน 9,000 บาท
4. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 8,860.30 บาท
5. ซื้อของช่วงก่อนปีใหม่ 687 บาท

โอเคครับ จากข้อมูลที่ให้มา เรามาไล่ขั้นตอนการคำนวณภาษีกันทีละขั้นดีกว่าครับครับ เริ่มจากรายได้ก่อน เนื่องจากเป็นพนักงานประจำและได้รับเงินเดือนทั้งปีจำนวน 436,000 บาท ซึ่งตรงนี้จะถือเป็นเงินได้ประเภทที่  1 ครับ

เมื่อรู้ประเภทเงินได้แล้ว สิ่งที่ตามมาคือ "ค่าใช้จ่าย" ซึ่งเงินได้ประเภทที่ 1 กฎหมายกำหนดให้หักค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 40% ของเงินได้และสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท จากกรณีนี้ จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้สูงสุด 60,000 บาทนั่นเองครับ

ต่อมาสุดท้าย คือ รายการค่าลดหย่อน จากข้อมูลที่ให้มานั้นพบว่าไม่ได้ใช้สิทธิเกินสิทธิที่กฎหมายกำหนดแต่อย่างไรครับ เรามาดูทีละอันไล่ไปเลยนะครับว่ามีอะไรบ้าง

1. ค่าลดหย่อนแรกที่ได้ คือ ค่าลดหย่อนส่วนตัวสำหรับผู้มีรายได้ครับ ซึ่งเท่ากับ 30,000 บาทตรงนี่ใครมีรายได้ก็สามารถใช้สิทธิได้ทุกคนครับ

2. ประกันชีวิตสามารถใช้สิทธิได้เต็มจำนวน 12,700 บาทครับ เพราะกฎหมายกำหนดไว้ให้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

3. LTF สามารถใช้สิทธิได้เต็มจำนวนเช่นเดียวกันครับ 28,000 บาท เพราะกฎหมายกำหนดไว้ให้สูงสุดคือ 15% ของเงินได้ไม่เกิน 500,000 บาท ลองคำนวณดูพบว่าใช้สิทธิได้สูงสุดถึง 65,400 บาทครับ (436,000 x 15%)

4. ประกันสังคมสามารถใช้ได้เต็มสิทธิคือ 9,000 บาท เท่ากับที่กฎหมายกำหนดพอดีครับ

5. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพใช้ได้เต็มจำนวนเช่นเดียวกันคือ 8,860.30 บาท เพราะกฎหมายกำหนดไว้ให้สูงสุดคือ 500,000 บาทครับ (เมื่อรวมกับประกันแบบบำนาญและ RMF)

6. ซื้อของก่อนช่วงปีใหม่ อันนี้น่าจะเป็นเรื่องค่าลดหย่อนชอปปิ้งครับ ส่วนนี้สามารถนำมาใช้คำนวณได้สูงสุด 15,000 บาท แต่ซื้อ 687 บาทก็สามารถใช้ได้ 687 บาทครับ

รวมรายการค่าลดหย่อนทั้งหมดตั้งแต่ 1-6 ออกมาเป็น 89,247.30 บาท

หลังจากนั้นเรามาลองคำนวณภาษีกันเลยครับ ซึ่งสูตรการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ

(เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน)  x อัตราภาษี

เอาตัวเลขไปแทนค่าทันที จะได้
(436,000 – 60,000 – 89,247.30)  

เงินได้สุทธิจำนวน 286,752.70 บาท

หลังจากนั้นนำเงินได้สุทธิไปคำนวณภาษีตามขั้น
(150,000 x 0) + (136,752.70 x 5%)

ภาษีที่ต้องเสีย = 6,837.64 บาท

แต่เนื่องจากเรามีภาษีที่ถูกหักไว้แล้วจำนวน 9,063.63 บาท
ดังนั้นเราสามารถขอคืนภาษีจำนวน 9,063.63 – 6,837.64 = 2,225.99 บาทครับผม

เห็นไหมครับว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการวางแผนภาษีคือการเริ่มต้นคำนวณภาษี ซึ่งตรงนี้ถ้าอยากจะขอคืนภาษีเพิ่มขึ้นก็อาจจะพิจารณาในการซื้อตัวช่วยลดหย่อนต่างๆเพิ่มขึ้นได้ทั้ง LTF RMF ประกันชีวิต ซึ่งตรงนี้ก็อยู่ที่ความต้องการของเราแล้วล่ะครับ

สุดท้ายนี้ผมอยากจะเน้นให้เพื่อนๆพี่ๆน้องๆ ฟังก่อนยื่นภาษีกันทุกคนนะครับว่า การคำนวณภาษีนั้นไม่ใช่เรื่องยาก เพราะถ้าเราคำนวณภาษีเป็นเมื่อไร เราจะวางแผนภาษีได้อย่างสบายใจและถูกต้องยังไงล่ะคร้าบ