ธุรกิจอาหารถือว่าเป็นธุรกิจที่มีความคงทนที่สุดในโลก

ย้อนกลับในยุคโบราณ มนุษย์ก็เริ่มรู้จักการซื้อขายแลกเปลี่ยนจากอาหาร มาจนถึงยุคกำเนิดตลาดหุ้น หุ้นตัวแรกก็เกี่ยวกับการเดินทางโพ้นทะเลที่ส่วนหนึ่งก็เกี่ยวกับการค้นหาวัตถุดิบอาหารใหม่ๆ อย่างน้ำตาล เครื่องเทศ ไล่มาจนถึงปัจจุบัน ธุรกิจอาหารก็ยังไม่จากเราไปไหน เรายังคงถูกรายล้อมด้วยร้านอาหาร ครัวสำหรับทำอาหาร ไปจนถึงอาหารสำเร็จรูป

ธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารจึงมีเสน่ห์ในตัวเองเสมอ

ด้วยความที่เป็นธุรกิจที่แข็งแกร่งที่สุดในปัจจัย 4 ที่มนุษย์ไม่สามารถขาดได้ ธุรกิจอาหารจึงกลายเป็นธุรกิจที่นักลงทุนจำนวนมากนิยมถือลงทุนต่อเนื่องในระยะเวลายาวนาน ด้วยความเชื่อที่ว่า ธุรกิจนี้เปลี่ยนแปลงช้า อยู่ใกล้ตัว คนทั่วไปสามารถเข้าใจและศึกษาได้เป็นอย่างดี

RBF หรือ บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน)

RBF หรือ บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) คือ บริษัทที่ทำธุรกิจด้านอาหารน้องใหม่ที่กำลังจะเข้าตลาดหุ้น ความจริงธุรกิจหลักของ RBF ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ ธุรกิจอาหาร และธุรกิจโรงแรม แต่ด้วยความที่ธุรกิจอาหารกินส่วนแบ่งรายได้สูงมากกว่า 95% ความน่าสนใจของ RBF จึงเทไปอยู่ที่อุตสาหกรรมอาหารเป็นหลัก

RBF คือ ผู้ผลิตและจำหน่ายส่วนประกอบอาหาร (Food Ingredients)

ผลิตภัณฑ์ของ RBF แบ่งออกเป็น 6 กลุ่มหลัก ได้แก่ (1) กลุ่มวัสดุแต่งกลิ่นและสีผสมอาหาร (2) กลุ่มแป้งและซอส (3) กลุ่มผลิตภัณฑ์อบแห้ง (4) กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็ง (5) กลุ่มบรรจุภัณฑ์พลาสติก และ (6) กลุ่มผลิตภัณฑ์ซื้อมาจำหน่ายไป พวก Food Additive ต่างๆ

RBF มี Consumer Brand ในมือทั้งหมดถึง 6 แบรนด์

(1) Best Odour สำหรับ Food Additive

(2) Uncle Barn’s สำหรับแป้ง นมผง เกล็ดขนมปัง

(3) Kob Jung สำหรับเกล็ดขนมปัง

(4) Super-Find สำหรับแป้งทำอาหาร

(5) Haeyo

(6) Angelo สำหรับน้ำหวาน

และแบรนด์สำหรับให้บริการในระดับอุตสาหกรรม ผ่าน 4 บริษัท

(1) R&B Food Supply Pcl. (RBF) สำหรับกลุ่ม Coating และ Packaging                       

(2) Thai Flavour and Fragrance Co.,Ltd. (TFF) สำหรับกลุ่ม Flavor

(3) Premium Foods Co., Ltd. สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์อบแห้งและแช่แข็ง                           

(4) Best Odour Co., Ltd. สำหรับผลิตภัณฑ์ซื้อมา - ขายไป (Trading Business)

หากไม่คุ้นชื่อแบรนด์ก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะ RBF เน้น B2B เป็นหลัก

ลูกค้าของ RBF แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ (1) ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม เช่น บริษัทเครื่องดื่ม บริษัทขนมขบเคี้ยว (2) ธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า ที่จะมีการนำสินค้าของ RBF ไปวางขายสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย รวมไปถึงการขายสินค้า House Brand ผ่านการสั่งแบบ OEM อีกด้วย และ (3) ร้านค้าปลีกทั่วไป เช่น ร้านยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ที่เรามักจะเห็นร้านขายวัตถุดิบอาหารขนาดเล็ก ร้านค้ากลุ่มนี้ก็มีสินค้าของบริษัทขายเช่นกัน

รายได้หลักของ RBF มาจากกลุ่มวัตถุแต่งกลิ่นและสีผสมอาหารและกลุ่มผลิตภัณฑ์แป้งและซอส (Food Coating)

จากข้อมูลรายได้ปี 2561 จากรายได้รวมของฝั่งอาหารที่ 2,632.5 ล้านบาท มีรายได้มาจากวัตถุแต่งกลิ่นและสีผสมอาหารรวม 37.8% ของรายได้อาหารรวม ในขณะที่อันดับต่อมาก็ถือว่าสูงมาก คือ กลุ่มแป้งและซอสที่มีรายได้ 36.0% ของรายได้รวม

หากแบ่งตามภูมิภาคจะมีรายได้หลักมาจากการขายในประเทศเป็นหลัก โดยในปี 2561 รายได้การขายในประเทศต่อต่อประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 85.6 : 14.4 % ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงและโดดเด่น

ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม คือ กลุ่มลูกค้าหลัก

หากแบ่งตามรายได้รวมของปี 2561 แล้ว พบว่าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทโดยตรงเป็นหลัก โดยกินสัดส่วนสูงถึง 84.9% ของรายได้อาหารรวม ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีกที่เหลือกินสัดส่วนไม่มากนัก โดยคำสั่งซื้อส่วนใหญ่จะเป็นคำสั่งแบบ Made to Order ซึ่งสัดส่วนตรงนี้สูงถึง 85.9% ซึ่งถือว่าสูงมาก และยังแสดงถึงความแข็งแกร่งอีกอย่างด้วยว่า การจะเปลี่ยนซัพพลายเออร์ไปใช้เจ้าอื่นก็ไม่ได้สามารถทำได้ง่ายเท่ากับการซื้อสินค้าตามปรกติ

ในส่วนรายได้ของโรงแรมถือว่ากินสัดส่วนน้อย

โรงแรมในเครือของ RBF มีอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ โรงแรมไอบิส สไตล์ เชียงใหม่ และ โรงแรมโนโวเทล ชุมพร บีช รีสอร์ท แอนด์ กอล์ฟ โดยรายได้จากโรงแรมกินสัดส่วนรายได้รวมเพียง 3.86% ของรายได้รวมเท่านั้น หากจะวิเคราะห์ธุรกิจ RBF คงต้องเทไปทางด้านของอุตสาหกรรมอาหารมากกว่า

ในแง่ของงบการเงินก็ถือว่ามีกำไรที่ดีทีเดียว

ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน RBF มีกำไรอย่างต่อเนื่องทุกปี รายได้ปรับตัวสูงในปี 2560 ก่อนจะลดลงในปี 2561 ในขณะในช่วง 6 เดือนแรก รายได้ในปี 2562 ก็เติบโตจากปี 2561 ด้วย

ความน่าสนใจอยู่ที่ความสามารถในการทำกำไร

สำหรับธุรกิจแบบ B2B อย่าง RBF อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin ; NPM) ที่สูงในระดับมากกว่า 10% ต่อเนื่องถือว่าทำได้ยอดเยี่ยม อัตรากำไรสุทธิระดับนี้สูงกว่าร้านอาหารในตลาดหุ้นหลายร้านด้วยซ้ำ ตรงนี้บอกถึงความแข็งแกร่งของ RBF ได้ดีว่า ถึงแม้จะเป็นธุรกิจ B2B แต่ก็มีความสามารถในการต่อรองและตั้งราคาได้ดี แถมยังสามารถคงระดับ NPM ไว้ได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย

RBF ระดมทุนเพื่อขยายกิจการเป็นหลัก

โครงการในอนาคตของ RBF มี 3 โครงการหลัก ได้แก่ (1) โครงการสร้างโรงงานผลิตและจำหน่ายเกล็ดขนมปัง และแป้งประกอบอาหารในต่างประเทศ โครงการตั้งอยู่ที่เมืองสุราบายา ประเทศอินโดนีเซีย คาดว่าจะแล้วเสร็จและมีรายได้ภายในปี 2565 (2) โครงการปรับปรุงและซื้อเครื่องจักรเพื่อเพิ่มกระบวนการผลิต และ (3) ลงทุนเปิดบริษัทตัวแทนและห้องทดลองเพื่อวิจัยและพัฒนา (R&D) ในประเทศสิงคโปร์ นอกจากนี้ บริษัทจะนำเงินส่วนหนึ่งไปใช้คืนเงินกู้ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจอีกด้วย

RBF จะเสนอขายหุ้นจำนวน 520 ล้านหุ้น

หุ้นที่เสนอขายจะคิดเป็นสัดส่วน 26.00% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดหลังการเสนอขาย โดยโครงสร้างหลังการเสนอขายจะยังมีตระกูลรัตนภูมิภิญโญนั่งเป็นกรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้นใหญ่มากกว่า 70% ดังเดิม

บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาแนะนำการซื้อ ถือ หรือขายหลักทรัพย์ เพียงแต่นำข้อมูลของบริษัทมาเล่าโดยสรุป เพื่อเป็นประโยชน์กับนักลงทุนที่สนใจในการศึกษา หากสนใจข้อมูลเพื่อเติมของบริษัทสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่  http://bit.ly/314TuLM

ลงทุนศาสตร์

บทความนี้เป็น Advertorial