"สูตร เงินเดือน x 40% = ยอดเงินชำระต่อเดือน" ใช้ได้จริงหรือไม่ถ้าอยากวางแผนซื้อรถยนต์ไว้สำหรับขับไปทำงาน / สนใจอยากซื้อคอนโดมิเนียมใกล้ๆ บีทีเอส / อยากซื้อบ้านซักหลังไว้เป็นที่พักพิงและอยู่ยาวๆ ในอนาคต

"สูตร เงินเดือน x 40% = ยอดเงินชำระต่อเดือน" ถ้าค้นในกูเกิ้ลหาสูตรคำนวณนี้ เกี่ยวกับการซื้อรถ ซื้อคอนโด เชื่อได้ว่าหลายคนก็คงเจอสูตรนี้อย่างแน่นอนวันนี้เราเลยอยากจะชวนมาคำนวณหา ‘ข้อเท็จจริง’ ว่าจริงๆ แล้วสูตรนี้สามารถตอบความต้องการได้มากน้อยแค่ไหน

เรามายกตัวอย่างเงินเดือนเล่นๆ กันดีกว่า จากรายได้พื้นฐานของมนุษย์เงินเดือนเริ่มอยู่ที่ 15,000 บาท

15,000 x 40% = 6,000 บาท

ยอดชำระจำนวนนี้อาจจะผ่อนชำระค่ารถยนตร์ได้ แต่ถ้าเป็นคอนโดหรือบ้าน คงเป็นไปได้ยากครับ เพราะตามหลักความเป็นจริง ยอดผ่อนชำระต่อเดือนขั้นต่ำควรอยู่ที่ 8,000 บาท (เทียบกับราคาคอนโด  1 - 1.2 ล้านบาท ผ่อน 30 ปี ดอกเบี้ย 7%) หากคนที่มีรายได้ต่อเดือน 15,000 บาท หักจ่ายหนี้เดือนละ 8,000 บาท ก็จะเหลือเงินสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอยู่ที่ 7,000 บาท แฟนตาซีหนักเลยไปอีกสำหรับชีวิตในกรุงเทพมหานคร

ตามหลักการแล้ว ยอดหนี้ที่เราควรมีควรอยู่ที่ประมาณ 25% ของรายได้ ด้วยจำนวนเท่านี้จะทำให้ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ต่อเดือนของเรามีสภาพคล่องมากขึ้น

แต่หากคำนวณจากสูตร เงินเดือน x 25% = ยอดเงินชำระต่อเดือน โดยอิงรายได้ 15,000 ก็จะได้ยอดเงินชำระต่อเดือนอยู่ที่ 3,750 บาท

ในความเป็นจริง (อีกขั้น) ราคาผ่อนชำระรถยนต์ หรือคอนโด คงไม่มีขั้นต่ำอยู่ที่ 3,750 บาทแน่ๆ

เราอยากให้คนที่กำลังตัดสินใจว่าจะลงทุนซื้อสินทรัพย์ที่มีระยะผ่อนชำระที่ยาวนาน 3 ปี / 20 ปี / 30 ปี ลองคิดทบทวนใหม่ ว่าจริงๆ แล้วคุณพร้อมแล้วสำหรับหนี้สินที่ต้องชำระต่อเดือนแล้วรึยัง เพราะอย่าลืมว่าเมื่อคุณได้สินทรัพย์เหล่านั้นมาถือครองแล้ว มันไม่ได้หมดอยู่แต่เพียงแค่นั้น หากเป็นรถยนต์ คุณยังต้องเสียเงินค่าน้ำมัน บำรุง ซ่อมแซม ส่วนคอนโดและบ้าน คุณต้องจ่ายค่าส่วนกลางและเฟอร์นิเจอร์ อื่นๆ เพิ่มเติมอีก ซึ่งแน่นอนล่ะว่ามันเกินจาก 40% ที่ว่านั่นแน่นอน (ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่รายจ่ายคงที่ แต่ก็เป็นรายจ่ายแฝงที่เราต้องคำนึงถึงด้วย)

หากยึดยอดชำระหนี้ต่อเดือนจาก 25% คุณลองไปคิดต่อกันดูแล้วกันนะครับว่าเรา ‘ควรมีเงินเดือนเท่าไหร่ถึงเริ่มคิดถึงการมีหนี้เพื่อซื้อรถยนต์ คอนโด หรือบ้าน’ แล้วไม่เดือดร้อนตัวเอง เพราะสินทรัพย์ทุกอย่างย่อมต้องมีการเสื่อมสภาพตามกาลเวลา และจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอยู่แล้ว ซึ่งรวมถึงสภาพคล่องกระแสเงินของตัวเราด้วย ดังนั้น การคิดคำนวณอย่างละเอียดจะช่วยให้เราเห็นภาพที่ชัดขึ้นว่าตอนนี้เราควรอดทนรอหรือรีบครอบครองสินทรัพย์ที่หมายปองเอาไว้เลย

ติดตามความรู้เรื่องการเงินการลงทุนจาก aomMONEY

Website : www.aomMONEY.com

 Youtube : https://www.youtube.com/AommoneyTH

กลุ่มกองทุนไหนดี : https://www.facebook.com/groups/SelectedFund/

ทีมกองบรรณาธิการ aomMONEY