ขอคืนภาษีปี 2561 ให้ไว ต้องทำยังไง และปีนี้มีอะไรเปลี่ยนแปลงที่เราควรรู้บ้าง?

สำหรับคนที่ยื่นภาษีและต้องการขอคืนภาษี พรี่หนอมได้สรุปประเด็นสำคัญที่ควรระวังและสิ่งที่ต้องรู้สำหรับการยื่นภาษีประจำปี 2561 นี้ เพื่อให้ได้รับสิทธิขอคืนภาษีอย่างถูกต้องและไวขึ้นกว่าเก่ามาให้อ่านกันครับ โดยไล่เรียงกันตามขั้นตอนต่อไปนี้เลยครับผม

1. ตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องก่อนยื่นภาษี

เรื่องแรกนี้สำคัญที่สุดครับ นั่นคือข้อมูลเราที่ยื่นภาษีนั้นต้องถูกต้องเสียก่อน เพราะถ้าหากข้อมูลไม่ถูกต้องแล้ว การยื่นขอคืนจะเสียเวลามากๆในการตรวจสอบข้อมูลและหาเอกสารหลักฐานครับ

เบื้องต้นตอนนี้สามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากระบบ MyTAXAccount ของกรมสรรพากร โดยตอนนี้สามารถตรวจสอบข้อมูลค่าลดหย่อนรายการต่อไปนี้ได้ครับ

1. ประกันสุขภาพ (ที่แจ้งไปเมื่อปีก่อน)
2. เงินบริจาค (ที่ผ่าน e-Donation)
3. เงินสะสมเข้ากองทุน (เข้าใจว่าน่าจะได้แค่ กบข. เท่านั้นนะครับ)

พรี่หนอมลองเล่นดูคร่าวๆของข้อมูลค่าลดหย่อนในปี 2561 ก็รู้สึกว่าใช้งานง่ายดีครับ เข้าใจว่ากรมสรรพากรทำระบบนี้ขึ้นมาให้เช็คอีกทีว่าเรามีค่าลดหย่อนภาษีอะไรบ้าง แม้ว่าจะไม่ครบทุกรายการ แต่ก็พอช่วยได้บ้างครับผม

2. อย่าลืมเลือกช่อง "ขอคืนภาษี" ก่อนที่จะกดปุ่มยื่นแบบแสดงรายการภาษี

เหมือนจะเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ไม่น่าพลาด แต่เชื่อเถอะครับว่าหลายคนพลาดกับเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก ซึ่งถ้าหากใครพลาดเหมือนกับเพื่อนๆอีกหลายคน วิธีแก้ให้สามารถขอคืนภาษีได้นั้น คือ การยื่นแบบเพิ่มเติม ครับ

การยื่นแบบเพิ่มเติม คือ การยื่นแบบแสดงรายการภาษีใหม่ โดยกรอกข้อมูลใหม่ทั้งหมด เหมือนว่าเราไม่เคยยื่นภาษีมาก่อน ซึ่งพี่สรรพากรจะพิจารณาข้อมูลที่เรายื่นเข้าไปใหม่นี้แทนครับ (ใครงงดูวิธีการยื่นเพิ่มเติมในคลิปนี้ได้เลยครับ)

https://youtube.com/watch?v=m6a_YIr3nOE%3Fwmode%3Dopaque

3. ยื่นภาษีเสร็จแล้ว อัพโหลดเอกสารรอไว้ได้เลย ไม่ต้องรอให้สรรพากรขอเอกสาร

ปกติเราต้องเข้าไปเช็คสถานะขอคืนภาษีว่าไปถึงขั้นตอนไหนแล้ว แต่สำหรับการยื่นภาษีปี 2561 นี้ เราสามารถเข้าไปที่ เมนูบริการสอบถามข้อมูลขอคืนภาษี แล้วอัพโหลดเอกสารไว้ก่อนได้เลยครับ

4. สมัครพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประจำตัวประชาชนเท่านั้น

พรี่หนอมมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องเล่นตามเกมของกรมสรรพากรและระบบราชการนะครับ ถ้าอยากได้คืนไว เข้าบัญชีเร็ว การสมัครพร้อมเพย์ที่ผูกกับบัตรประชาชน (ห้ามผูกกับเบอร์โทรศัพท์) ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ควรทำครับ เพราะปีนี้ไม่มีเช็คคืนภาษีแล้วนะครับ มีแต่หนังสือแจ้งคืนภาษี สำหรับคนที่ไม่สมัครพร้อมเพย์ ต้องเอาไปติดต่อที่ธนาคารกรุงไทยด้วยตัวเองเท่านั้นครับ และสามารถเลือกได้ว่า จะให้โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย (หรือเปิดบัญชีใหม่ก็ได้) หรือ ได้รับเป็นบัตร E-Money เพื่อนำไปกดเงินที่ตู้ ATM หรือใช้สินค้าบริการแทนก็ได้เช่นเดียวกันครับ

แต่สำหรับคนที่ไม่สามารถไปรับเงินคืนด้วยตัวเองได้ กรณีมีเหตุจำเป็น เช่น ชาวต่างชาติที่ไม่อยู่ในไทย ผู้พิการ ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี บุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ กรณีนี้สามารถให้ผู้อื่นไปรับเงินแทนได้นะครับ แต่ต้องมีเอกสารพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้แทนโดยกฎหมาย (เช่น หนังสือมอบอำนาจ หรือ หนังสือที่แสดงว่าตัวเองเป็นผู้ดูแลที่เกี่ยวข้องกับผู้มีเงินได้นั้นๆ เช่น ผู้จัดการมรดก ผู้ดูแลคนพิการหรือ ผู้อนุบาลคนเสมือนไร้ความสามารถ)

5. ติดต่อ สอบถาม และตรวจสอบเป็นระยะ

สำหรับคนที่ทำทุกวิธีแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้คืนภาษี อาจจะต้องขยันโดยการเข้าไปตรวจสอบสถานะใน เมนูบริการสอบถามข้อมูลขอคืนภาษี อยู่เรื่อยๆครับ ถ้าหากมีเบอร์โทรศัพท์ให้ติดต่อสอบถามเพิ่มปรากฎขึ้นมาก็ได้เวลาโทรไปสอบถามเพิ่มเติมเรื่อยๆ แต่ขอให้เห็นใจพี่ๆสรรพากรด้วยกันนะครับ เขาก็ต้องทำงานเหมือนกัน และวันๆก็ดูเหมือนว่าจะต้องรับสายเยอะอยู่เหมือนกันแหละครับผม

ทีนี้สิ่งที่ต้องคิดสำหรับเรื่องการขอคืนภาษีปี 2561 ที่หลายคนอาจจะรู้สึกว่าช้า หรือมีความยุ่งยากวุ่นวายมากขึ้นนั้น เราอาจจะต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่เพื่อตรวจสอบตัวเองว่า ที่เราต้องขอคืนภาษีนั้น เกิดจากเรื่องอะไร? และภาษีที่ถูกหักไว้เกินไปนั้นมันมาจากไหนกันบ้าง

เช่น ถ้าหากเราเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในแต่ละเดือนไว้มากเกินไป จนทำให้เราต้องมาขอคืนภาษีในทุกๆปี วิธีแก้ก็คือ “การหักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้เท่าที่จำเป็น” โดยการกรอกแบบฟอร์มลดหย่อนภาษี (ลย.01) เพื่อแจ้งข้อมูลลดหย่อนภาษีกับทางบริษัทไว้ว่าเรามีค่าลดหย่อนหลายตัวนะ และภาษีที่หักเราไว้ในแต่ละเดือนมันมากเกินไป

ซึ่งถ้าหากเรากรอกข้อมูลค่าลดหย่อนต่างๆของตัวเองครบ ภาษีที่คำนวณได้ย่อมจะน้อยลงกว่าการที่ไม่กรอกข้อมูลค่าลดหย่อนอะไรเลย เนื่องจากภาษีคำนวณตามวิธีเงินได้สุทธิ (เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) ซึ่งยิ่งค่าลดหย่อนที่มากขึนก็จะทำให้เสียภาษีน้อยลง และถูกหักภาษีไว้ในแต่ละเดือนน้อยลงด้วยครับ และท้ายที่สุดแล้วเราก็จะขอคืนภาษีน้อยลงตามไปด้วย หรือบางทีอาจจะไม่ต้องขอคืนภาษีแล้ว เพราะยอดที่ถูกหักไว้นั้นใกล้เคียงกับยอดภาษีที่ต้องเสียในแต่ละปีนั่นเองครับ (อ่านเพิ่มเติม : รู้จักกับ "ลย.01" แบบฟอร์มลดหย่อนภาษีที่มนุษย์เงินเดือนมองข้าม!!)

บางทีแล้วการจัดการเรื่องของการขอคืนภาษี ไม่ได้อยู่แค่การจัดการปัญหาหรือเวลาเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะต้องมองไปถึงต้นตอที่เกิดขึ้นมาว่า สิ่งที่เราวางแผนไว้นั้นมันถูกต้องหรือเปล่า หรือเราสามารถจัดการอะไรเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดได้หรือไม่

ถ้าหากทำได้ตั้งแต่เนิ่นๆ มันก็ย่อมจะดีกว่า จริงไหมล่ะครับผม