สวัสดีครับนักลงทุนทุกท่าน ในที่สุดเกณฑ์การจัดตั้งของกองทุน SSF ก็ออกมาสักทีนะครับ โดยที่ทาง ก.ล.ต. ได้ประกาศ เกณฑ์ของ  กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) มีผลใช้บังคับแล้ว ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563

ซึ่งมีผลทำให้ บลจ. ต่าง ๆ ที่อยากจะจัดตั้งกองทุน SSF ก็สามารถที่จะยื่นขออนุมัติจัดตั้งได้ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไปครับ และแน่นอนครับว่า ทาง ก.ล.ต. ก็พร้อมจะอนุมัติให้ได้โดยเร็ว ก็เพื่อให้นักลงทุนที่อยากได้กองทุน SSF มาลดหย่อนภาษีนั้นจะได้มีเวลาทั้งปีในการหากองทุนดี ๆ เจ๋ง ๆ มาลงทุนนั่นเองครับ เพราะผมเชื่อว่าจะมีกองทุนหลายประเภทมาให้เราได้เลือกกันเยอะแยะแน่ ๆ ครับ

โดยผมคาดการณ์ว่า ภายใน 2 สัปดาห์ ถึง 1 เดือนหลังจากนี้ก็น่าจะมีกองทุนออกมาให้พวกเราเหล่านักลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีได้ช้อปปิ้งกันแล้วละครับ

คราวนี้เรามาดูเกณฑ์กันหน่อยว่ากองทุนที่ออกมานั้นจะต้องมีหน้าตาอย่างไร และมีอะไรที่น่าสนใจบ้างครับ

 จากประกาศของทาง ก.ล.ต. กองทุนที่จะออกมานั้นจะต้องมีหน้าตาประมาณนี้ครับ

  1.  การจัดตั้ง SSF นั้น จะจัดตั้งใหม่ หรือว่าเอากองทุนเดิมที่มีอยู่แล้ว มาจดเพิ่มเป็น SSF ก็ได้ นั่นก็หมายความว่า บลจ. ไหนที่มี กองทุนเดิมอยู่แล้ว เช่น กองทุน T-lowbeta ก็สามารถนำมาจดจัดตั้งเป็น T-lowbeta SSF ได้นั่นเองครับ ทั้งนี้ก็เพื่อความรวดเร็ว และ ไม่ต้องเสียเวลามาจัดตั้งใหม่ทั้งหมดครับ ซึ่งต่อให้จัดตั้งใหม่ ทาง บลจ. ไหนที่กองทุนมีชื่ออยู่แล้ว ก็จะทำแบบที่ผมกล่าวมาข้างบนอยู่ดี ดังนั้นถ้ามีอยู่แล้ว ก็เอามาทำเป็น SSF ได้เลย และยื่นต่อ ก.ล.ต.  ได้ทันทีครับ ไม่ต้องรอนาน ดังนั้นกองทุน SSF ที่จะออกมาในชุดแรก ๆ ผมคิดว่าน่าจะเป็นกองทุนที่เรา ๆ คุ้นหูกัน เช่น BTP-SSF , 1AMSET50-SSF หรือ MpropDiv-SSF (ชื่อจะยาวไปไหน) อะไรประมาณนี้ครับ ทั้งนี้อาจจะมีกองทุนต่างประเทศ และผมเชื่อว่าก็น่าจะมีกองทุนผสมออกมาด้วย เผื่อว่าใครที่อยากจะซื้อกองทุนเดี่ยว ๆ ไม่ต้องไปซื้อหลาย ๆ กองทุนมาผสม ทำพอร์ตการลงทุนเองครับ
  2. กองทุน SSF ที่จัดตั้งขึ้น ต้องมีต่อท้ายด้วยว่า “เพื่อการออม” คล้ายกับกองทุน RMF ที่ต้องมีคำว่า “เพื่อการเลี้ยงชีพ” หรือ LTF ที่มีคำว่า “หุ้นระยะยาว” ครับ
  3. จากเท่าที่ผมอ่านจากประกาศสินทรัพย์ที่กองทุน SSF จะไปลงทุนด้วยนั้น มีความหลากหลายมาก ๆ ครับ คือ พูดง่าย ๆ ว่าเหมือนกับ RMF ที่สามารถลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ - เสี่ยงสูงได้หมดเลย เช่นตราสารหนี้ อสังหา หุ้น หุ้นต่างประเทศ หรือจะเป็นกองทุนทองคำ สินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ก็ยังได้ครับ เอาเป็นว่ามีทางเลือกมากขึ้นกว่า LTF ที่มีแต่การลงทุนในหุ้นครับ (หุ้นตกทีไร ใจหายทุกทีครับ)…..แต่สิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติมสำหรับนักลงทุนก็คือ การศึกษาการทำพอร์ต การจัดพอร์ตการลงทุนให้ดี ๆ แล้วละครับ จะได้มีเงินออมระยะยาวสมชื่อกองทุน SSF ครับ
  4. สามารถโอนย้ายไปยัง กองทุน SSF อื่น ๆ ข้าม บลจ. ได้เหมือนกับ RMF และ LTF ครับ ในเกณฑ์เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า กองทุน SSF ถ้าหากเราไม่พอใจในการบริหารงานของ บลจ. เราสามารถเปลี่ยน โอน ย้าย ข้าม บลจ. ได้ตลอดเวลาครับ (บลจ.ต้องทำการโดนย้ายให้เราภายใน 5 วันทำการด้วยนะครับ)
  5. กองทุน SSF มีประเภทปันผลด้วยครับ เหมือนกับ LTF เลยครับ ซึ่ง กองทุน SSF ไหนจะจ่ายปันผลได้ก็ต่อเมื่อ กองทุนต้องมีกำไรสุทธินะครับ ไม่ใช่ว่าปันผลไปแล้วขาดทุนในรอบปีนั้นอันนี้ไม่ได้ครับ โดยเกณฑ์ของการจ่ายปันผลแต่ละครั้งจะแบ่งเป็น 2 กรณีคือ 1. จ่ายจากดอกเบี้ย หรือ เงินปันผลที่ได้รับจากสินทรัพย์ เช่น กองทุนถือ REITs อยู่ และมีตราสารหนี้ด้วย ก็สามารถเอาเงินปันผลจาก REITs และ ดอกเบี้ยจากตราสารหนี้มาจ่ายให้ได้ครับ
  6. กองทุนจ่ายเงินปันผล แต่จ่ายได้ไม่เกิน 30% จากกำไรสะสม หรือ กำไรสุทธิของกองทุน

ซึ่งเกณฑ์ของรูปแบบกองทุนที่ออกมานั้น ก็คล้าย ๆ กับ LTF เดิมนั่นแหละครับ ไม่ค่อยแตกต่างจากเดิมเท่าไหร่ครับ เพียวแค่มีกองทุนให้เราเลือกได้หลากหลายขึ้น ซึ่งถ้าใครที่อยากอ่านข้อมูลเพิ่มเติม เข้าไปที่เวปไซต์ของ ก.ล.ต. ได้เลยนะครับ

https://www.sec.or.th/TH/Pages/LawandRegulations/Establishmentofmutualfunds.aspx

โดยเกณฑ์การซื้อต่าง ๆ น่าจะเป็นที่แน่นอนแล้วพอสมควรครับ ไม่ว่าจะเป็นลงทุนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ และต้องไม่เกิน 200,000 บาท โดยที่เมื่อรวมกับ RMF + PVD (หรือ กบข) + ประกันบำนาญ+ กอช แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

แต่ที่ผมลุ้นมากกว่าก็คือในเดือนนี้ กองทุนของบลจ. ไหนจะออก SSF มาเป็นที่แรก และ กองทุนนั้นเป็นกองทุนประเภทไหน หุ้น อสังหา ตราสารหนี้ กองทุนตลาดเงิน หรือว่าจะเป็นกองทุนผสมกันแน่ อันนี้ต้องอดใจรอ รับรองว่าในเดือนนี้น่าจะมาให้เราได้เห็นกันแล้วครับ

แล้วผมจะมารีวิวกองทุนต่าง ๆ ที่ออกมาให้ฟังกันนะครับ ติดตามกันได้ทางออมมันนี่ และ เพจคลินิกกองทุนครับ

หมอนัทรายงาน….วันนี้ขอลาไปก่อน สวัสดีครับ