หนึ่งในทางเลือกลดหย่อนภาษีช่วงปลายปีแบบนี้ ต้องบอกกันเลยครับว่า สิ่งที่ทุกคนถามหา คือ SSF และ RMF พร้อมกับคำถามว่า ซื้อกองไหนดี กองไหนคุ้มค่าที่สุด แต่ผมอยากให้พักความคิดนี้ไว้ก่อนครับ แล้วกลับมาทำความเข้าใจหลักการสำคัญที่จะทำให้เรา ซื้อ SSF และ RMF ได้เหมาะกับความต้องการและคุ้มค่าที่สุด

โดยสิ่งที่เราต้องเช็กให้ดีนั้น มีอยู่ 3 ข้อครับ

คือ ซื้อให้ถูกต้องตามเงื่อนไข ลดภาษีได้เท่าไร และ ทำยังไงให้คุ้มที่สุด

1. ซื้อให้ถูกต้องตามเงื่อนไข

อันดับแรก เริ่มที่การซื้อให้ถูกเงื่อนไขกันก่อนครับ โดยผมอยากให้ทุกคนมาทำความเข้าใจเงื่อนไขระหว่าง RMF และ SSF อีกทีว่า ทั้งสองตัวนี้ซื้อได้เท่าไร และมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง?

หมายเหตุ : โดย SSF และ RMF นั้นมีเงื่อนไขเพิ่มเติมในการลดหย่อนภาษีร่วมกันอีกนิดหนึ่งครับ นั่นคือ SSF + RMF + กบข./กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน + กองทุนการออมแห่งชาติ + ประกันชีวิตแบบบำนาญ เมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วจะสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาทครับ 

จากข้อมูลจะเห็นครับว่า ทั้ง SSF และ RMF มีความเหมือนกันตรงที่ เราสามารถซื้อได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ (เงินได้ที่ต้องเสียภาษี) และสามารถลงทุนได้ในสินทรัพย์ทุกประเภทเหมือนกันครับ

เพียงแต่ว่าสิ่งที่ต่างกันคือ อายุในการถือครองซึ่ง SSF กำหนดไว้ที่ 10 ปีเต็ม ส่วน RMF นั้นกำหนดไว้ที่อายุ 55 ปีขึ้นไปและต้องถือครองมาไม่น้อยกว่า 5 ปี รวมถึงจำนวนเงินที่ซื้อได้สำหรับ SSF คือ 200,000 บาท ในขณะที่ RMF ซื้อได้สูงสุดคือ 500,000 บาท

แต่อย่างไรก็ดี (สำคัญมาก) ทั้งสองกลุ่มนี้ถูกผูกอยู่ในเงื่อนไขกลุ่มเกษียณตรงที่รวมกันแล้วสามารถซื้อได้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาทด้วย หรือพูดง่าย ๆ ว่า จำนวนเงินที่ซื้อ SSF และ RMF เมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมาย (PVD) หรือเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมาย (กบข) หรือเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน เบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาทนั่นเองครับ

ซึ่งตรงนี้ขอย้ำอีกทีนะครับว่า รายชื่อค่าลดหย่อนที่พูดมาทั้งหมดนั้น มีเงื่อนไขของมันเองแยกเป็นรายตัว แต่ทุกตัวนั้นเมื่อรวมกันแล้ว เราสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 500,000 บาทเท่านั้นครับ

ดังนั้นจากจุดนี้ ผมอยากให้ทุกคนลองสำรวจตัวเองก่อนว่า เรามีเงินได้ทั้งปีเท่าไร และ เราสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุดกี่บาท

เช่น ถ้าหากรายได้ทั้งปีเราคือ 1,000,000 บาท แบบนี้เราสามารถซื้อ SSF ได้สูงสุด คือ 200,000 บาท และ RMF ได้สูงสุด 300,000 บาท ถ้าหากเราไม่มีค่าลดหย่อนกลุ่มเกษียณตัวอื่น ก็สามารถนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีรวมกันได้สูงสุดคือ 500,000 บาทนั่นเองครับ (เพียงแต่ในความเป็นจริง การซื้อได้ถึงสิทธิ์นั้น อาจจะลำบากหน่อยครับ เพราะเท่ากับ 50% ของรายได้เลย ฮ่าๆ)

เอาเป็นว่าลองคำนวณกันก่อนครับ แล้วมาต่อกันที่ข้อ 2 นั่นคือ เราลดภาษีได้กี่บาทกันแน่ จากเงินที่เราจ่ายไปเพื่อซื้อ SSF และ RMF

2. ลดภาษีได้เท่าไร

หลังจากที่เราเข้าใจเงื่อนไขแล้ว ผมแนะนำให้ตอบคำถามนี้ให้ได้ด้วยครับว่า เราเสียภาษีอยู่เท่าไร โดยศึกษาวิธีคำนวณภาษีที่ถูกต้อง ซึ่งโดยหลักการแล้ว รายการค่าลดหย่อนจะถูกใช้สำหรับวิธีคำนวณจากเงินได้สุทธิ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) ซึ่งสิ่งที่ต้องคิดต่อคือ แล้วฐานภาษีของเราเป็นเท่าไร (5-35%) ซึ่งแปลว่าเงินที่เราซื้อ SSF หรือ RMF นั้น สามารถลดภาษีได้ตามฐานอัตราภาษีที่เราเสียนั่นเองครับ

สมมติว่า เราเสียภาษีอยู่ที่ฐานสูงสุดคือ 15% การซื้อ SSF หรือ RMF นั้นจะช่วยให้เราลดภาษีได้ 15% ของเงินที่จ่ายไปครับ เช่น ซื้อไป 100,000 บาทเป็นค่าลดหย่อน ก็จะสามารถลดภาษีได้ถึง 15,000 บาท

ดังนั้นประเด็นสำคัญตรงนี้เราต้องเช็กให้ดีอยู่สองเรื่องครับ นั่นคือ ฐานภาษีที่เราเสีย (จากวิธีคำนวณเงินได้สุทธิ) และ จำนวนเงินที่เราซื้อไหว หลังจากที่คำนวณสิทธิ์ซื้อในข้อ 1 แล้ว เพื่อให้เหมาะสมกับจำนวนเงินภาษีที่ประหยัดได้ และใช้ชีวิตสบายๆ ไม่กระทบสภาพคล่องในอนาคต

ถ้าได้คำตอบแล้ว เรามาดูเทคนิคเพิ่มเติมกันในข้อ 3 ครับ 

นั่นคือ ทำยังไงให้คุ้มที่สุด

3. ทำยังไงให้คุ้มที่สุด

ก่อนอื่นต้องบอกครับว่า เทคนิคตรงนี้มีหลากหลายมาก ขึ้นอยู่กับความชอบและความถนัดของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเพื่อลดฐานภาษีสูงสุด เช่น ตอนนี้เราเสียภาษีอยู่ที่ฐาน 20% เราก็ซื้อเพื่อให้เงินได้สุทธิลดมาอยู่ที่ฐาน 15% แทน หรือถ้าบางคนไหวกว่านั้น ก็ซื้อเพิ่มตามกระแสเงินสดที่เหลืออยู่ก็ได้เหมือนกันครับ อันนี้แล้วแต่ถนัดเลย

แต่อีกเทคนิคหนึ่งที่อยากฝากไว้ คือ เงินได้ส่วนที่เราเลือกไม่นำมารวมยื่นภาษี แต่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผลต่างๆ (Final TAX) ตรงนี้สามารถใช้เป็นฐานส่วนเพิ่มเติมให้ซื้อ SSF หรือ RMF ได้นะครับ

ยกตัวอย่างเช่น เรามีรายได้เงินเดือนทั้งปีคือ 1,500,000 บาท และมีดอกเบี้ยอีก 100,000 บาท (หักภาษี 15% แล้วเลือกไม่นำมารวมคำนวณภาษี) แบบนี้สิทธิสูงสุดที่เราซื้อได้จะคิดจาก 30% ของเงิน 1,600,000 บาท นะครับ โดยดอกเบี้ย 100,000 บาท จะต้องนำไปกรอกในช่อง “เงินได้พึงประเมินที่ได้สิทธิเลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่น” เวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ประจำปีด้วยครับผม

มาถึงตรงนี้หลายคนคงจะพอเห็นภาพแล้วใช่ไหมครับ แต่เพื่อให้ภาพทั้งหมดครบชัด สมจริง ผมจะบอกว่ามีอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณามากกว่าเรื่องของการประหยัดภาษี นั่นคือ เราควรเลือกกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทไหน และ เราเลือกกองทุนได้เหมาะสมกับเป้าหมายการเงินที่เราต้องการหรือเปล่า นั่นเองครับ

ซึ่งทาง ทีเอ็มบีและธนชาต เขาก็ฝากกองทุนที่น่าสนใจมาให้ดูกันครับ จะเห็นว่ามีการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายตั้งแต่หุ้นประเภทต่างๆ ทั้งต่างประเทศ เทคโนโลยี และ สุขภาพ ซึ่งตอบโจทย์การเลือกตามความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ต้องการครับ โดยมีรายชื่อกองทุนที่คัดสรรมาตามสไตล์การลงทุนของคุณได้อย่างเหมาะสมตามตารางด้านล่างนี้ครับ

โดยคำแนะนำที่ผมอยากฝากไว้อีกสักเรื่องคือ ไม่ว่าจะลงทุนในกองทุนไหนก็ตาม สิ่งที่เราต้องตอบให้ได้ คือ เราลงทุนเพื่อวัตถุประสงค์อะไร และ เรารับความเสี่ยงได้จริงไหม พร้อมทั้งเลือกสินทรัพย์ที่เราเข้าใจด้วยนะครับ ซึ่งจะทำให้เราสามารถประหยัดภาษีและเดินตามเป้าหมายการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพสุงสุดครับ

ถ้าใครสนใจข้อมูลเพิ่มเติมของกองทุน SSF และ RMF จากทีเอ็มบีและธนชาต ที่คัดสรรมาให้ สามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.tmbbank.com/tax20/tbn

หรือเข้าไปลงทุนได้ผ่านช่องทางดังนี้

- แอป TOUCH  

- TMB Investment Line โทร. 1558 กด #9 (เวลาทำการธนาคาร)

- ทีเอ็มบีและธนชาต ทุกสาขา

พิเศษ!! ซื้อวันนี้รับโปรโมชั่นดีๆ ตั้งแต่วันนี้ - 30 ธ.ค. 63 ไปเลย!!! รายละเอียดเพิ่มเติม 

www.tmbbank.com/promotion/tax2020

ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน รวมทั้งศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ระบุไว้ในคู่มือการลงทุนของกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ก่อนตัดสินใจลงทุน / การลงทุนในหน่วยลงทุนมิใช่การฝากเงิน และมีความเสี่ยงของการลงทุน/ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและรับหนังสือชี้ชวนได้ที่ ทีเอ็มบีและธนชาต ทุกสาขา

บทความนี้เป็น Advertorial