วันก่อนเห็นเพื่อนๆ แชร์กันมาในเฟสบุ๊ค และได้อ่านบทความของ GM Live เรื่อง สัมภาษณ์ ผู้ตั้งธุรกิจเช่าสินสอดแต่งงาน บ.โรแมนทีส ชาวบ้านฮิต เปิด 3 เดือนรายได้นับแสน ทำให้พรี่หนอมนึกถึงบทความเก่าที่เคยเขียนเรื่องนี้ไว้อย่าง มนุษย์เงินเดือนน้อยอย่างเรา จะเอาตัวรอดกับสินสอดได้อย่างไร ประกอบกันครับ

ในมุมหนึ่งที่น่าสนใจคือ เรามักจะได้ยินว่า สินสอดไม่จำเป็นกับชีวิตคู่หรอก แค่รักกันจริงก็พอ แต่ถ้าหากเป็นแบบนั้นจริงๆทำไมธุรกิจนี้ถึงเติบโตเร็วและมีคนยอมลงทุนเพื่อ “เช่า” เงินมา “วาง” ตรงหน้าเพื่อแสดงว่าเป็นหลักฐานของการหมั้นหมายและแต่งงานกันอยู่ดีล่ะ

แน่นอนล่ะว่าคำตอบก็คงจะแตกแยกย่อยออกเป็นหลายความคิดเห็น ตั้งแต่มันจำเป็นด้านหน้าตาของคู่บ่าวสาวและครอบครัว เป็นการการันตีความชัวร์ที่จะเลี้ยงดูลูกสาวได้ (อันนี้กรณีที่ไม่ได้เช่ามา) ไปจนถึงการสร้างโอกาสต่างๆในอนาคตสำหรับการทำธุรกิจ (บางทีอาจจะมีผลก็ได้นะ เช่น เนี่ยบ้านนี้เค้าน่าจะรวยและน่าเชื่อถือนะ เห็นตอนนั้นแต่ลูกชายทีนึงสินสอดตั้งหลายสิบล้านแหนะ อะไรแบบนี้)

แวะมาพูดถึงความรู้เรื่องภาษีกันสักเล็กน้อยครับ สำหรับเรื่องนี้จะมีเรื่องภาษีมากระทบอยู่ 2 เรื่องครับ นั่นคือ ภาษีจากการรับให้ และ ภาษีรายได้

เรื่องแรก คือ ภาษีการรับให้ กรณีที่ให้เงินสินสอดซึ่งถือเป็นเงินตามพิธีธรรมเนียมประเพณีเกินกว่า 10 ล้านบาท ส่วนที่เกินกว่า 10 ล้านบาทเป็นต้นไปจะต้องเสียภาษีจากการรับให้ 5%  เช่น ถ้าหากให้เงินไป 15 ล้านบาท ก็จะเสียภาษี 250,000 บาท ดังนั้นถ้าจะให้เงินสินสอดเยอะๆแบบนี้ก็ระวังพี่สรรพากรจะตามมาหาด้วยนะครับผม แต่ถ้าหากกรณีที่เช่าเค้ามาวางเฉยๆ ไม่ได้ให้จริงแบบนี้ กรณีนี้ก็ถือว่าไม่ต้องเสียภาษีการรับให้ครับผม

เริ่องที่สอง คือ ธุรกิจแบบนี้ถือว่ามีรายได้นะครับ ยิ่งจดทะเบียนในรูปแบบของบริษัทแล้วล่ะก็ รายได้จากการให้เช่าเงินแบบนี้จะก้ำกึ่งระหว่างการให้กู้กับการเช่า ซึ่งถ้าจะตีความจริงๆอาจจะยังคลุมเครืออยู่ว่าจะเรียกว่าให้กู้หรือเช่าดี แต่ถ้ามองในภาพรวมที่มีทรัพย์สินอื่นๆ นอกจากเงินแล้ว ถือว่าเป็นการให้เช่าน่าจะเข้าเค้ากว่าครับ

รายได้จากการให้เช่าสังหาริมทรัพย์มแบบนี้ต้องนำมาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และถ้าหากมีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ก็ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% อีกต่อหนึ่งด้วยครับ ซึ่งไม่รู้ว่าจะมีผลกับการเพิ่มราคาค่าเช่ากับลูกค้าด้วยหรือเปล่านะครับ อันนี้ก็ต้องติดตามกันดูต่อไปครับผม


จบความรู้เรื่องภาษีไปแล้ว ลองมามองกันต่อครับว่า ถ้าเอาตัวของเราออกมามองอยู่นอกเหตุการณ์นี้ หลายคนอาจจะมองว่า โหยยย ใครวะจะยอมจ่ายเงิน 250,000 บาทเพื่อเช่าเงินสิบล้านแค่วันเดียว สู้เอาที่ว่านี้ไปเริ่มต้นชีวิตหรือทริปฮันนีมูนจะดีกว่าไหม แต่อย่างที่ว่าแหละครับ เรื่องของเงินทองมันเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล และถ้าใครคิดว่าการจ่ายเงินก้อนนี้มันคุ้มค่าและไม่ทำให้ชีวิตเขาลำบาก มันก็อาจจะเป็นเรื่องของเขาที่เราไม่ควรจะยุ่งหรือเปล่า

ดังนั้น ในมุมของพรี่หนอมแล้ว เรื่องสินสอดจำนวนมากๆ หรือธุรกิจนี้ก็ไม่ใช่ปัญหาของสังคมไทย เท่ากับค่านิยมที่เรายังให้ความสำคัญกับเรื่องเงินแต่เพียงภายนอก เพราะถ้าหากคนส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องหนึ่งที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นภาษีสังคมตัวหนึ่งที่เห็นกัน มันก็อาจจะทำให้เรื่องเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นมา และทำให้เราเชื่อว่ารักกันได้อย่างสนิทใจ

ดังนั้น การจ่ายเงินเพื่อเช่าสินสอดสำหรับพรี่หนอมไม่ใช่เรื่องผิด แต่มันคือสิ่งที่ตอกย้ำทัศนคติของสังคมว่าเงินสำคัญกว่าทุกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องหน้าตาและภาพลักษณ์ และมันจะอยู่กันแบบนี้ไปอีกยาว

...ตราบเท่าที่เราพูดคำว่าเงินไม่สำคัญแต่ไม่เคยรู้สึกแบบนั้นจริงๆ