เห็นผมขึ้นต้นหัวข้อแบบนี้ ใครหลายคนคงกำลังคิดว่าจะมีดราม่าใช่ไหมครับ ขอยอมรับเลยครับว่ามีก็ไม่กลัว (แหะๆ) เพราะประเด็นวันนี้ต้องการจะพูดตรงๆเพื่อให้ใครหลายคนเข้าใจเรื่องการวางแผนภาษีด้วย RMF อีกสักครั้งหนึ่งครับ!!

RMF หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ คือ กองทุนรวมที่ทางรัฐสนับสนุนให้ประชาชนทุกคนมีการวางแผนออมเงินระยะยาว เพื่อจะได้มีเงินใช้หลังเกษียณ โดยมีผลตอบแทนแฝงคือสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ไม่มีการวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณของตัวเองนั่นเองครับ

ยิ่งจากข่าวล่าสุดก็ตอกย้ำประเด็นนี้ให้ชัดเจนจนถึงขนาดท่านนายกเองยังกล่าวเลยครับว่า เป็นห่วงคนไทยเหลือเกินที่ไม่เคยออมเงินไว้ใช้ในยามชรา (ที่มาข่าว คลิก) และผลสำรวจของคณะกรรมการปฏิรูประบบรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ระบุว่าคนไทยร้อยละ 90 ขาดการเตรียมตัวเพื่อการใช้ชีวิตวัยชรา (ที่มาผลสำรวจ)

เชื่อไหมครับว่า ทุกครั้งที่ผมไปบรรยายหรือเสวนาเรื่องภาษี  มักจะพบความจริงว่าคนส่วนใหญ่ให้ความสนใจในการซื้อ “LTF มากกว่า RMF” และคนที่ซื้อ RMF จะเป็นคนที่อายุประมาณ 40 ปลายๆ หรือ 50 ปีขึ้นไป และคิดจำนวนคนที่ซื้อเป็นสัดส่วนที่น้อยมากๆ เมื่อเปรียบเทียบกับ LTF

เมื่อผมถามคำถามต่อไปว่าทำไมถึงซื้อแต่ LTF แต่ไม่ซื้อ RMF ด้วยล่ะ หลายคนมักจะบอกเหตุผลว่า เพราะมันต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี เป็นระยะเวลานาน เงินปันผลก็ไม่มี อยากขายเอาเงินออกมาก็ไม่ได้ ถ้าถือไม่ครบอายุ 55 ปี เนื่องจากเงื่อนไขทางภาษีที่เยอะแยะมากมายดังนี้ครับ

“RMF นั้นมีเงื่อนไขว่า ต้องซื้อติดต่อกันทุกปี โดยซื้อรวมกันทั้งปีแล้วต้องไม่ต่ำกว่า 3% ของรายได้หรือ 5,000 บาท นอกจากนั้นยังต้องถือไว้เกินกว่า 5 ปี และมีอายุเกิน 55 ปี ถึงจะสามารถขายได้โดยไม่ผิดเงื่อนไข”

โอเค... ไม่เป็นไร แต่ต่อให้ทุกคนไม่ซื้อ RMF ก็คงมีการวางแผนเพื่อการเกษียณอยู่แล้วใช่ไหมล่ะครับ เลยไม่จำเป็นต้องสนใจผลประโยชน์ของการประหยัดภาษีเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ แต่คำตอบที่ได้ยินมาส่วนใหญ่ คือ ... ไม่มีครับ!!

มาถึงตรงนี้ ผมเลยตั้งใจเขียนบทความเพื่อเตือนสติว่า “เราทุกคนกำลังเข้าใจผิดเรื่อง RMF อยู่หรือเปล่าครับ?” และนี่คือเหตุผล 3 ข้อ ที่เราควรจะทำความเข้าใจ เคลียร์กันให้ชัดเสียก่อนว่า ... ทำไม RMF ถึงจำเป็นสำหรับเราครับ

3 เหตุผลที่เราทุกคนควรซื้อ RMF

1. คนทุกคนต้องมีการวางแผนเกษียณ

หนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่สุดของการเงิน คือ การวางแผนเกษียณเพื่อตัวของเราเองครับ และ RMF คือหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ในการวางแผนเกษียณนอกเหนือจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และที่สำคัญถ้าหากเราไม่มีทั้งสองกองทุนนี้ RMF ก็เป็นอีกเครื่องมือที่ดีมากๆ เลยครับ

2. RMF คือการสร้างวินัย

ปัญหาในการออมหรือลงทุนส่วนใหญ่นั้น เกิดจากการขาดวินัยของตัวเองครับ ซึ่งเงื่อนไข RMF ที่ใครหลายคนมองว่ายุ่งและทำได้ยากนั้น ถ้าเรามองกลับกันให้ดี มันคือการสร้างวินัยที่ดีในการลงทุนให้กับเราครับ และเอาเข้าจริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีสูงสุดก็ได้ แต่เราควรซื้อตามความเหมาะสมตามที่เราต้องการ ต่อให้ปีไหนไม่ไหวจริงๆ ก็สามารถซื้อเพียงขั้นต่ำ หรือ 5,000 บาทต่อปี หรือหักจาก 3% ของรายได้ ก็ได้ครับ

3. RMF เลือกลงทุนได้เหมือนกองทุนทั่วไป

LTF คือการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงเพราะมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไทยขั้นต่ำถึง 65% แต่ RMF นั้นมีสินทรัพย์หลายประเภทให้เราเลือกลงทุนเหมือนกองทุนปกติเลยครับ เราสามารถเลือกลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำๆอย่างกองทุนตลาดเงินไปจนถึงกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงอย่างหุ้น หรือแม้แต่สินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆก็มีให้เลือกมากมายครับ

3 ข้อนี้ คือเหตุผลที่คุณควรลงทุนใน RMF แต่เมื่อมาถึงตรงนี้ หลายๆ คนคงมีคำถามว่าแล้วเราควรจะลงทุนในกองทุนรวมแบบไหนดี เพื่อให้มีผลตอบแทนระยะยาวสูงสุด?

ถ้าตอบกันตรงๆ แบบไม่อ้อมค้อม สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างหุ้น น่าจะเป็นคำตอบที่ดีสำหรับการลงทุนระยะยาวใน RMF เพื่อวางแผนเกษียณใช่ไหมครับ แต่ความผันผวนของหุ้นก็คงทำให้ใครหลายคนกลัวเหลือเกิน วันนี้ผมเลยมีกองทุนหุ้นที่มีความผันผวนต่ำมาแนะนำให้ฟัง กองทุนนี้ชื่อว่า กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ T-LowBetaRMF นั่นเองครับ

ได้ยินคำว่า Beta หลายคนคงนึกถึงครีมทาสิวฝ้ายี่ห้อดัง หรือว่ากองทุน RMF กองนี้จะลงทุนในหุ้น Beta เอ่อ.. ไม่ใช่นะครับ คำว่า Beta ในที่นี้หมายถึง ตัวเลขเปรียบเทียบระหว่างความสัมพันธ์ของราคาหุ้นกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ โดยค่า Beta ที่เท่ากับ 1 จะหมายถึงหุ้นที่มีค่าความผันผวนเท่ากับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ เช่น ถ้าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวขึ้น 10% หุ้นตัวนี้ก็จะปรับตัวขึ้น 10% เท่ากันครับ ซึ่งค่า Beta เราจะสามารถหาดูได้จากหนังสือพิมพ์ เวปไซด์หุ้นต่างๆ หรือโปรแกรมดูหุ้นมากมาย

ถ้าหากหุ้นที่เราถือมีค่า Beta สูงก็แปลว่าค่าความผันผวนจะสูงมากๆ สมมติว่าหุ้น ABC มีค่า Beta ที่ 2 ถ้าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวขึ้น 10% หุ้นตัวนี้จะปรับตัวขึ้นถึง 20% และในทางกลับกันถ้าตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลง 10% หุ้นตัวนี้จะปรับตัวลงถึง 20% กันเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่เราควรรู้ไว้ก็คือ ค่า beta ของหุ้นแต่ละตัวเป็นการคำนวณจากข้อมูลในอดีตเท่านั้น ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาครับ เมื่อมีปัจจัยที่มีผลกระทบกับราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงไป และเพียงค่า Beta อย่างเดียวนั้นคงไม่ใช่ตัวชี้วัดที่จะบอกว่าหุ้นตัวนี้ดีหรือไม่ เราจึงต้องดูข้อมูลอื่นๆเปรียบเทียบเพื่อประกอบการตัดสินใจด้วยครับ

สำหรับกองทุน  T-LowBetaRMF นี้ จะคัดเลือกเฉพาะหุ้นที่มีค่า Beta ต่ำๆ (ต่ำกว่า 1) เท่านั้น ซึ่งออกแบบมาสำหรับคนที่ไม่ต้องการความผันผวนที่สูงมาก หรือนักลงทุนที่ต้องการหลีกเลี