‘ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งวางแผนได้ดีกว่า’

เพราะการวางแผนทางการเงิน ยิ่งทำล่วงหน้าไว้ ยิ่งทำให้เรารู้เส้นทางชีวิตของตัวเองชัดเจนขึ้นเพื่อไปถึงเป้าหมายทั้งระยะสั้น และระยะยาวระหว่างทางได้อย่างมั่นคง ‘ความรู้ทางการเงิน’ จึงเป็นสิ่งที่เราจะได้ใช้ไปตลอดชีวิตก็ว่าได้

ปัจจุบันมีหน่วยงานต่างๆ สถาบันการเงินมากมาย ได้ออกมาผลักดันส่งเสริมการปลูกฝังการเงินขั้นพื้นฐานให้กับเด็ก และเยาวชนอยู่บ่อยๆ ไปจนถึงภาครัฐเองก็ได้เพิ่มเรื่องการเงินเข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอนมากขึ้น เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักแนวคิดการบริหารเงินของตัวเองไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ และเห็นความสำคัญของมัน

ไม่เพียงแต่ในไทย แต่เรื่องการปลูกฝังความรู้ด้านการเงินตั้งแต่อายุยังน้อยนั้น เป็นที่พูดถึงกันไปทั่วโลกแล้ว เพราะอย่างในสหรัฐฯ เอง การสำรวจของ Ipsos เมื่อปี 2022 พบว่า 1 ใน 3 ของชาวอเมริกาไม่มีพื้นฐานด้านการเงินที่มากเพียงพอ และนำไปสู่ปัญหาทางการเงิน วันนี้ aomMONEY จึงได้สรุป 10 ทริกการเงินที่อยากให้รู้ตั้งแต่วันนี้ เพื่อสร้างชีวิตที่มั่นคงในแบบของเรา

💰 (1) ตั้งเป้าหมายในชีวิตที่สำคัญกับเราจริงๆ

การวางแผนในเรื่องอะไรก็ตาม จะต้องมีเป้าหมาย เชื่อว่าแต่ละคนล้วนมีความต้องการที่แตกต่างกันไป เป้าหมายในชีวิตจึงไม่เหมือนกัน สิ่งหนึ่งที่อยากแนะนำคือ เป้าหมายนั้นควรเป็นสิ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในด้านที่ดีขึ้นด้วย เช่น เรามีเงินเยอะขึ้น มีทักษะความรู้มากขึ้นเพื่อต่อยอดการเติบโตในอนาคตได้

💰 (2) ‘ดอกเบี้ยทบต้น’ คือเพื่อนที่ดีที่สุด

ดอกเบี้ยทบต้น (Compound Interest) คือ ดอกเบี้ย หรือกำไรที่ได้จากการลงทุน มาทบกับเงินต้นแล้วลงทุนต่อไปเรื่อยๆ ทุนเดิมที่มีจะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เรายิ่งได้ดอกเบี้ย หรือกำไรสูงขึ้นตามเงินต้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ Warren Buffett เองก็เห็นด้วยว่า ดอกเบี้ยทบต้นเป็นหนึ่งในวิธีที่ง่ายที่สุดในการสร้างความมั่งคั่ง โดยเราต้องรักษาเงินลงทุนไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมการเริ่มลงทุนโดยเร็วที่สุดจึงคุ้มค่า

💰 (3) อย่าประมาทกับเรื่องเงิน

เมื่อเราทำงานมีรายได้ เราย่อมมีเงินเก็บอยู่ก้อนหนึ่งกันบ้าง แต่คำแนะนำคือ คิดอยู่เสมอว่าเงินก้อนนี้ไม่พอให้ ‘ใช้อย่างประมาท’ เชื่อไหมว่าเงินที่เรามีสามารถหายไปในพริบตาได้ง่ายๆ หากเรายินยอมที่จะใช้จ่ายอย่างไม่จำเป็นอยู่บ่อยครั้ง การทำรายรับรายจ่ายเป็นหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้เรารู้ภาพรวมของเงิน และเริ่มคิดมากขึ้นว่าจะใช้เงินอย่างไรดี

💰 (4) ลองคุยกับคนรอบข้างเรื่องการบริหารเงิน

หลายคนอาจจะมองว่าเรื่องการบริหารเงินเป็นเรื่องเครียด และไม่เหมาะที่จะเป็นประเด็นในการคุยเล่นทั่วไป แต่ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เทคนิคการบริหารเงินนอกตำราที่เกิดจากการตกผลึกของแต่ละคนมาปรับใช้เข้ากับเงินของเราก็ได้

💰 (5) อย่า ‘ยอม’ อยู่ตลอด

ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เงินเดือน ค่าเช่า หรือเรื่องเล็กน้อยต่างๆ หลายครั้งที่เรายอมรับสิ่งที่ไม่สมควร เพราะไม่อยากมีปัญหากวนใจมากกว่าเดิม การเจรจาต่อรองด้วยเหตุผลคือสิ่งที่ควรทำ และจะทำให้เราได้สิ่งที่สมควรจะได้ อย่าคิดว่าเงินเล็กน้อย ยอมๆ กันไป หรือขี้เกียจตามเรื่องให้วุ่นวาย เพราะนั่นคือสิ่งที่เราควรจะได้ และเงินทุกบาทคือรากฐานของอนาคตทั้งสิ้น

💰 (6) หากไม่เข้าใจ ให้ ‘ถาม’

แม้บางครั้งเรื่องเงินจะดูเหมือนเข้าใจง่าย แค่ใช้จ่ายให้น้อยกว่ารายรับก็มีเงินเก็บแล้ว แต่การมีเงินเก็บอย่างเดียวอาจไม่พอให้ใช้จ่ายในอนาคตได้ เช่น ยามเกษียณ การศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ไม่ว่าจะด้วยตนเอง หรือถามผู้เชี่ยวชาญเป็นสิ่งที่อยากให้ลองพิจารณาทำดู

💰 (7) ผิดพลาดได้ แต่เรียนรู้จากมัน แล้วเดินต่อ

ทุกคนย่อมเคยทำผิดพลาด แม้แต่เศรษฐีระดับโลกก็เคยทำผิดพลาดจนหมดตัวมาแล้ว แต่ความผิดพลาดคือส่วนสำคัญของการเรียนรู้ สิ่งแรกที่อยากให้ลองทำคือ ‘ยอมรับกับตัวเอง’ ว่าเราได้ทำผิดพลาด และหาต้นตอของปัญหาเพื่อแก้ไข และป้องกันไม่ให้ผิดพลาดซ้ำในอนาคต

💰 (8) คนรอบข้างสนับสนุน ‘เป้าหมายทางการเงิน’ ของเรามากแค่ไหน?

อย่างที่ได้บอกไปว่าทุกคนล้วนมีเป้าหมายทางการเงินของตัวเอง แม้จะเป็นคนใกล้ตัวอย่าง สมาชิกครอบครัว คนรัก หรือเพื่อนสนิท ก็ไม่จำเป็นต้องมีเป้าหมายการเงินเดียวกัน การถูกกดดันให้ใช้เงินไปกับความคาดหวังของคนอื่นเรียกได้ว่าเป็นการ ‘เสียเวลาครั้งใหญ่’

💰 (9) งานอดิเรกในราคาประหยัด

แน่นอนว่าเราสามารถใช้เงินไปกับการซื้อความสุขได้ แต่ต้องมั่นใจด้วยว่าการใช้จ่ายครั้งนั้นจะไม่ย้อนกลับมาทำร้ายเราในภายหลัง ยิ่งสำหรับคนที่มีเป้าหมายทางการเงินที่ใหญ่กว่ารออยู่ข้างหน้า การใช้จ่ายในส่วนนี้อาจต้องคิดให้ถี่ถ้วนมากขึ้น

💰 (10) เงินไม่ใช่ปัจจัยหนึ่งเดียวของ ‘ความมั่งคั่งที่แท้จริง’

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน หรือแม้คนรวยหลายคนเองก็มองแบบเดียวกันว่า คนที่ร่ำรวยที่สุด ไม่ใช่คนที่มีเงินเดือนเยอะที่สุดเสมอไป แต่เป็นคนที่สามารถทำให้ตัวเองอยู่ในสถานะที่ไม่ต้องกังวลกับเรื่องเงินทองได้ และสิ่งที่ได้กลับมาคือ ‘เวลา’ ที่เอาไปทำอย่างอื่นเพื่อสร้างความสุขในชีวิต

เรียบเรียงโดย: ชลทิศ ทองไพจิตร