หลังจากคบหาดูใจกันมาสองปี เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ยูมิ เทมเปิล (Yumi Temple) วัย 28 ปี ตัดสินใจกับแฟนหนุ่ม แดเนียล (Daniel) ว่าจะหาอะพาร์ตเมนต์เล็กๆ สักแห่งในเมืองเดนเวอร์เพื่อย้ายเข้าไปอยู่ด้วยกัน เป็นการเริ่มต้นชีวิตคู่ที่จริงจังมากขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

เป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ของยูมิ เพราะนี่คือครั้งแรกที่เธอจะอาศัยอยู่กับคนอื่นๆ ในบ้านที่ไม่ได้มาจากครอบครัวของตัวเอง เพราะฉะนั้นจึงกังวลและมีเรื่องที่ต้องเรียนรู้ไม่น้อยเลยทีเดียว

ทั้งคู่ตัดสินใจเข้าพบผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ความแตกต่างในการใช้ชีวิต เป้าหมาย และวิธีการสื่อสารเพื่อให้ความสัมพันธ์ราบรื่นมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเธอทราบดีว่าแม้จะรักกันมากแค่ไหน การมีประเด็นทะเลาะเบาะแว้งกันสำหรับคู่รักเมื่ออยู่ด้วยกันเป็นเรื่องที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้

เธอบอกว่า “ฉันแค่อยากจะมีใครสักคนที่สามารถโทรหาได้เร็วๆ เพื่อจะช่วยเรากับปัญหาต่างๆ ที่ยังไงเราก็ต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

เรื่องนี้เข้าใจได้ ด้วยตัวมันเองการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งต้องปรับตัวให้อยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ๆ การใช้ชีวิตอยู่กับคนรักและกับการคบหาดูใจกันนั้นแตกต่างแบบเทียบกันไม่ได้เลย

พออยู่ด้วยกันจะเห็นทุกอย่างที่ทั้งดีและไม่ดี เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างความสะอาด เรียบร้อย หน้าที่การซักผ้าล้างจาน ถูบ้าน ซักผ้า หรือแม้แต่เรื่องอย่างการถอดถุงเท้าหรือการฉี่แล้วไม่ยกที่ฝาที่นั่งชักโครก ฯลฯ​ สิ่งเหล่านี้พร้อมกลายเป็นประเด็นได้เสมอ

นอกจากเรื่องการปรับตัวในการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่อ่อนไหวมากๆ และไม่คุยไม่ได้เลยก็คือเรื่องเงิน เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในความสัมพันธ์เลยทีเดียว มันเป็นเรื่องที่อ่อนไหวและบางคนก็ไม่อยากพูดถึงมัน

ระหว่างที่คบหาดูใจกันอาจจะไม่ได้มีความตึงเครียดอะไรมาก แต่พอมาอยู่บ้านเดียวกันแล้ว ความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจจะเกิดขึ้น ความเห็นที่ไม่ตรงกัน ภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ คำถามการเงินมากมายจะตามมาอย่างช่วยไม่ได้ การรับมือกับเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา และเปิดใจรับความแตกต่างระหว่างทั้งสองคนนั้นถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินแนะนำให้ลอง 3 อย่างนี้

1. ค่าใช้จ่ายไหนใครดูแลเท่าไหร่จัดการกันให้เรียบร้อย

วินน์ วิตแมน (Wynne Whitman) ผู้เขียนหนังสือ “Shacking Up : The Smart Girl’s Guide to Living in Sin Without Getting Burned.” บอกว่าบทสนทนาแรกก่อน (เน้นว่า ‘ก่อน’) จะตัดสินใจย้ายเข้าไปอยู่ด้วยกันคือเรื่องค่าใช้จ่ายไหนใครจะเป็นคนดูแล หรือแบ่งกันยังไง

เพราะการแบ่งค่าใช้จ่ายแบบ 50-50 ในบางสถานการณ์ก็ดูแฟร์ดี แต่ในหลายๆครั้งก็ต้องดูด้วยว่าสถานการณ์ของแต่ละฝ่ายนั้นเป็นยังไง

ยกตัวอย่างของยูมิที่เพิ่งลาออกจากงานและกำลังพยายามปั้นธุรกิจของตัวเอง รายได้ยังไม่สม่ำเสมอ ส่วนแดเนียลเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ อาชีพการงานและการเงินมั่นคงกว่าในเวลานี้ อาจจะต้องคุยกันว่า 40-60 ได้ไหม เพื่อไม่ให้หนักฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนเกินไป

อีกอย่างหนึ่งอย่าลืมว่าผู้หญิงแม้ตอนนี้จะมีสิทธิ์และเสียงในสังคมมากขึ้น แต่ข้อมูลก็บ่งชี้ชัดครับว่าโดยเฉลี่ยแล้วในอเมริกาผู้หญิงที่ทำงานในตำแหน่งเดียวกับผู้ชายและมีประสบการณ์ใกล้กันก็ยังได้เงินเดือนน้อยกว่าประมาณ 18% ด้วย

“ทุกอย่างต้อง 50-50 ไหม? มันควรเป็นแบบอื่นรึเปล่าถ้าฝั่งใดฝั่งหนึ่งหาเงินได้เยอะกว่า?” วิตแมนแนะนำ

การร่วมกันตัดสินใจก่อนที่จะย้ายเข้าไปอยู่ด้วยกันจะช่วยลดการทะเลาะและความเครียดให้น้อยลงด้วย

ส่วนในเรื่องของสัญญาเช่า คำแนะนำคือใครก็ตามที่อาศัยอยู่ที่นั่นต้องมีชื่ออยู่ในสัญญาเช่าทั้งหมด เพราะวิตแมนเชื่อว่า “ทั้งคู่จะรับผิดชอบเท่าๆ กันและมีสิทธิ์เท่าๆ กันด้วย”

สำหรับยูมิกับแดเนียล พวกเขาเลือกที่จะเช่าอะพาร์ตเมนต์ที่มี 3 ห้องนอน โดยมีรูมเมตมาแชร์ด้วยห้องหนึ่ง และแบ่งค่าเช่ากันตามขนาดของพื้นที่ห้องนอนของแต่ละคน

อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องคุยกันก่อนย้ายเข้าคือเรื่องย้ายออก (เอ๊ะ!)

ต้องมีการตกลงกันก่อนเลย (แม้จะไม่ค่อยสบายใจที่จะคุยกัน) ถ้าเลิกกันแล้วจะทำยังไง? จะย้ายออกทั้งคู่ไหม? ใครจะอยู่ ใครจะไป หรือแผนจะเป็นยังไง การวางแผนและคุยกันก่อนจะสร้างความสบายใจตรงนี้ได้

2. คุยเรื่องเงินอยู่เสมอ อย่าแค่คุยกับแฟนในหัวและอย่ารอให้สายเกินไป

วิตแมนเสนอว่าทำให้การคุยเรื่องการเงินเป็นสิ่งปกติเหมือนการทำความสะอาดห้องครัวหรือการดูดฝุ่นบ้านเลย

“ทำให้เรื่องการจัดการเงินกลายเป็นงานบ้านอย่างหนึ่ง” แจกแจงงานของแต่ละคนว่าต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง ค่าใช้จ่ายตรงไหนใครดูแล ต้องไปจัดการให้เรียบร้อย ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเน็ต ค่าส่วนกลาง หรือหนี้ต่างๆ ที่สร้างขึ้นมาระหว่างอยู่ด้วยกัน

โซเฟีย เบรา ไดเกิล (Sophia Bera Daigle) นักวางแผนการเงินผู้ก่อตั้งเว็บไซต์การวางแผนการเงินสำหรับ Gen Y ชื่อ ‘Gen Y Planning’ บอกว่าการไม่คุยกันเรื่องเงินจะนำมาซึ่งปัญหาในภายหลังได้ สร้างความเสี่ยงที่จะทะเลาะกันเพิ่มขึ้นด้วย สิ่งสำคัญของการอยู่ด้วยกันคือเรียนรู้เรื่องพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของแต่ละฝั่งด้วย

คำแนะนำอีกอย่างของวิตแมนคือเราไม่ควรคาดหวังให้อีกฝั่งเดาใจเราได้ การคุยกับแฟนในหัว มีปัญหาแล้วไม่ยอมพูด จังหวะที่ทะเลาะกันอาจจะใหญ่โตบานปลายจนสายเกินแก้แล้วก็ได้ เพราะฉะนั้นคุยกันบ่อยๆ เป้าหมายการเงินของแต่ละฝ่ายคืออะไร เรื่องเล็กเรื่องใหญ่ก็หยิบมาคุย

“ถ้าคนหนึ่งอยากเก็บเงินเพื่อซื้อบ้าน ส่วนอีกคนบอกว่าอยากจะใช้ทุกบาททุกสตางค์ มันจะปะทะกันเยอะอย่างแน่นอน” วิตแมนกล่าว

การออกเดตที่เรียกว่า “Money Dates” กับคู่รักสักเดือนละครั้งก็ถือว่าเป็นไอเดียที่ดีไดเกิลแนะนำ เป็นการไปนั่งทานข้าวคุยกันเรื่องปัญหาต่างๆ สิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ ความกังวลเรื่องการเงิน ความต้องการต่างๆ “ทำให้มันเป็นประเด็นที่คุยกันสบายๆแทนที่จะเป็นประเด็นต้องห้าม”

“แชร์มุมมองของคุณ ถามคำถาม คุยกันว่าอะไรคือสิ่งสำคัญหรือไม่สำคัญสำหรับคุณ” วิตแมนเสริม การรู้ว่าแต่ละคนผ่านอะไรมาบ้าง ชีวิตเคยเจอเรื่องร้ายๆ เกี่ยวกับการเงินรึเปล่า “ถ้าคุณเคยต้องเผชิญกับการอดอาหาร แชร์เรื่องนี้กับคู่รักของคุณด้วย” การคุยกันจะช่วยทำให้เราเข้าใจอีกฝั่งมากขึ้น ไม่ใช่แค่คิดไปเองอยู่ฝ่ายเดียว

3. ‘อย่าเพิ่งรีบ’ เอาเงินมารวมกัน

เราอาจจะเคยได้ยินนะครับว่าเมื่อใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน การเอาเงินมารวมกันจะช่วยทำให้คู่รักนั้นไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ด้วยกันได้เร็วขึ้น

แต่ว่าถ้าเพิ่งย้ายเข้าไปอยู่ด้วยกัน มันอาจจะเป็นเรื่องที่เร็วเกินไปสักหน่อยที่จะเอาเงินมารวมไว้ด้วยกัน ทุกอย่างมีเวลาที่เหมาะสม

วิตแมนแนะนำครับว่าสำหรับค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ควรมีบัญชีร่วมเล็กๆ สักบัญชีหนึ่งที่แต่ละคนก็เอาเงินมาเติมทุกเดือนตามที่กำหนดกันเอาไว้ในตอนแรก หรือถ้าไม่อยากเปิดบัญชีร่วมเลย ก็อาจจะโอนส่วนของตัวเองให้อีกฝ่ายไปจัดการจ่ายให้เลยก็ได้

การย้ายเข้าอยู่ด้วยกันเป็นเหมือนบททดสอบอย่างหนึ่งของคู่รัก ดูว่าเข้ากันได้ไหม ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันแล้วเป็นยังไง ความสัมพันธ์แข็งแกร่งพอที่จะทนแรงเสียดทาน คลื่นลมที่เข้ามาปะทะได้รึเปล่า เพราะยังไงก็จะเจอแน่นอนอยู่แล้วเหมือนที่ยูมิคิด

เบนจามิน ซีแมน (Benjamin Seaman) นักจิตบำบัดกล่าวกับประเด็นเรื่องการเริ่มต้นใช้ชีวิตด้วยกันของคู่รักว่า

“เอาการ์ดมาวางบนโต๊ะเลย ทำความเข้าใจว่าคุณอยู่ตรงไหนและกำลังจะไปที่ไหน ใช้โอกาสนี้เพื่อเรียนรู้เกี่ยวจุดด้อยและจุดแข็งของกันและกัน”

อย่างน้อยๆ ถ้ามันไม่เวิร์กตั้งแต่ตอนนี้ เข้ากันไม่ได้ก็แยกย้ายกันไปก็ยังดีกว่าตัดสินใจแต่งงานและมีครอบครัว มีลูกด้วยกัน ถึงตอนนั้นปัญหาอาจจะยุ่งเหยิงและแก้ไขลำบากแล้ว