ทุกวันนี้ตามหน้าโซเชียลจะมีโฆษณาของพวกมิจฉาชีพออกมาถี่มาก มากกว่าเพจที่เรากดไลค์ กดติดตาม เสียอีก แม้ว่าจะมีการเตือนจากหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน มิจฉาชีพก็ไม่กลัว กลับหลอกลวงหนักขึ้นไปอีก

ข้อมูลจากเว็บไซต์รับแจ้งความออนไลน์ www.ThaiPoliceOnline.com เผยสถิติผู้ร้องเรียนปัญหาภัยออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 – 21 มีนาคม 2566 มีคดีความออนไลน์กว่า 247,753 เรื่อง โดยแบ่งเป็นคดีออนไลน์ 224,001 เรื่อง คดีอาญาอื่นๆ 7,684 เรื่อง จำหน่ายออกจากระบบ 16,068 เรื่อง ขณะที่ผลการอายัดบัญชีที่มีคำร้องทั้งหมด 74,129 บัญชี มีการขออายัด 54,017 บัญชี ยอดเงิน 6,941 ล้านบาท และอายัดได้ทัน 449 ล้านบาท รวมมูลค่าความเสียหาย 32,083 ล้านบาท

อันดับ Top5 ประเภทความเสียหายที่ประชาชนถูกมิจฉาชีพหลอกลวงมากที่สุด ได้แก่

➡️หลอกลวงซื้อขายสินค้า จำนวน 75,307 ครั้ง คิดเป็น 33.62% ความเสียหาย 1,003 ล้านบาท
➡️หลอกให้โอนเงินเพื่อหารายได้จากการทำกิจกรรม จำนวน 30,753 ครั้ง คิดเป็น 13.73% ความเสียหาย 3,415 ล้านบาท
➡️หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน จำนวน 25,412 ครั้ง คิดเป็น 11.34% ความเสียหาย 1,058 ล้านบาท
➡️หลอกลวงทางโทรศัพท์เป็นขบวนการ (คอลเซ็นเตอร์) จำนวน 20,682 ครั้ง คิดเป็น 9.23% ความเสียหาย 3,601 ล้านบาท
➡️หลอกให้ลงทุน (ที่ไม่เข้าลักษณะฉ้อโกงประชาชน) จำนวน 16,742 ครั้ง คิดเป็น 7.47% ความเสียหาย 7,771 ล้านบาท

เหตุผลที่มิจฉาชีพเหิมเกริม ไม่กลัวกฎหมาย ก็คงเพราะประเมินผลตอบแทนกับความเสี่ยงแล้วคุ้ม โอกาสถูกจับเป็นไปได้ยาก หลายรายอยู่ต่างประเทศ เมื่อหลอกเงินได้ก็โอนไปต่างประเทศทันที แม้ว่าเราจะรีบอายัดบัญชีอย่างไรก็ไม่ทัน และแม้สามารถตรวจจับเจ้าของบัญชีได้ส่วนใหญ่ก็เป็นชาวบ้านที่รับเปิดบัญชีม้า อย่างข้อมูลที่ยกมา ยอดเงินขออายัด 6,941 ล้านบาท แต่อายัดได้ทันแค่ 449 ล้านบาทเท่านั้น

เมื่อถ้าพลาด ถูกหลอก โอกาสได้เงินคืนมีน้อย งั้นเรามาป้องกันตัวเองให้รู้ทัน ไม่ถูกหลอกดีกว่า จุดสังเกตุว่าน่าจะเป็นการหลอกลวง มีดังนี้

1. มิจฉาชีพจะหลอกลวงบน 3 เรื่องใหญ่ๆ

คือ ความกลัว ความโลภ และความไม่รู้ ตัวอย่างเช่น

🔎a. การหลอกบนความกลัว

เช่น หลอกว่าบัญชีเงินฝากของเราเกี่ยวพันกับการค้ายาเสพติดและการฟอกเงิน อย่างเช่น กรณีคุณต๋อง ศิษย์ฉ่อย โดนแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกเงินไป 3.2 ล้านบาท

🔎b. การหลอกบนความไม่รู้

โดยส่วนใหญ่มิจฉาชีพจะเล่นเรื่องที่อยู่ในกระแส อย่างเช่น หากเป็นช่วงที่ข่าวค่าไฟแพง มุขในการหลอกก็จะเป็น “การไฟฟ้าคืนค่าไฟ” หรือ ช่วงเสียภาษีเงินได้ มุขก็จะเป็น “สรรพากรคืนภาษี” ทำให้เราเข้าใจว่าเป็นเรื่องจริง ก็จะตกเป็นเหยื่อได้ง่าย

🔎c. การหลอกบนความโลภ

มีจุดที่พอสังเกตได้ดังนี้

i. มิจฉาชีพจะเล่นเรื่องที่อยู่ในกระแส ซับซ้อน เข้าใจยาก อย่างเช่น อัตราแลกเปลี่ยน คริปโตเคอร์เรนซี่ หุ้นกู้แปลงสภาพ ฯลฯ คนที่ไม่รู้ หรือไม่เข้าใจการลงทุนก็จะถูกหลอกได้ง่าย

ii. เสนอผลตอบแทนสูงๆ แบบการันตีประมาณว่า 6% - 9%/เดือน หรือเท่ากับ 72% - 108%/ปี ส่วนใหญ่จะมีกราฟราคาหุ้น กราฟอัตราแลกเปลี่ยน หรือ กราฟราคาคริปโตเคอร์เรนซี่ และบอกว่าได้กำไรมากี่เปอร์เซนต์แล้ว การพูดข้อมูลในอดีตว่า ซื้อตอนไหน ขายตอนไหน ได้กำไรเท่าไหร่ ใครๆก็พูดได้ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้ว เจออย่างนี้ท่องไว้เลยนะ “อะไรก็ตามที่เหลือเชื่อ คือ เหลือเชื่อ” จุดสังเกต คือ เราลองคิดถึงความเป็นไปได้

📈 กลไกในการลงทุนที่การันตีผลตอบแทน ไม่ชัดเจน มักจะอ้างว่าในระบบ AI ในการลงทุน เราอาจทดสอบด้วยการให้เขาลงทุนโดยไม่ต้องใช้เงินจริงก่อนซัก 1 เดือนก่อนก็ได้ ว่าได้ผลตอบแทนตามที่พูดจริงหรือไม่

📈 ถ้าการลงทุนนี้ดีจริงขนาดนั้น คงไม่เงียบๆอย่างนี้ พวกเศรษฐีคงลงทุนกันไปหมดแล้ว ตลาดหุ้นทั่วโลกคงจะเจ๊งกันหมด ไม่มีใครเล่น ก็ขนาดกูรูการลงทุนของโลกอย่าง Warren Buffette ยังทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้เพียง 20%/ปีเท่านั้น แถมยังเสี่ยงบางปีขาดทุนอีก จะเสี่ยงขาดทุน

📈 ถ้ากำไรดีขนาดนั้น เสียเวลามาชวนเราทำไม ลงทุนเอง รวยเร็วกว่าตั้งเยอะ

📈 แต่ปัจจุบัน เมื่อรู้ว่าเสนอผลตอบแทนสูงๆ คนรู้ทัน มิจฉาชีพก็เริ่มเสนอผลตอบแทนสูงในระดับที่เป็นไปได้ อย่างเช่น 10% - 15%/ปี ทำให้การ์ดเราตก เราจึงต้องใช้เครื่องมืออย่างอื่นในการตรวจสอบต่อไป ดังนี้

iii. ตอนมาเสนอให้เราลงทุน มิจฉาชีพจะมีเอกสารอ้างอิงที่มีความน่าเชื่อถือ อย่างเช่น ใบจดทะเบี่ยนพาณิชย์ หรือองค์กรการลงทุนต่างประเทศ แต่เวลาให้เราโอนเงินจะให้เราโอนเงินเข้าบัญชีบุคคล เจอให้เราโอนเข้าบัญชีบุคคลเมื่อไหร่ ให้นึกไว้ก่อนเลยว่า “โกง” เพราะส่วนใหญ่จะเป็น “บัญชีม้า”

2. กระบวนการในการหลอกลงทุน

🔎a. จะสร้างความน่าเชื่อถือ (Social Proof)

อย่างเช่น

i. อ้างอิงผู้เชี่ยวชาญ ถ้าเป็นเรื่องการลงทุน ก็จะอ้างอิงผู้มีชื่อเสียงด้านการลงทุน อย่างเช่น เซียนหุ้น ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน

ii. อ้างอิงสถาบันที่น่าเชื่อถือ อย่างเช่น ตลาดหลักทรัพย์ฯ, คปภ.

iii. อ้างอิงตำแหน่งทางสังคม อย่างเช่น ถ้าหลอกว่าบัญชีเราเกี่ยวพันกับยาเสพติด มิจฉาชีพก็จะอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือ ถ้าเกี่ยวกับเรื่องภาษี ก็จะอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากร ถ้าเป็นการลงทุน ก็จะอ้างเป็นผู้จัดการกองทุน เป็นต้น

iv. หลอกว่าการลงทุนนี้ได้รับความสนใจมาก โดยการสร้างยอดไลค์จำนวนมากๆ ให้หน้าม้าคอมเม้นต์ทำนองว่า “สนใจ” มากๆ หรือ อาจชวนเราเข้ากลุ่มไลน์ที่มีหน้าม้าปลอมเป็นสมาชิกลงทุนเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ

v. อ้างอิงบุคคลน่าเชื่อถือในสังคมว่าสนใจลงทุน อย่างเช่น อ้างอิงว่ามี หมอ ดารา นักร้อง ทนาย ฯลฯ ร่วมลงทุนด้วย

🔎b. มักจะให้เราเริ่มลงทุนน้อยๆก่อน

เพราะมิจฉาชีพรู้ว่า หากเป็นเงินน้อยๆ เรามักจะยอมเสี่ยงที่จะลงทุน เพราะคิดว่าหากเป็นการหลอกลวง ก็เจ็บตัวไม่มาก โดยช่วงแรกจะให้ผลตอบแทนตามที่พูดไว้ เพื่อให้เราเชื่อว่าเป็นการลงทุนจริง และชักชวนให้เราเพิ่มเงินลงทุนมากขึ้น แต่เมื่อเราเพิ่มเงินลงทุน ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้ ก็เริ่มไม่ได้ล่ะ จะอ้างว่า ยังทำกิจกรรมไม่ครบบ้าง หรือ ลงทุนยังไม่ครบตามเงื่อนไข ฯลฯ เมื่อเราอยากถอนเงินคืน ก็ถอนไม่ได้ ต้องเพิ่มเงินถึงเกณฑ์ก่อน ตอนนี้คนที่ถูกหลอกหลายคน ก็มักจะลังเล จะไม่ลงทุนเพิ่ม ก็เสียดายเงินที่ลงทุน (เพราะลงทุนเพิ่มจนเป็นเงินก้อนใหญ่แล้ว) แต่ถ้าจะลงทุนเพิ่ม ก็กลัวจะเสียงเงินเพิ่ม

🔎c. มิจฉาชีพจะเร่งรัดการตัดสินใจ

อย่างเช่น หากไม่โอนเงินภายใน 1 ทุ่ม ถือว่าปฏิบัติภารกิจไม่สำเร็จ เงินที่ลงทุนไปแล้วจะไม่ได้คืน ยิ่งถูกเร่งรัดมากเท่าไหร่ การหาข้อมูล การไตร่ตรองจะยิ่งน้อยลงมากเท่านั้น การถูกหลอกก็จะยิ่งง่ายขึ้น แต่หากถูกหลอกไปแล้วล่ะ จะต้องทำอย่างไรบ้าง

📌ธนาคารแห่งประเทศไทยให้คำแนะนำ ดังนี้

➡️• ตั้งสติ และหยุดการติดต่อกับมิจฉาชีพทันที
➡️• ให้รีบติดต่อสถาบันการเงินที่ใช้บริการทันที ผ่านช่องทาง call center hotline ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสาขาภายในเวลาทำการ เพื่อระงับธุรกรรมหรือบัญชีชั่วคราวของผู้เสียหายและบัญชีปลายทาง
➡️• แจ้งความอย่างรวดเร็วภายใน 72 ชั่วโมงผ่านเว็บไซต์ Thaipoliceonline.com ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสถานีตำรวจ เพื่อให้ตำรวจแจ้งสถาบันการเงินขยายระยะเวลาการระงับธุรกรรมหรือบัญชีต่ออีก 7 วัน เพื่อสืบสวน สอบสวนและออกหมายอายัดบัญชีต่อไป

แต่อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่กฎหมายยังไม่สามารถจัดการกับมิจฉาชีพได้อย่างเด็ดขาด เราก็ต้องป้องกันตัวเอง ติดตามข้อมูล ข่าวสาร เพื่อให้ทันวิวัฒนาการของมิจฉาชีพอย่างสม่ำเสมอ และหากมีข้อสงสัย ไม่แน่ใจว่า เป็นการหลอกลวงหรือไม่ ลองติดต่อ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร 1213 หรือที่ https://www.bot.or.th/th/helps-complaints/about-fcc.html