‘สิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจ’ คำกล่าวที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ผลสำรวจจาก The Deloitte Global 2022 ที่ไปสอบถามกลุ่มตัวอย่าง เป็น คน Gen Y และ Gen Z จำนวนกว่า 23,220 คนทั่วโลก ซึ่งเป็นมนุษย์เงินเดือน ในจำนวนนี้มี คนไทย 300 คนรวมอยู่ด้วย พบว่า เกินครึ่งของกลุ่มตัวอย่าง ใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือน และต่างกังวลว่าจะไม่มีเงินไปจ่ายบิลตอนสิ้นเดือน

คุณอาจจะรู้สึกว่ามันก็ไม่ได้แปลกอะไรหรอก เมื่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น รายได้ที่ไม่ได้ขึ้นตามมา ช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสังคมนับวันยิ่งกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้แต่คนที่มีเงินเดือนสูง ๆ ตอนนี้ก็ประสบปัญหาเดือนชนเดือนมากขึ้นเช่นกัน (อาจจะไม่ได้มากเท่ากับคนที่มีรายได้น้อย)

มีแบบสำรวจอีกชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจในปี 2020 ในอเมริกาที่พบว่าคนที่รายได้น้อย (ราว 15,000 เหรียญ/ปี) ประมาณ 40% เงินจะหมดก่อนสิ้นเดือน และที่น่าสนใจคือกลุ่มคนที่มีรายได้สูง (ราว 200,000 เหรียญ/ปี) ก็เงินหมดก่อนสิ้นเดือนกว่า 32% เลยทีเดียว

สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าคนที่เงินเดือนเยอะ ๆ ก็ใช้เงินแบบเดือนชนเดือนแทบไม่ต่างจากคนเงินเดือนน้อย ๆ เลย เพราะฉะนั้นรายได้อาจจะไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทำให้เราถังแตกก่อนสิ้นเดือน เหตุผลมันอาจจะไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขในบัญชี แต่อยู่ที่สมองและพฤติกรรมการใช้จ่ายของเรามากกว่า

ลองมาดู 3 เหตุผลที่ทำให้เราชักหน้าไม่ถึงหลัง กลายเป็นผู้ถูกเลือกให้ผิดหวังทางด้านการเงินอยู่ร่ำไป ไม่ว่ารายได้ของคุณจะมากหรือน้อยแค่ไหนกันดีกว่า

1. คุณประเมินความฉลาดเรื่องการเงินของตัวเองสูงเกินไป

คุณคิดว่าตัวเองมีทักษะความรู้ในเรื่องการเงินมากแค่ไหน? ระหว่าง 1 (น้อยที่สุด) และ 6 (มากที่สุด)

หลังจากให้คะแนนตัวเองเรียบร้อยแล้ว ลองตอบคำถาม 6 ข้อข้างล่างนี้ครับ (ห้ามถามคนอื่นหรือใช้อากู๋ช่วยนะครับ)

1️⃣ ถ้าคุณมีเงินในบัญชี 100 บาท และได้ดอกเบี้ย 2% ต่อปี หลังจาก 5 ปีผ่านไปคุณจะมีเงินกี่บาท?

ก. มากกว่า 102 บาท
ข. น้อยกว่า 102 บาท
ค. 102 บาท พอดี

2️⃣ ให้จินตนาการว่าดอกเบี้ยสำหรับบัญชีสะสมทรัพย์คือ 1% ต่อปี และค่าเงินเฟ้อคือ 2% ต่อปี หลังจากเวลาผ่านไปหนึ่งปี เงินที่มีอยู่ในบัญชีจะสามารถซื้อของได้มากกว่าวันนี้, เท่ากับวันนี้ หรือ น้อยกว่าวันนี้

ก. มากกว่า
ข. เท่ากับ
ค. น้อยกว่า

3️⃣ ถ้าดอกเบี้ยขึ้น ส่วนใหญ่แล้วจะราคาตราสารหนี้จะเป็นยังไง

ก. ขึ้น
ข. ลง
ค. เท่า ๆ เดิม
ง. มันเกี่ยวกันด้วยเหรอ?

4️⃣ สินเชื่อบ้านแบบ 15 ปีนั้นส่วนใหญ่รายเดือนจะสูงกว่าสินเชื่อบ้านแบบ 30 ปี แต่โดยรวมแล้วดอกเบี้ยที่จ่ายตลอดอายุสินเชื่อนั้นจะถูกกว่า?

ก.จริง
ข. ไม่จริง

5️⃣ การซื้อหุ้นของบริษัทเดียวมักให้ผลตอบแทนที่ปลอดภัยกว่ากองทุนรวมหุ้น?

ก. จริง
ข. ไม่จริง

6️⃣ สมมุติว่าคุณไปกู้หนี้มา 1,000 บาท และดอกเบี้ยต่อปีคือ 20% ทบต้นทุกปี ถ้าเราไม่จ่ายอะไรเลย เงินที่กู้มาจะเพิ่มเป็นสองเท่าในเวลากี่ปี?

ก. น้อยกว่า 2 ปี
ข. 2-4 ปี
ค. 5-9 ปี
ง. 10 ปีขึ้นไป

ตอนนี้ลองดูว่าตอบถูกกี่ข้อนะครับ 1=ก, 2=ค, 3=ข, 4=ก, 5=ข และ 6=ข ให้คะแนนตัวเองข้อละ 1 คะแนนครับ

คนมากกว่า 71% จะคิดว่าตัวเองนั้นมีทักษะความรู้เกี่ยวกับการเงินสูงมาก แต่พอตอบคำถาม 6 ข้อตรงนี้มีเพียง 1/3 เท่านั้นที่ตอบถูกหมดทุกข้อ ซึ่งทำให้เห็นว่าเราประเมินความฉลาดเรื่องการเงินของตัวเองสูงเกินไป

อันนี้เป็นเรื่องปกติครับ มันเป็นภาวะที่เรียกว่า “Dunning-Kruger Effect” คนที่ไม่รู้อะไรเลยมักจะประเมินความสามารถตัวเองสูงเกินไป ซึ่งไม่ว่าจะเรื่องไหนในชีวิต ทุกคนสามารถประสบเจอกับปัญหานี้ได้เช่นเดียวกัน ไม่เว้นเรื่องเงินด้วย บางทีเราคิดว่าเรารู้ดี แต่ที่จริงแล้วอาจจะไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้

2. เราไม่รู้ว่าเงินไปอยู่ไหนหมด

เวลาประสบปัญหาเรื่องเงิน คนมักจะคิดถึงวิธีหาเงินให้มากขึ้น ถ้ามีเงินมากขึ้นปัญหาก็หมดไปเองแหละ ซึ่งนั่นก็ถูกเพียงครึ่งเดียว เหมือนเราพยายามวิดน้ำเข้าถังที่มีรูรั่ว บางทีวิดเข้าไปเท่าไหร่ มันเต็มได้ยาก และเต็มได้ไม่นานก็หายไปอีกแล้ว

การหาเงินเพิ่มขึ้น ทำงานเสริม หรืออะไรต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ดีครับ แต่มันจะดีกว่าถ้าเราสามารถตัดค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ ก่อนจะรีบวิ่งออกไปทำงานหาเงินให้มากขึ้นจะดีกว่า

เพื่อจะตัดค่าใช้จ่าย เราก็ต้องรู้ว่าเงินไปอยู่ที่ไหน นั่นก็หมายความถึงการทำบัญชีรายรับรายจ่าย จดเงินเข้าเงินออก เพื่อที่จะได้เห็นว่าเงินไปอยู่ตรงไหนบ้าง แล้วหลังจากนั้นก็ทำงบการเงินของตัวเองในแต่ละเดือน ว่าจะใช้จ่ายอะไรตรงไหนได้เท่าไหร่ ทำอย่างต่อเนื่องแล้วมันจะเห็นเลยว่ารูรั่วมันไปอยู่ตรงไหน แล้วเราจะตัดส่วนไหนที่ไม่จำเป็นออกไปได้บ้าง

เริ่มแบบนี้ก็ได้ครับ สมมุติว่าอยากจะประหยัดเงินสัก 1,000 บาทเดือน ก็ทำบัญชีก่อนว่าเดือนที่ผ่านมาเงินเข้าเงินออกไปตรงไหนเท่าไหร่บ้าง ใช้สูตร 50/30/20 เพื่อจัดแบ่งหมวดหมู่ของรายจ่ายที่จ่ายไปด้วย

50% ของรายได้สำหรับสิ่งที่จำเป็น (ค่าเช่าบ้าน, ค่าน้ำ, ค่าไฟ, อินเทอร์เน็ต ฯลฯ)

30% ของที่อยากได้ (สมาชิก Netflix, Disney+, ค่าสมาชิกยิมที่ไม่เคยใช้, ค่ากินข้าวนอกบ้าน ฯลฯ)

20% เก็บออม/จ่ายหนี้ (เงินฉุกเฉิน, ลงทุน จ่ายหนี้)

ถ้าจัดรายจ่ายทุกอย่างแล้วมันขาดเกินตรงไหนก็ต้องเริ่มปรับ ดูว่าเงินตรงไหนตัดได้บ้าง กาแฟเปลี่ยนร้านที่ถูกลงได้ไหม? กินข้าวนอกบ้านจำเป็นต้องทุกวันรึเปล่า? หรือสมาชิกยิมถ้าไม่ได้ใช้ก็ตัดก่อนก็ได้?​ พวกสตรีมมิ่งทั้งหลายถ้าเหลืออันเดียวพอไหม? ค่าเน็ตใช้แพลนที่ต่ำลงมาหน่อยได้รึเปล่า? ฯลฯ สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นเงินเล็ก ๆ ในตัวมันเอง แต่พอรวมกันแล้วเยอะไม่น้อยเลยทีเดียวต่อเดือน อาจจะประหยัดมากกว่า 1,000 บาท ด้วยซ้ำ

3. แรงกดดันทางสังคมและการเปรียบเทียบกับคนอื่น ๆ (บนโซเชียล)

เราทราบดีว่าโซเชียลมีเดียนั้นส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของเราอย่างมากโดยที่ไม่รู้ตัว เราถูกกดดันจากคนรอบตัวที่ประสบความสำเร็จ (จริงบ้างไม่จริงบ้าง) เห็นคนนั้นไปเที่ยวยุโรป คนนี้ออกรถป้ายแดง คนนั้นทำธุรกิจร้อยล้าน คนนู้นสร้างบ้านใหม่พร้อมสระว่ายน้ำ ฯลฯ​ เราเห็นชีวิตคนอื่นที่สวยงาม (จริงบ้างไม่จริงบ้าง) ก็เริ่มเปรียบเทียบกับชีวิตของตัวเอง

จากที่มีความสุขดี พอเห็นคนอื่นมีความสุข ตัวเองกลับทุกข์เพราะดูเหมือนสุขไม่เท่าคนอื่นซะงั้น

การเปรียบเทียบคือโจรขโมยความสุขตัวฉกาจ เพราะเราไม่มีทางเอาชนะมันได้เลย

มีการทำแบบทดสอบครั้งหนึ่งที่พบว่า 90% ของ Gen Y บอกว่าการใช้โซเชียลมีเดียเหมือนเป็นการบังคับให้พวกเขาเปรียบเทียบความร่ำรวยและไลฟ์สไตล์กับคนอื่น ๆ ที่รู้จัก (Gen X บอก 71% และ Boomer บอก 54%) และแบบทดสอบอีกชิ้นก็พบว่า 57 ของ Gen Y นั้นซื้อของแบบ ‘ที่ไม่ได้วางแผนเอาไว้’ เพราะสิ่งที่เห็นบนโซเชียลมีเดียด้วย

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำว่า FOMO (Fear of Missing Out) มาแล้ว อาการของความรู้สึกที่ไม่อยากพลาดอะไรใหม่ ๆ หรือสิ่งที่เป็นเทรนด์ในเวลานั้นเพราะกลัวจะตามคนอื่นไม่ทัน

ที่จริงแล้วเรื่องนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วในช่วงที่เริ่มมีโทรทัศน์ ช่วงแรก ๆ ตอนที่ยังไม่มีการขายกันอย่างกว้างขวาง บางเมืองมี บางเมืองไม่มี ปรากฏว่าเมืองไหนที่คนชั้นกลางที่สามารถซื้อโทรทัศน์มาดูได้ ก็จะเห็นภาพอันสวยงามอันสมบูรณ์แบบของคนที่มีเงิน กลายเป็นว่าคนที่มีทีวีเริ่มรู้สึกเศร้าและไม่มีความสุขกับชีวิต แต่สำหรับในเมืองที่ยังไม่มีทีวี คนชนชั้นกลางก็มีความสุขดีตามปกติ

กลุ่มที่มีทีวีที่บ้านรู้สึกว่าตัวเองขาดตกบกพร่องในชีวิต ไม่มีสิ่งที่ ‘ควรมี’ หรือ ‘ควรได้’ เมื่อเปรียบเทียบกับภาพที่ฉายบนทีวี ไม่เกี่ยวกับเรื่องฐานะทางบ้านหรือระดับรายได้เลย แต่เป็นการเปรียบเทียบชีวิตของตัวเองในตอนนั้นกับสิ่งที่เห็นเท่านั้น

ซึ่งนี่ก็คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันเช่นเดียวกัน การเสพสื่อเยอะ ๆ ทำให้รู้สึกพึงพอใจในชีวิตลดลง ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้รู้สึกอะไร วิธีหนึ่งที่จะช่วยตรงนี้ได้คือการกลับไปยังข้อที่สองแล้วถามตัวเองก่อนจะซื้อว่า

“นี่คือสิ่งที่จำเป็นหรือแค่อยากได้?” (ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นอย่างหลัง)

แล้วถ้าถามแล้วยังอยากได้อยู่ทำยังไง?​ ให้รอวันสองวันเพื่อตัดสินใจอีกทีครับ เพราะอาการ FOMO จะเริ่มหายไปแล้ว สติจะกลับมามากขึ้น สุดท้ายอย่าลืมว่าเบื้องหลังภาพสวย ๆ บนโซเชียลมีเดียของคนอื่น อาจจะแอบซ่อนบางอย่างที่ไม่สวยงาม (หนี้ ภาระ ความรับผิดชอบ ความรู้สึกกังวลใจ ความเครียด ปัญหาสุขภาพ ครอบครัว สภาพจิต ฯลฯ) อยู่ก็ได้

เรารู้ว่าภาพในอินสตาแกรมเขาสวยก็จริง แต่เงินในบัญชีเขาสวยรึเปล่า? เราไม่รู้หรอก

แทนที่จะพยายามเลียนแบบชีวิตของคนอื่น ให้กลับมาโฟกัสกับสิ่งที่มอบคุณค่าให้กับตัวเองดีกว่า หรือถ้าไม่รู้ว่าจะเริ่มตรงไหน อยากหาตัวอย่างที่ดีในการใช้ชีวิตแบบมัธยัสถ์ ก็ลองตามอินฟลูเอนเซอร์ที่มีไลฟสไตล์แบบนั้นก็ได้เช่นกัน