สวัสดีครับ พบกับ @TAXBugnoms กันอีกครั้งครับ อย่าแปลกใจที่ช่วงนี้เขียนแต่บทความภาษีรัวๆ เนื่องจากเข้าใกล้สิ้นปีแล้วครับ เราก็ต้องวางแผนภาษีกันอย่างถูกต้องสักหน่อย กับบทความล่าสุดตอนนี้ 4 ขั้นตอนวางแผนตัดภาษีที่ทุกคนต้องทำก่อนสิ้นปี นั่นเองงงงง (โปรดอ่านแบบใส่ฟิลลิ่งด้วยนะครับ แฮร่)

โดยคำถามที่ได้รับในช่วงนี้มักจะถามกันมาว่า ซื้อกองทุนไหนดี ซื้อนู่นนั่นนี่ เพื่อประหยัดภาษีดีไหม แต่อย่างที่ผมเคยย้ำไปในหลายๆบทความครับว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการประหยัดภาษี คือ การเลือกจุดประสงค์ในการลงทุนของเราให้ถูกต้องเสียก่อนว่าเราต้องการอะไรเป็นลำดับแรก และค่อยนำไปใช้ลดหย่อนภาษีเป็นลำดับรองลงมา

ดังนั้น.. บทความในตอนนี้เลยเป็นการทบทวนกันอีกทีในช่วงโค้งสุดท้ายแบบท้ายสุด ว่าเราควรจะวางแผนเพื่อ “ตัด” ภาษีที่เราต้องจ่ายกันอย่างไร โดยเน้นไปที่หลักการคิดที่ถูกต้องกันเสียก่อนครับ เอาล่ะ เรามาดูกันเลยคร้าบ

1. คำนวณภาษีให้ถูกต้องก่อน

ถึงแม้ว่าไม่อยากจะบอก แต่ก็คงต้องบอกกันครับว่า ปัญหาแรกที่เกิดขึ้นนั้น คือการที่เราทุกคนคำนวณภาษีตัวเองไม่เป็น หรือคำนวณไม่ถูกต้อง ดังนั้นสิ่งแรกที่เราต้องรู้คือวิธีการคำนวณภาษีที่ถูกต้อง (อ่านได้ในซีรีย์ ภาษีง๊ายยง่ายย ทั้ง 3 ตอนนะครับ) หลังจากนั้นลองไล่เรียงรายการแต่ละรายการออกมาดังนี้ครับ

1. เงินได้ทั้งปี ของเรามีจำนวนเท่าไร ลองแยกรายการออกดูเป็นทีละตัวเลยครับว่า เรามีเงินได้ที่ต้องเสียภาษี เงินได้ที่ยกเว้นภาษี และเงินได้ที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษี แบบไหนยังไงบ้าง

2. เงินได้แต่ละประเภทของเรานั้น หักค่าใช้จ่ายได้เท่าไร หลังจากนั้นแยกออกตามประเภทเงินได้ทั้ง 8 ประเภทเพื่อดูว่าเราสามารถหักค่าใช้จ่ายได้เท่าไร โดยแยกออกเป็น ค่าใช้จ่ายแบบเหมา เปรียบเทียบกับ ค่าใช้จ่ายตามจริง ที่มีเอกสารหลักฐานครบถ้วน แล้วเลือกตามความสะดวกได้เลยคร้าบ

3. เรามีค่าลดหย่อนอะไรบ้างที่ใช้ลดหย่อนได้บ้าง โดยเพื่อนๆพี่ๆน้องๆ สามารถสำรวจรายการค่าลดหย่อนทั้งหมดได้จากบทความ 14 รายการลดหย่อนภาษีสำหรับมนุษย์เงินเดือน ครับ

เมื่อคำนวณทั้ง 3 ขั้นตอนออกมา เราจะรู้ว่าสุดท้ายแล้ว “เงินได้สุทธิ” ของเรานั้นอยู่ในฐานที่ต้องเสียภาษีฐานไหน สมมุติว่าคำนวณออกมาทุกอย่างแล้ว เงินได้สุทธิของเราออกมาที่ 500,000 บาท ซึ่งแปลว่ายอดภาษีที่เราต้องเสียก็คือ 27,500 บาท

2. วางแผนลดหย่อนจากฐานภาษีที่เสีย

หลังจากที่รู้ว่า เงินได้สุทธิของตัวเองอยู่ในฐานภาษีไหนตามอัตราภาษีเงินได้แล้ว เรามาวางแผนกันต่อเพื่อที่จะลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมได้อย่างถูกต้องตามความต้องการของเราครับ โดยผมแนะนำให้คำนึงถึง 2 ประเด็นนี้ก่อนครับ

สภาพคล่องของเรา

เนื่องจากเงินได้สุทธิในการคำนวณภาษีของเรานั้น ไม่ใช่เงินได้ของเราจริงๆ ดังนั้นเราต้องตรวจสอบเงินคงเหลือของเราก่อนว่า เรามีเงินและความสามารถเพียงพอในการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมเท่าไร โดยที่ไม่ต้องลำบากชีวิต เพราะการลดหย่อนภาษีบางราย อย่างเช่น RMF หรือ ประกันชีวิตนั้น ต้องมีการซื้อติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี ดังนั้นต้องสำรวจสภาพคล่องและความพร้อมของเราในการลดภาษีด้วยครับ

ความต้องการและจุดประสงค์

อย่างที่เน้นย้ำแต่แรกครับว่า ให้ดูจุดประสงค์แต่ละตัวเป็นหลักมากกว่าความต้องการในการลดหย่อนภาษี ดังนั้นเราต้องตอบคำถามตัวเองให้ดีก่อนครับว่า เราต้องการอะไรบ้างในการลงทุนหรือออมเงินของเราครับ

เมื่อคิดได้แล้ว ทางเลือกในการพิจารณาของเราเมื่อดูจากอัตราภาษีที่ต้องเสีย มักจะใช้วิธีเลือกอยู่ 2 ทาง คือ การ เลือกลดภาษีฐานสูงสุด และ การ เลือกลดภาษีในจำนวนมากที่สุด

โดยการเลือกลดภาษีฐานสูงสุดนั้น เพื่อประหยัดภาษีในฐานสูงสุดที่เราต้องเสีย อย่างเช่นจากตัวอย่าง ฐานสูงสุดที่เราต้องเสียคือ 10% นั่นคือทุกๆ 1 บาทที่เราลงทุนลดหย่อนภาษีไปนั้นจะประหยัดภาษีได้ทันที 0.10 บาท ถ้าเลือกวิธีนี้ก็คือการขยับฐานให้ตัวเองเสียน้อยลงก็เพียงพอแล้ว เช่นลดจาก 10% ให้เหลือ 5%

ส่วนการ เลือกลดภาษีจำนวนมากที่สุด นั้น คือการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเพื่อประหยัดภาษีให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยไม่สนใจเรื่องของการขยับฐานภาษีลงเท่าไรครับ

โดยปกติแล้วการซื้อควรจะซื้อให้ครบฐานที่สูงสุดก่อนเพื่อประหยัดภาษีตามข้อ 1 แล้วค่อยดูว่าสามารถประหยัดภาษีได้มากกว่านั้นหรือไม่ ถ้าเงินเหลือและคิดว่าไหวก็จัดไปเลยคร้าบ

3. ทบทวนการคำนวณใหม่

เมื่อเรียบร้อยแล้วลองคำนวณซ้ำอีกทีหนึ่งครับ ว่าเป็นไปตามผลที่เราต้องการในการประหยัดภาษีหรือเปล่า ในขั้นตอนนี้คือการทบทวนคิดคำนวณอีกครั้งว่า มีจุดไหนขาดตกบกพร่อง หรือลดหย่อนภาษีได้เพิ่มเติมอีกไหม ถ้ามีเพิ่มก็จัดไปเรื่อยๆ หรือถ้ามันตึงไปกับความสามารถของเราก็ลดลงได้เช่นเดียวกันครับ

4. นำเงินภาษีที่ประหยัดได้ไปลงทุน

สุดท้าย เมื่อประหยัดภาษีได้แล้ว สิ่งที่เราต้องทำต่อมา คือ การนำเงินไปเพิ่มเติมให้ชีวิตงอกเงยครับ เช่น นำไปเก็บออม หรือลงทุนต่อเลยก็ยิ่งดี เพราะเรารู้แล้วด้วยว่าเงินที่เราประหยัดได้ในปีนี้นั้นเป็นเท่าไร อย่าคิดแต่เพียงว่าจะประหยัดภาษีอย่างเดียวครับ แต่ให้เพิ่มเติมที่การออมหรือลงทุนต่อไปด้วย เพราะจุดมุ่งหมายของชีวิตของเรานั้น คือ การประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งคงไม่มีประโยชน์แน่ๆครับ ถ้าหากเราประหยัดภาษีได้ แต่นำเงินไปใช้จ่ายต่อไปในเรื่องที่ไม่จำเป็นกับชีวิตเรา จริงไหมล่ะครับ

บทความนี้เป็นบทความที่เขียนขึ้นเพื่อให้เพื่อนๆพี่ๆน้องๆ ทบทวนขั้นตอนในการวางแผนภาษีสำหรับทุกๆคนที่มีรายได้และต้องเสียภาษีอีกครั้งหนึ่งครับ