ใกล้เข้าสู่ปีใหม่แล้ว หลายคนตั้งเป้าหมายจะเป็น "ฉันคนเก่า ในเวอร์ชั่นใหม่ที่ดีกว่าเดิม!!" ด้วยการวางแผนทำ New Year's resolutions แต่การจะก้าวสู่เป้าหมายใหม่ คงต้องเริ่มจากการกลับมาทบทวนว่าในรอบปีที่ผ่านมาตัวเอง มีข้อดี ข้อด้อย ข้อผิดพลาดอะไรที่ควรนำมาเป็นบทเรียน เพื่อเพิ่มความระมัดระวัง และ ใช้ในการจัดระเบียบชีวิตให้ไปสู่เป้าหมายได้ง่ายขึ้น

ต้องบอกว่า มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ สิ่งที่อยากจะตั้งเป้าหมายและทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมมากที่สุด คงหนี้ไม่พ้น "มีเงินมากกว่าเดิม” เพื่อให้ชีวิตง่ายขึ้น แล้วควรทบทวนเรื่องอะไรบ้างล่ะ aomMONEY ขอแนะนำให้เริ่มต้นง่ายๆ ด้วย 4 เรื่องเหล่านี้

⚠️1. ปีนี้…มีรายได้กี่ช่องทาง?

นอกจากเงินเดือนที่ได้รับเป็นรายได้หลักแล้ว ในรอบปีที่ผ่าน เรามีรายได้เสริมช่องทางที่ 2 หรือ 3 หรือมากกว่านั้นรึเปล่า

ทั้งรายได้ที่มาจากการ "ใช้แรงสร้างเงิน" เช่น รับจ็อบ Part-time, ทำเบเกอรี่ขาย, เปิดเพจรับพรีออเดอร์เสื้อผ้า หรือจะเป็นการ "ใช้เงินสร้างผลตอบแทน" เช่น ลงหุ้น ลงทุนในทองคำ ลงทุนกองทุนรวม

➡️คำแนะนำสำหรับเป้าหมายปีหน้า:

หากเช็กแล้วว่า ปีนี้มีรายได้มาจากช่องทางเดียวจริงๆ ควรลองตั้งเป้าหมาย "เพิ่มช่องทางการหารายได้" ในปีหน้า เพราะการมีรายได้หลายช่องทาง นอกจากจะทำให้เรามีรายรับเพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยกระจายความเสี่ยง หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้นกับช่องทางหารายได้หลัก อย่างเช่น งานประจำด้วย

⚠️2. ปีนี้…ใช้จ่ายเกินความจำเป็นหรือไม่?

ลองย้อนกลับมาดูซิว่า นอกจากค่าใช้จ่ายประจำ เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่ากินค่าอยู่ ค่าเลี้ยงดูบุพการีและลูกหลานที่เป็นรายจ่ายประจำแล้ว คุณมีรายจ่ายอื่นๆ แอบแฝงที่ไม่รู้ตัวรึเปล่า เช่น พอเห็นสินค้าแบรนด์ดัง ออกคอลเลกชั่นใหม่ ก็อดใจไม่ไหว รีบไปหาซื้อ เพราะตกเป็นทาสการตลาด, หรือ กรณีที่คุณชื่นชอบเทคโนโลยีพอมี Gadget ใหม่ๆ ออกมา ก็ต้องรีบควักกระเป๋าจ่าย เพื่อให้ได้เป็นเจ้าของ รวมไปถึงค่าภาษีสังคมต่างๆ ด้วย

อยากให้คุณลองนำค่าใช้จ่ายเหล่านี้ มาคำนวณดูซิมา ใน 1 ปี คุณจ่ายเงินให้กับสิ่งเหล่านี้ไปเท่าไหร่

➡️คำแนะนำสำหรับเป้าหมายปีหน้า:

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า “สิ่งที่ไม่จำเป็น” ของคนนี้ อาจจะเป็น "สิ่งที่จำเป็น” สำหรับอีกคนก็ได้ ดังนั้น ต้องลองแยกแยะ 2 สิ่งนี้ของเราให้ดีก่อน และไม่ผิดที่ในบัญชีรายจ่ายของของเราจะมีสิ่งไม่จำเข้ามาเพื่อสร้างความสุขอยู่บ้าง

แต่ควรเช็กว่า อยู่ในระดับที่เหมาะสม คือ ไม่เกิน 20% ของรายได้หรือไม่

หากเกิน ควรมีการตั้งเป้าหมายในปีหน้าใหม่ว่า รายจ่ายที่ใช้กับสิ่งที่สร้างความสุขแต่อาจจะไม่จำเป็นมากนั้น ควรมีระดับที่ไม่เกิน 20% ของเงินที่หาได้

⚠️3.ปีนี้…มีเงินออมเท่าไหร่?

ในรอบปีที่ผ่านมา คุณเคยตั้งเป้าหมายมั้ยว่า จะออมเงินในแต่ละเดือนให้ได้เท่าไร คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นของรายได้ แล้วผลเป็นยังไง ได้ตามคาดหวังกันมั้ย หรือ มีอะไรมาฉุดรั้งความตั้งใจดีๆ ของคุณบ้างหรือเปล่า

ซึ่งระดับการออมเงินแต่ละเดือนที่เหมาะสม ดูแล้วไม่หนักและไม่น้อยจนเกินไปจะอยู่ที่ประมาณ 10-20% ของรายได้ต่อเดือน

และเงินออมในที่นี้ ขอนิยามถึง “เงินสำรองฉุกเฉิน” ที่ควรมีอย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เพื่อให้เพียงพอรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้ช่วงเวลาหนึ่ง

สรุปคือต้องลองเช็กดู 2 อย่าง คือ "ระดับการออมต่อเดือน" ของเราเป็นเท่าไหร่ และมี "ยอดเงินออมรวม" หรือ "เงินสำรองฉุกเฉิน" ของปีนี้มากน้อยแค่ไหน

➡️คำแนะนำสำหรับเป้าหมายปีหน้า:

ตั้งเป้าหมายออมให้ได้อย่างน้อยๆ 10% ของรายได้ หรือใครที่ออมอยู่แล้วอาจจะเพิ่มระดับการออมให้สูงขึ้น และที่สำคัญต้องใช้หลัก “ออมก่อนใช้” ไม่ใช่ “ใช้ก่อนออม” ไม่อย่างนั้นจะไม่เหลือให้ออมแน่ๆ

ต่อมาให้ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องเก็บเงินให้เทียบเท่ากับค่าใช้จ่ายที่มีต่อเดือน 3 - 6 เท่า เพื่อเป็นเงินสำรองฉุกเฉินก่อน ส่วนหากเก็บออมได้ตามเป้าหมายแล้ว เงินที่ออมทำได้ต่อไป ควรนำไปลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น

⚠️4. ปีนี้…มีลงทุนอะไรไปบ้างหรือยัง?

ตลอดระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา ได้นำเงินออมที่เกินกว่า “เงินสำรองฉุกเฉิน” ไปลงทุนต่อยอด เพื่อให้เงินในกระเป๋างอกเงยกันบ้างมั้ย แล้วเคยตั้งเป้าหมายไว้มั้ยว่าอยากได้ผลตอบแทนจากการลงทุนเท่าไร และได้กลับมาเท่าไร เป็นที่น่าพอใจหรือไม่

เชื่อว่า หลายคนรับรู้ว่าการลงทุน คือ วิธีการต่อยอดทางการเงินที่ดีกว่าการออม แต่คนส่วนใหญ่ ยังกลัวความเสี่ยง กลัวสูญเสียเงินต้น เสียเวลา และคิดว่าตนเองไม่ถนัด ไม่มีความรู้ จึงเลือกออมเงินในบัญชีธนาคารอย่างเดียว

➡️คำแนะนำสำหรับเป้าหมายปีหน้า:

ตั้งเป้ามหมายลองลงทุนสัก 1 อย่าง ง่ายที่สุดคือ “กองทุนรวม” แต่ทั้งนี้ต้องบอกว่าในโลกใบนี้ มีการลงทุนหลากหลายประเภท สามารถลงทุนเลือกได้ตามความเหมาะสม และตามความเสี่ยงที่เรารับได้

ขอเพียงแค่เปิดใจ หันมาศึกษา หรือ ปรึกษาผู้รู้ และเริ่มหัดลงทุน รู้จักบริหารความเสี่ยง และอดทนเป็น เชื่อเถอะ การให้เงินทำงาน ง่ายที่จะได้ผลตอบแทนมากกว่าที่คุณคิด

หลังจากทบทวนสุขภาพการเงินของตัวเองแล้ว พบว่า เรามีจุดแข็ง จุดอ่อน ข้อด้อยยังไงแล้ว คราวนี้ อะไรที่เราทำดีแล้วก็เดินหน้าทำต่อ ส่วนอะไรที่เราพลาดไป ก็ค่อยๆ ปรับปรุง แม้บางเรื่องอาจจะทำยาก แต่คงต้องให้เวลา และใช้ความอดทน เชื่อเถอะ คุณทำได้ และถ้าตั้งใจทำจริง คุณยังจะทำได้ดีกว่าที่คิด บอกเลยการก้าวเข้าสู่เป้าหมายทางการเงิน ก็จะเป็นจริงได้ในท้ายที่สุด