ด้านการลงทุนก็เหมือนกัน แม้ว่าในทางวิชาการ จะมีแนวคิดว่า “ราคาหุ้น” จะสะท้อนข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตลาดเรียบร้อยแล้ว แต่สุดท้ายบนราคาหุ้นเดียวกัน แต่ละคนก็ยังมีพฤติกรรมสะท้อนข้อมูลแตกต่างกัน แม้ว่าจะได้รับข้อมูลเท่ากันก็ตาม อย่างที่เราเห็นก็คือ “ราคาเดียวกัน” บางคนตัดสินใจซื้อ บางคนตัดสินใจขาย

สาเหตุของความแตกต่างนี้มีมากมายหลายอย่าง แต่สาเหตุหนึ่ง ก็คือ ความแตกต่างของนักลงทุนแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการรับความเสี่ยง พฤติกรรมเชิงจิตวิทยาของนักลงทุนแต่ละคน

พฤติกรรมการลงทุนอย่างหนึ่งที่น่าสนใจในการแบ่งกลุ่มนักลงทุน คือ หลักจิตวิทยาการลงทุนตามแนวคิดของ Bailard Biehl และ Kaiser ได้อธิบายหลักจิตวิทยาการลงทุนใน 4 ลักษณะ ตามพฤติกรรมของนักลงทุนก่อนและหลังตัดสินใจลงทุน คือ

พฤติกรรมก่อนตัดสินลงทุนมี 2 ขั้ว คือ...
(1) หุนหันพลันแล่น ตัดสินใจเร็ว ตัดสินใจโดยไม่ได้ศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วน
(2) รอบคอบ ตัดสินใจช้า จะศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบก่อนค่อยตัดสินใจ

พฤติกรรมหลังตัดสินใจแล้วมี 2 ขั้วเช่นกัน คือ…
(1) มั่นใจ คือ มั่นใจในสิ่งที่ตนเองตัดสินใจ ไม่กลับมาคิด วิตกกังวลกับการตัดสินใจนั้นอีก
(2) วิตกกังวล คือขั้วตรงข้ามกับมั่นใจ คือ ตัดสินใจไปแล้ว แต่ยังมาวิตกกังวลว่า ที่ตัดสินใจไปนั้นถูกต้องหรือไม่

จากพฤติกรรม “ก่อนและหลังตัดสินใจลงทุน” ทำให้แบ่งนักลงทุนได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้

➡️ 1. นักลงทุนประเภทผจญภัย (Adventure)

คือ นักลงทุนประเภทที่ก่อนลงทุนจะเป็นคนตัดสินใจเร็ว และหลังจากตัดสินใจแล้วจะมั่นใจ นักลงทุนประเภทผจญภัย (Adventure) เป็นนักลงทุนที่มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง รวมถึงการเป็นผู้ที่มีความสุขในการตัดสินใจ ใช้ชีวิตอยู่กับความไม่แน่นอนและเมื่อต้องการตัดสินใจ ก็มักจะตัดสินใจแบบทันที โดยอาจจะไม่มีการไตร่ตรองให้เกิดความรอบคอบ มุ่งหวังผลตอบแทนเป็นหลัก

อาชีพปัจจุบันของนักลงทุนกลุ่มนี้ คือ เจ้าของธุรกิจที่มักจะมีพฤติกรรมตัดสินใจเร็ว กล้าได้กล้าเสีย หากเป็นนักลงทุนที่เริ่มก้าวสู่ตลาดหุ้น มักจะมีความหลงตัวเองและคิดว่าตนเองสามารถคาดคะเนสถานการณ์ของการลงทุนได้เป็นอย่างดี มีความคิดเห็นว่า “เรารู้อยู่แล้วว่าควรจะทำอย่างไรแต่คนอื่นเขาไม่รู้” ก็อาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดในการลงทุนได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ค่อนข้างอันตราย

➡️ 2. นักลงทุนประเภทเป็นตัวของตนเอง (Individualist)

คือ นักลงทุนประเภทที่ไม่เชื่อใจใคร ดังนั้นก่อนลงทุนจะศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบ และหลังจากตัดสินใจแล้วจะมั่นใจในการตัดสินใจของตนเอง นักลงทุนประเภทนี้เป็นนักลงทุนที่มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง เป็นผู้ที่มีความสุขในการตัดสินใจเช่นเดียวกับนักลงทุนประเภทผจญภัย จะมีความแตกต่างกันในเรื่องของการตัดสินใจที่มีความรอบคอบระมัดระวัง

อาชีพปัจจุบันของนักลงทุนกลุ่มนี้ คือ ผู้ที่มีการศึกษาสูง เช่น แพทย์ วิศวะ ผู้บริหารระดับสูง อาจารย์ในมหาวิทยาลัย ฯลฯ จุดแข็งของนักลงทุนประเภทนี้คือ การลงทุนอย่างระมัดระวัง พิจารณาสภาวการณ์ลงทุน รวมถึงคุณภาพ ราคาของหลักทรัพย์ก่อนการลงทุน นักลงทุนกลุ่มนี้จึงมักเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในการลงทุน

➡️ 3. นักลงทุนประเภทชอบลงทุนตามคนอื่น (Celebrity)

คำว่า Celebrity แปลว่า ผู้มีชื่อเสียง ไม่ได้หมายความว่านักลงทุนกลุ่มนี้เป็นคนมีชื่อเสียง แต่หมายถึงนักลงทุนกลุ่มนี้ไม่มีหลักการวิเคราะห์ตัดสินใจลงทุนด้วยตัวเอง จะตัดสินใจตามคำแนะนำของคนอื่น หรือ ลงทุนตามผู้มีชื่อเสียง คำถามที่นักลงทุนกลุ่มนี้มักจะถามคือ “ซื้อหุ้นตัวไหนดี” “ตอนนี้ควรซื้อหรือขายดี” นักลงทุนกลุ่มนี้มักจะเป็นนักลงทุนที่ตามกระแสกลัวที่จะตกข่าว จึงมักจะตัดสินใจเร็วโดยขาดความระมัดระวัง และเมื่อลงทุนแล้วมักจะมีความวิตกกังวล กลัวขาดทุน

โดยส่วนมากแล้วนักลงทุนกลุ่มนี้จะเป็นลูกค้าของบริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพย์มากกว่าจะเป็นลูกค้าของผู้จัดการกองทุน และมักจะเป็นเหยื่อของพวกแชร์ลูกโซ่ ดังนั้นนักลงทุนกลุ่มนี้ควรควบคุมความตื่นตระหนกของตนเองให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารมณ์ในการตัดสินใจไว้ให้ดีที่สุด การศึกษาความรู้จะช่วยให้บริหารจัดการเงินออมของตนเองได้อย่างเหมาะสม

➡️ 4. การเป็นนักลงทุนประเภทผู้พิทักษ์ (Guardian)

เป็นนักลงทุนที่ก่อนลงทุนจะมีความระมัดระวังรอบคอบค่อนข้างละเอียด และหลังตัดสินใจลงทุนแล้วมักมีความวิตกกังวลมาก เป็นคนที่รู้จักข้อจำกัดของตนเองและกลัวการตัดสินใจ ดังนั้นในการลงทุนจึงมักจะลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัย มีความเสี่ยงต่ำ อย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาล หากเป็นการลงทุนในตลาดหุ้น ก็มักจะมอบความไว้วางใจกับผู้จัดการกองทุนมืออาชีพเข้ามาช่วยในการจัดการลงทุนและมักมีความพอใจที่จะลงทุนแบบรอรับผลประโยชน์ อย่างเช่น กองทุนดัชนี

จะเห็นได้ว่า คนแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทำให้แม้จะมีความรู้เท่าเทียมกัน อายุเท่าเทียม ฐานะการเงินเท่าเทียมกัน เพศเดียวกัน ได้รับข้อมูลเท่าเทียมกัน การตัดสินใจลงทุนก็อาจแตกต่างกันได้ ดังนั้นหากเราเข้าใจตนเองว่าเป็นนักลงทุนกลุ่มไหน เราก็จะสามารถกำหนดกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมกับตนเองได้

เขียนโดย: สาธิต บวรสันติสุทธิ์, นักวางแผนการเงิน CFP
ภาพ: ภควดี เหมะพาณิช