"เราทุกคนล้วนเกิดมาเพื่อการลงทุน แต่ไม่ได้เกิดมาเพื่อติดดอย" มิตรสหายท่านหนึ่งกล่าวไว้แบบเบาๆ ในวันที่เขาติดตอยหุ้นชนิดที่เรียกได้ว่าไม่ทันตั้งตัว นั่นเป็นเพราะทัศนคติที่ว่า "การลงทุนมันเป็นเรื่องง่าย ใครๆก็ทำได้ กำไรสบายๆ" แต่โลกความจริงมันช่างโหดร้ายยิ่งนัก เลยต้องเจ็บหนักไม่พ้นดอยอย่างทุกวันนี้ แต่นอกจากเรื่องการลงทุนที่เราต้องศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจ ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะเน้นย้ำว่า นักลงทุนมือใหม่ มักจะลืมศึกษา นั่นคือเรื่องราวของ "ภาษีกับการลงทุน" และวันนี้ @TAXBugnoms จะมาพูดคุยให้ฟังถึง 5 เรื่องภาษีน่ารู้สำหรับนักลงทุนมือใหม่

1. เล่นหุ้นอย่าลืมศึกษา "เครดิตเงินปันผล"

เมื่อเราลงทุนในหุ้นที่ดี กิจการมีผลตอบแทน แน่นอนว่าผู้ถือหุ้นอย่างเราๆต้องได้รับเงินปันผลจากที่ทางกิจการแบ่งกำไรให้ และเมื่อได้รับเงินปันผลมาแล้ว เราจะมีทางเลือก 2 ทาง ในการคำนวณภาษี นั่นคือ

  • ยอมถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ให้จบๆไป และไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
  • นำเงินปันผลดังกล่าวมารวมคำนวณภาษี และได้รับสิทธิในการใช้ "เครดิตภาษีเงินปันผล”

เครดิตเงินปันผล หมายถึง

ภาษีที่จ่ายจากกำไรสุทธิไปแล้วครั้งหนึ่งในรูปแบบของภาษีเงินได้นิติบุคคล และจ่ายก่อนที่บริษัทจะนำกำไรสุทธิส่วนที่เหลือมาจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น เมื่อทางผู้ถือหุ้นได้รับเงินปันผล ยังต้องนำเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไรดังกล่าวมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกครั้ง ซึ่งเข้าข่ายเป็นการเสียภาษีซ้ำซ้อนจากกำไรก้อนเดียวกันนั่นเอง!!!!

ดังนั้นกฎหมายจึงให้สิทธิที่จะนำเงินภาษีส่วนที่บริษัทได้จ่ายไปแล้วนั้นกลับคืนมาได้ จึงเป็นที่มาของคำว่า "ขอภาษีคืน" หรือ "เครดิตภาษี"

โดยสูตรการคำนวณเครดิตภาษีเงินปันผล คือ
เงินปันผล x อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล / 100 -อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

โดยเมื่อคำนวณแล้วต้องนำเครดิตภาษีเงินปันผลที่ได้รับมารวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีและนำมารวมเป็นภาษีหัก ณ ที่จ่าย ออกจากภาษีที่ต้องเสีย โดย

เครดิตภาษีที่คำนวณได้ + เงินปันผล = ถือเป็นรายได้ในการคำนวณภาษี
เครดิตภาษีที่คำนวณได้ + ภาษีหัก ณ ที่จ่าย = ถือเป็นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

ถ้าเพื่อนๆพี่ๆน้องๆยังสงสัย ขอแนะนำให้อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่นี่คร้าบบ
"ครบทุกความเข้าใจ กำไรจากการขายหุ้น รอลุ้นเครดิตภาษี โดยพี่ @TAXBugnoms"

2. กองทุนรวมให้ดูเรื่อง "รวมคำนวณรายได้"

สำหรับคนที่ลงทุนในกองทุนรวมที่มีการจ่ายเงินปันผลนั้น เมื่อได้รับเงินปันผลมาแล้ว เงินปันผลนี้จะถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 ซึ่งนักลงทุนสามารถใช้สิทธิเลือกที่จะหัก ณ ที่จ่าย 10% ไว้ได้เลย และไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้ตอนปลายปีอีกครั้ง ซึ่งสำหรับผู้ที่เสียภาษีในอัตราสูงกว่า 10% การเลือกไม่นำเงินได้ส่วนนี้มารวมคำนวณจะทำให้ประหยัดภาษีได้มากกว่า

อย่างไรก็ตาม อย่าลืมลองคำนวณเปรียบเทียบระหว่างการเลือกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปเลย หรือ การนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้นั้น วิธีไหนจะช่วยให้เราสามารถประหยัดภาษีได้มากกว่ากัน เพราะบางครั้ง รวมคำนวณภาษีเงินได้ตอนปลายปี อาจจะทำให้เราเสียภาษีในจำนวนที่น้อยกว่าก็ได้นะครับ

3. รายจ่ายในการลงทุนหักภาษีไม่ได้นะครัช

"กำไรจากการขายหุ้นและกองทุนรวม" นั้น ณ ปัจจุบันยังคงได้รับสิทธิยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ แม้ว่าจะมีข่าวลือว่าจะเก็บภาษีบ้าง แต่ข่าวลือทีว่าก็ยังไม่เป็นเรื่องจริง ดังนั้นเรายังได้รับสิทธิยกเว้นภาษีกันต่อไป แต่ถ้าใครขายหุ้นหรือกองทุนรวมแล้วขาดทุน อันนี้ไม่สามารถนำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีได้นะคร้าบบบบ

4. จัดเก็บเอกสารหัก ณ ที่จ่ายที่ได้รับมาให้ครบถ้วน

โดยปกติแล้ว เมื่อเรายื่นแบบแสดงรายการภาษี หากพี่ๆสรรพากรเค้าสงสัยอยากจะได้เอกสารเพิ่ม เราต้องคอยตรวจสอบเอกสารที่ต้องการและจัดส่งไปให้ทันควัน เพื่อที่จะให้พี่ๆเค้าตรวจสอบได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกรณ๊ทีต้องการขอคืนภาษีจากเงินลงทุนทั้งหลาย เอกสารการหักภาษี ณ ที่จ่ายในการลงทุนต่างๆ ต้องครบถ้วนถูกต้องสมบูรณ์ ถ้าเราเก็บเอกสารหลักฐานต่างๆไม่ดี เกิดไม่ได้ภาษีคืนขึ้นมาไม่รู้ด้วยนะคร้าบบ

5. คำนวณภาษีง่ายๆ เพียงแค่ยื่นแบบผ่านเน็ต

สุดท้ายสำหรับคนที่จะลองคำนวณภาษีแต่รู้สึกว่ามันยุ่งยากในการคำนวณ วิธีนี้สามารถแก้ไขปัญหาได้ง่ายๆ โดยการยื่นแบบแสดงรายการผ่านอินเตอร์เน็ต ลองกรอกรายการเปรียบเทียบกันว่าต้องเสียภาษีเท่าไร อันไหนรวมคำนวณแล้วเสียภาษีเพิ่มหรือลดลง สามารถลองคำนวณได้ตามใจชอบเลยครับ ระบบของทางกรมสรรพากรจะคำนวณภาษีให้เราอัตโนมัติเลย แต่อย่าเผลอตัวกดปุ่มยื่นแบบไปละกันคร้าบ เดี่ยวจะกลายเป็นยื่นโดยไม่ได้ตั้งใจไปซะงั้น

เคยมีมิตรสหายท่านหนึ่งดีใจที่ได้คืนภาษี รีบกดปุ่มส่งแบบแสดงรายการทันที แต่ดันกรอกรายการไม่ครบ คราวนี้ก็ต้องมายื่นแบบแสดงรายการเพิ่มเติมใหม่อีกครั้ง (ฮาาา)

ทั้งหมดนี้คือเคล็ดลับการวางแผนภาษีสำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่ควรรู้ เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาภาษีย้อนหลัง เดี๋ยวชีวิตเราจะพังโดยที่ไม่รู้ตัว และสุดท้ายนี้ถ้าหากใครสงสัยหรือไม่เข้าใจข้อไหน สามารถติดต่อสอบถามมาได้ที่แฟนเพจ @TAXBugnoms หรือ @Aommoney ได้ตลอด 24 ชั่วโมงคร้าบบบบบบบ