เคยไหมเวลาไปเดินห้าง หรือนั่งๆ นอนๆ เล่นออนไลน์อยู่บ้านบังเอิญเจอของสวยๆ งามๆ ก็อยากได้รู้สึกของมันต้องมี แต่เอาจริงๆ การห้ามไม่ให้ซื้อคงเป็นเรื่องที่ไร้เหตุผลเกินไป แต่ถ้ามีเหตุผลมาซัพพอร์ตนักช็อปฉลาดคิดแบบเราได้ มันก็น่าสนใจใช่ป่าว ต่อไปนี้ aomMONEY จะขอเสนอไอเดียฝึกนิสัยการช็อปแบบมีวินัยอย่างฉลาดแบบง่ายๆ ไว้ฝึกกันก่อนการตัดสินใจซื้อ ไปดูกันเลย....

1. “เราจะได้ใช้มันจริง ๆ รึเปล่านะ?”

การซื้อของเพียงเห็นว่ามันสวยงามถูกใจ เราจึงคิดไปว่าน่าจะได้ในอนาคต...แต่ถ้าเราไม่ได้ใช้มันจริง ๆ มันก็คือขยะชิ้นนึงที่เราเสียเงินแบกกลับบ้านมา เพราะฉะนั้นก่อนซื้ออยากให้ถามตัวเองก่อนว่า ถ้าซื้อมาจะใช้ในโอกาสไหนบ้าง? ถ้าไม่ได้ใช้จริง ๆ จะสามารถส่งต่อให้ใครใช้ได้หรือไม่? จะช่วยให้เราคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยที่ใช้แท้จริงของสินค้า และแมชท์กับตัวเรามากน้อยแค่ไหน

2. “ราคาสินค้านี้คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้ของเรา?”

เพื่อป้องกันกระเป๋าสตางค์ฉีกการตัดสินใจซื้อของมีราคาสักชิ้น อยากให้คำนวณคร่าว ๆ ก่อนจ่ายว่าเหมาะสมกับรายได้ของตัวเองหรือไม่ คือคิดว่าสินค้าที่เราจะซื้อนั้นคิดเป็นกี่เปอร์เซนของรายได้กันนะ เช่น สมมติเรามีเงินเดือน 20,000 บาท อยากจะซื้อหูฟัง ราคา 6,000 บาท ก็คิดเป็น 30% ของเงินเดือน เท่ากับว่าเราทำงานเป็นสัปดาห์เพื่อเอาเงินทั้งหมดมาซื้อหูฟัง พอคิดแบบนี้แล้วก็ทบทวนตัวเองว่าอยากได้ของอยู่หรือไม่

3. “เงินจำนวนที่กำลังจะจ่าย จะเอาไปใช้จ่ายของจำเป็นอะไรได้บ้าง?”

คำถามนี้ใช้ได้ผลจริงครับ สมมติเราจะซื้อนาฬิกาเรือนละ 5,000 บาท ลองคิดว่าจะสามารถเอาเงินจำนวนนี้ไปใช้อะไรได้บ้าง เช่น สามารถเป็นค่าอาหารได้ 1 สัปดาห์, สามารถใช้เป็นค่าเครือข่ายโทรศัพท์ได้ 7 เดือน สามารถใช้เป็นค่าไฟได้ 3 เดือน เป็นต้น แล้วเราจะยังตัดสินใจซื้อสินค้านั้นอยู่ไหม?

4. “ถ้าตัดป้ายแบรนด์ออก ยินยอมจ่ายราคานี้รึเปล่า?”

เป็นไหมเวลาเราเบลอ ๆ ยอมจ่ายเงินให้สินค้าราคาแพง เพียงแค่เห็นชื่อแบรนด์มากกว่าประโยชน์ใช้สอย ซึ่งอันตรายต่อกระเป๋าสตางค์และสถานะทางการเงินในอนาคต เพราะมันสะท้อนว่าเราติดกับดักของแบรนด์ของหรู ต้องการโลโก้แบรนด์มาประตัวเองเท่านั้นเอง

5. “จำเป็น หรือเพราะ Sale Tag”?

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโปรโมชันเวลาร้านค้าปล่อยออกมามันช่างล่อตาล่อใจ พอเห็นป้าย Sale เราก็จะพุ่งตัวใส่ทันที ยิ่งมีพวกที่คอยชวนกับไปตะลุยของเซลล์แล้วด้วย ก็จะมีมวลอุปาทานหมู่ขึ้นมาว่าเราต้องได้ เราต้องมี แต่ช้าก่อนอยากให้ตั้งสติแล้วลองถามตัวเองว่าถ้าสินค้านั้น ถ้าไม่มีโปรโมชันเราต้องการมันไหม? จำเป็นกับเราแค่ไหน? เราจะยังอยู่ได้ไหมถ้าไม่มีมัน? และบางครั้งจำนวนส่วนลดดูเหมือนเยอะ แต่ราคาที่ต้องจ่ายจริงก็ยังสูงอยู่ดี เช่น สินค้าลด 70% จากราคาเต็ม 8,000 บาท ราคาจะอยู่ที่ 2,400 บาท เราจึงต้องพิจารณาก่อนตัดสินใจให้ดี ๆ คิดถึงความคุ้มค่าคุ้มราคาของสินค้านั้นกับราคาที่ต้องจ่ายออกไป

aomMONEY อยากฝากคำถามทั้ง 5 ข้อนี้ไว้เตือนใจก่อนจะจ่ายเงินออกไป เพราะเงินที่ออกจากกระเป๋าเราไปแล้วมันกลายเป็นของคนอื่นไปเลย