สำหรับคนเป็นพ่อเป็นแม่ย่อมอยากให้การศึกษาที่ดีที่สุดกับลูก เพราะเป็นประตูบานแรกสู่ความสำเร็จในอนาคต แต่แม้จะรู้ว่าการศึกษาสำคัญอย่างไร หลายครอบครัวอาจทำพลาดเพราะไม่ได้วางแผนการศึกษาไว้ หรือวางแผนแต่ยังขาดปัจจัยบางอย่างที่อาจส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของลูกได้ บทความนี้จะมาแชร์ว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่คุณพ่อคุณแม่อาจมองข้ามไป

💰 1. ไม่วางแผนล่วงหน้าว่าอยากให้ลูกเรียนที่ไหน

สิ่งแรกที่ต้องทำคือ เริ่มศึกษาว่าต้องการให้ลูกเข้าเรียนโรงเรียนแบบไหน มีแนวทางการสอนอย่างไร และต้องการส่งถึงระดับไหน โดยการวางแผนต้องมองยาวไปจนถึงไปจนถึงระดับปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือจะส่งลูกไปเรียนต่อต่างประเทศ เพราะมีผลต่อการเลือกโรงเรียนปูพื้นฐานให้ลูกตั้งแต่ระดับอนุบาลเลยทีเดียว

ปัจจุบันมีแนวทางในการส่งลูกเรียนหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนรัฐบาล เอกชน นานาชาติ หรือโรงเรียนทางเลือก ซึ่งการเลือกโรงเรียนนี้จะต้องพิจารณาปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น รายได้ของครอบครัว ที่ตั้งของโรงเรียน การเดินทาง เวลาของพ่อแม่ในการรับส่งหรือร่วมกิจกรรมของโรงเรียน เป็นต้น

นอกจากนี้ ควรมองตัวเลือกสำรองเผื่อไว้ด้วย เนื่องจากหลายโรงเรียนเป็นที่นิยมอย่างมากอาจไม่มีที่ว่างให้เข้าเรียน หรืออาจต้องรอคิวเนื่องจากมีพ่อแม่สมัครเรียนให้ลูกไว้ล่วงหน้าเป็นจำนวนมาก

💰 2. ไม่ศึกษาค่าเทอม

นอกจากเลือกแนวทางการสอนของโรงเรียนแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาก็คือค่าเทอม เนื่องจากการศึกษาของลูกควรมีความต่อเนื่อง ไม่ควรเปลี่ยนโรงเรียนบ่อย การศึกษาค่าเทอมไว้ล่วงหน้าว่าแต่ละระดับชั้นต้องใช้เงินเท่าไหร่ จะทำให้พ่อแม่วางแผนได้ชัดเจนขึ้นว่าควรสำรองเงินไว้มากน้อยแค่ไหน หรือทยอยเก็บเงินอย่างไร และถ้าตัวเลือกที่มองไว้ทำให้สถานะการเงินของครอบครัวตึงเกินไป อาจต้องลองมองหาตัวเลือกอื่นที่เหมาะสมกับรายได้ของครอบครัวมากกว่า

💰 3. ไม่ประเมินค่าใช้จ่ายอื่นๆ

นอกจากค่าเทอมซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่แล้ว แน่นอนว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายอื่นที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น ค่าเสื้อผ้า ค่าหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าทัศนศึกษา รวมไปถึงค่าใช้จ่ายเสริมอื่นๆ เช่น ค่าเรียนพิเศษ หรือการเสริมกิจกรรมอื่นที่นอกจากการเรียน

💰 4. ไม่คิดเงินเฟ้อ

สิ่งที่พ่อแม่มือใหม่หลายคนอาจไม่เคยนึกถึงคือปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อ ค่าเทอมและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการศึกษามักมีการปรับขึ้นทุกปีตามเงินเฟ้อ ดังนั้นค่าใช้จ่ายที่เรารู้วันนี้อาจไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่เราต้องจ่ายจริง แต่ต้องถูกคิดเงินเฟ้อเข้าไปด้วย ซึ่งเราอาจพิจารณาเพิ่มอัตราเงินเฟ้อเข้าไปอีกประมาณ 3-5% ต่อปี เพื่อให้ประเมินค่าใช้จ่ายได้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น

💰 5. ไม่แยกเก็บเงินสำหรับการศึกษา

ในหัวข้อที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเลือกโรงเรียน ศึกษาค่าเทอม ประเมินค่าใช่จ่ายอื่นๆ รวมถึงประเมินเงินเฟ้อล่วงหน้า เป็นการเตรียมพร้อมเพื่อสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเมื่อถึงปีการศึกษาที่ลูกต้องเข้าเรียนจริงๆ เราจะมีเงินเพียงพอสำหรับค่าเทอมและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้้น ดังนั้นเมื่อเรามีข้อมูลมากพอจนสามารถประมาณการค่าใช้จ่ายได้แล้ว การเตรียมตัวทยอยเก็บเงินล่วงหน้าถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้แผนการศึกษาที่เราทำมาทั้งหมดสำเร็จตามแผนที่วางไว้ ควรแยกเก็บเงินสำหรับการศึกษาออกมาจากเงินเก็บก้อนอื่นๆ เพื่อให้เราไม่เผลอนำออกมาใช้ สามารถมองเห็นจำนวนเงินและจัดการเงินก้อนสำคัญนี้ได้สะดวกขึ้น

💰 6. ไม่เลือกที่เก็บเงิน ให้เงินได้ทำงาน

แผนการเงินสำหรับการศึกษาถือเป็นแผนระยะยาวที่มีการทยอยนำเงินออกมาใช้เรื่อยๆ จึงควรเลือกวิธีการเก็บเงินให้เหมาะสมกับค่าใช้จ่ายในแต่ละช่วง โดยสามารถแบ่งเป็น

✅ ค่าใช้จ่ายระยะสั้น

คือค่าใช้จ่ายที่กำลังจะเกิดขึ้นภายใน 1 - 3 ปีข้างหน้า เนื่องจากระยะเวลาที่สั้น การลงทุนที่เสี่ยงต่อการขาดทุนจะทำให้ไม่มีเวลาพอในการสร้างเงินให้กลับมาเติบโตได้เท่าเดิม เงินสำหรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้จึงควรเก็บไว้ในที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ เน้นรักษาเงินต้น เช่น การฝากเงินในบัญชีฝากประจำที่มีระยะเวลาครบกำหนดใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่ต้องใช้เงิน หรือฝากเงินในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ออนไลน์ ที่ให้ดอกเบี้ยสูง อย่างบัญชี KKP SAVVY ซึ่งนอกจากความยืดหยุ่นที่สามารถถอนเงินออกมาใช้จ่ายได้ทันทีเมื่อต้องการแล้ว ยังสามารถทำธุรกรรมได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่านแอป KKP MOBILE และที่สำคัญยังได้รับดอกเบี้ยสูงสุดถึง 1.6% ต่อปี*

✅ ค่าใช้จ่ายระยะกลาง

เป็นค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในช่วง 4 - 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเราสามารถนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงมากกว่าของระยะสั้นได้ โดยการลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงปานกลาง อย่างการลงทุนในตราสารหนี้ระยะกลางหรือกองทุนรวมผสม เป็นต้น

✅ ค่าใช้จ่ายระยะยาว

ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเวลามากกว่า 10 ปีนับจากวันนี้ ด้วยระยะเวลาที่ยาวขึ้นเราสามารถจัดสรรเงินส่วนนี้ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นอย่างกองทุนรวมตราสารทุนได้ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้เงินส่วนนี้เติบโตได้ดีกว่า นอกจากนี้สำหรับพ่อแม่ที่ต้องการลดหย่อนภาษีอาจเลือกเก็บเงินส่วนนี้ด้วยการลงทุนในกองทุนรวม SSF ซึ่งจะสามารถขายคืนได้เมื่อถือครองครบ 10 ปี

การวางแผนการเงินสำหรับการศึกษาของลูกเอาไว้โดยไม่มองข้ามทั้ง 6 ประเด็นดังกล่าว นอกจากจะช่วยให้การศึกษาของลูกเป็นไปตามเป้าหมายที่เราตั้งใจไว้แล้ว ยังช่วยลดความตึงเครียดระหว่างการส่งลูกเรียน ช่วยให้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น ลดความเสี่ยงที่จะต้องกู้ยืมเงิน และทำให้สามารถปรับเปลี่ยนหรือ/ยืดหยุ่นแผนการศึกษาได้ตามสถานการณ์ได้ดีกว่ากรณีที่ไม่ได้วางแผนไว้

*อัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารประกาศกำหนด

ที่มา: KKP Advice Center