เป้าหมายชีวิตของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน บางคนอยากมีครอบครัว บางคนอยากประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และสร้างรายได้ให้เติบโต มั่นใจว่าคนส่วนใหญ่ล้วนมีเป้าหมายทางการเงินที่คล้ายกัน นั่นคือการหาเงินหรือหารายได้ให้เยอะๆ เพื่อสร้างความมั่งคั่งทางการเงินหรือสร้างอิสรภาพทางการเงินในชีวิต

อย่างไรก็ตาม บางครั้งคุณอาจจะให้ความสนใจไปที่วิธีการหารายได้ ที่มีความซับซ้อนมากจนเกินไป จนทำให้คุณมองข้ามวิธีการที่ทำได้ง่ายๆ โดยที่ไม่ต้องมีเป้าหมายใหญ่โตอะไรมากมาย ก็สามารถสร้างรายได้หรือสร้างความมั่งคั่งทางการเงินในชีวิตได้แล้วครับ และยังทำให้คุณได้ใช้ชีวิตไปกับเงินที่หามาอย่างคุ้มค่าอีกด้วย เพียงแค่คุณรู้หน้าที่ของเงินแต่ละส่วน ก็อาจทำให้ถึงเป้าหมายทางการเงินได้ โดยที่ไม่ต้องใช้วิธีการซับซ้อนอะไรมากมาย

ชวนอ่านสรุป 6 บทเรียน การรู้หน้าที่ของเงิน และใช้เงินเพื่อให้ชีวิตมีคุณค่า โดย คุณถนอม เกตุเอม หรือ พรี่หนอม เจ้าของเพจและช่อง TAXBugnoms

✅1. วางแผนเป้าหมายทาง ‘การเงิน’ เป็นตัวตั้ง และวางแผนเป้าหมาย ‘ภาษี’ เป็นตัวเสริม

การวางแผนในเรื่องการเสียภาษีของแต่ละคนไม่เหมือนกันครับ คนรวยอาจมีโอกาสเสียภาษีมากกว่า แต่ถ้าคนรวยรู้จักวางแผนทางการเงินหรือวางแผนการเสียภาษี ก็จะทำให้พวกเขาประหยัดเงินได้มากกว่าครับ ในทางตรงกันข้าม คนที่ไม่มีเงินหรือคนที่มีรายได้น้อย พวกเขาแทบจะไม่มีทางวางแผนเรื่องการเสียภาษีได้เลย เพราะแค่ใช้ในชีวิตประจำวันก็แทบจะไม่มีเหลือเก็บ แล้วจะให้มาวางแผนเรื่องการเสียภาษี มันเป็นไปได้ยากมากครับ

อย่างไรก็ดี นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมคุณไม่ควรมองเรื่องภาษีเป็นลำดับแรก แต่ควรคำนึงถึงเป้าหมายทางการเงินก่อน แล้วจึงค่อยมองไปที่เรื่องภาษีเป็นลำดับถัดมา เพราะเมื่อคุณมีเป้าหมายทางการเงินเป็นลำดับแรก ก็จะทำให้คุณมุ่งเน้นไปที่เรื่องการหารายได้เข้ามาเพิ่ม และหลังจากนั้นเมื่อคุณมีเงินในระดับหนึ่ง คุณจะสามารถวางแผนเรื่องภาษีได้ง่ายขึ้น

✅2. แบ่งเงินออกเป็นสัดส่วน เพื่อที่จะได้รู้หน้าที่ของเงินอย่างแท้จริง

การแบ่งเงินที่มีออกเป็นสัดส่วน จะทำให้คุณรู้ว่าเงินแต่ละส่วนมีหน้าที่อะไรบ้าง และใช้จ่ายกับเรื่องอะไรมากที่สุดครับ เมื่อคุณรู้ว่าเงินตรงส่วนไหน ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเกิดประโยชน์หรือสร้างความมั่งคั่งให้กับคุณได้ รวมถึงสัดส่วนไหนที่ทำให้เส้นทางการเงินของคุณแย่ลง ก็จะทำให้รู้ทันทีว่าไม่ควรใช้จ่ายกับส่วนนั้นๆ แต่ควรให้ความสำคัญในส่วนที่สร้างประโยชน์ให้กับคุณได้มากที่สุด

✅3. การประหยัด = การใช้เงินให้เกิดความคุ้มค่า

บางคนมักจะนิยามคำว่า ‘ประหยัด’ คือการไม่ใช้เงินหรือการใช้เงินไปกับสิ่งที่มีราคาถูก ในความเป็นจริง หากเรานิยามแบบนั้น มันอาจจะไม่ส่งผลดีสักเท่าไรครับ คุณลองนึกภาพตามนะครับ ถ้าคุณซื้อของมาหนึ่งชิ้น ซึ่งมีราคาถูกมาก แต่ไม่สามารถใช้งานได้ตามที่คุณตั้งใจไว้ นั่นก็ไม่ได้เรียกว่าประหยัดเลยสักนิด ซื้อมาแล้วต้องทิ้งหรือซื้อมาแล้วใช้งานได้ไม่เกิดประสิทธิภาพ แบบนี้เรียกว่าของแพงอยู่ดีครับ แต่ถ้าคุณซื้อของมาในราคาที่สูงกว่าปกติ และคุณได้ใช้ประโยชน์กับมันอย่างเต็มที่ แบบนี้จึงเรียกว่า ‘การใช้เงินอย่างคุ้มค่า’ มากกว่าคำว่า ‘ประหยัด’ ดังนั้น ภาพรวมทั้งหมดจะต้องทำให้การเงินของคุณดีขึ้นหรือทำให้คุณมีเงินเหลือเก็บเพิ่มขึ้นด้วยครับ

✅4. ไม่จำเป็นต้องลงทุนเพื่อให้มีรายได้สูง แต่จงทำในสิ่งที่ถนัดแล้วรายได้จะเพิ่มขึ้นเอง

แต่ละคนมีความเก่งหรือความถนัดที่แตกต่างกัน คุณเก่งอะไร มีความสามารถในการหาเงินด้านไหน ก็ให้ทำในสิ่งที่คุณถนัด ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำธุรกิจเสมอไปครับ บางคนอาจจะเก่งในการลงทุน การทำธุรกิจ หรือเก่งในการทำงานประจำที่มีค่าตัวสูง สุดท้ายแล้ว สิ่งที่คุณมุ่งหวังก็คือการหารายได้ที่เพิ่มขึ้น จากวิธีการใดวิธีการหนึ่ง โดยที่ใช้เวลาของคุณน้อยลง แต่ได้เงินเพิ่มขึ้นครับ

✅5. ไม่จำเป็นต้องแก้ไขความผิดพลาด แต่จงเรียนรู้ความผิดพลาดที่ผ่านมา

เมื่อคุณก้าวขาเข้ามาสู่เวทีการลงทุนใดๆ ก็ตาม ทุกคนต่างก็ต้องเคยเจอความผิดพลาด จากการลงทุนมาไม่มากก็น้อย ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง บางข้อผิดพลาดคุณก็ไม่สามารถแก้ไขได้เสมอไปหรอกครับ สิ่งสำคัญคือเมื่อข้อผิดพลาดเหล่านั้นเกิดขึ้น คุณต้องเรียนรู้ให้ได้ว่าผิดพลาดตรงไหน เช่น อาจจะไม่ได้ศึกษาในสิ่งที่ลงทุนให้ดีก่อน ไม่กระจายการลงทุน รวมถึงไม่จัดพอร์ตป้องกันความเสี่ยง ดังนั้น คุณควรเรียนรู้จากความผิดพลาดให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมานั่งคิดว่าจะแก้ไขกับเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างไร

✅6. อิสรภาพทางการเงิน = การใช้ชีวิตที่คุณสามารถเลือกความสุขได้

การมีอิสรภาพทางการเงินเป็นสิ่งที่หลายคนตามหา และตั้งเป้าหมายเพื่อที่จะให้ตัวเองไปถึง บางครั้งผู้คนส่วนใหญ่มักจะมองว่า อิสรภาพทางการเงิน คือการที่มีเงินมากมายโดยที่ไม่ต้องทำงาน การคิดแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่จะทำให้เราไม่เห็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ รอบตัว ไม่ว่าใครก็สามารถสร้างอิสรภาพทางการเงินได้ คุณไม่จำเป็นต้องทำงานหนัก เพื่อให้ตัวเองมีเงินเยอะเสมอไปครับ แต่อาจจะทำงานหรือลงทุนบางอย่าง ที่ทำให้คุณมีความสุข และได้ใช้เวลากับเรื่องส่วนตัวหรือกับคนรอบข้างได้ ก็นับว่าเป็นอิสรภาพทางการเงินได้เช่นเดียวกันครับ