สำหรับนักลงทุนแล้วถ้าเราเอ่ยชื่อ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ทุกคนน่าจะร้องอ๋อและรู้จักกันทุกคน เพราะนอกจากจะเป็นนักลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investor) ที่มีชื่อเสียงที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของไทยแล้ว พอร์ตการลงทุนหลายพันล้านแล้วเขายังถือเป็นบุคคลผู้จุดกระแสการลงทุนแนวนี้ในบ้านเราด้วย เรียกว่าเป็นคนแรก ๆ เลยก็คงไม่ผิดนัก
หนังสือ ‘เด็กวัดดอน’ ที่เพิ่งวางจำนวนได้เล่าถึงเรื่องราวชีวิตของนักลงทุนคนนี้ตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก ๆ ลูกชายชาวจีนอพยพพ่อแม่พ่อพูดไทยไม่ได้ เป็นช่างไม้ก่อสร้าง นอนบ้านสังกะสี วิ่งเล่นในสลัม จนฝ่าฟันความท้าทายต่าง ๆ ในชีวิตจนประสบความสำเร็จได้จนทุกวันนี้ (เดี๋ยวมารีวิวหนังสือเล่มนี้ให้ฟัง สนุกมาก)
ครั้งหนึ่งที่งานปาฐกถาที่ประเทศมาเลเซีย ดร.นิเวศน์ ได้แชร์เทคนิคการเลือกหุ้นที่เขาเรียกว่า ‘Super Stock’ เอาไว้ 6 ขั้นตอนด้วยกัน
1. มองหาอุตสาหกรรมที่อยู่ในเมกะเทรนด์ โดยดูว่าสินค้าหรือบริการอะไรที่คนอายุน้อยและผู้มีรายได้สูงต้องบริโภคมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต
2. มองหาผู้ชนะในอุตสาหกรรมในข้อแรก จุดสังเกตคือมักจะมียอดขายทิ้งห่างคู่แข่งเป็นอย่างมาก
3. มองหาธุรกิจที่มี ‘ความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืน’ ซึ่งมักจะมีองค์ประกอบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ได้แก่ แบรนด์ ความประหยัดจากขนาด เครือข่าย Switching Cost หรือต้นทุนในการเปลี่ยนไปใช้สินค้าหรือบริการของบริษัทอื่น การผูกขาดตามธรรมชาติ ความสามารถในการควบคุมต้นทุนวัตถุดิบให้อยู่ในระดับต่ำ และเป็นสินค้าหรือบริการซึ่งยากที่จะถูกดิสรัปต์ (Disrupt) โดยเทคโนโลยีใหม่ ๆ
4. เป็นบริษัทที่อยู่ใน ‘วงจรแห่งความรุ่งเรือง’ (Virtuous Cycle) เช่นมีความได้เปรียบในการแข่งขัน ทำให้สร้างยอดขายได้มากกว่าคู่แข่ง เมื่อยอดขายสูงกว่า ก็มีเงินเอาไปใช้พัฒนาธุรกิจ จึงสามารถดึงดูดลูกค้าหน้าใหม่ ๆ และยิ่งทำรายได้มากขึ้นไปอีก เป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ลักษณะนี้คือวงจรแห่งความรุ่งเรือง
5. เป็นบริษัทที่มีฐานะการเงินดี โดยมีองค์ประกอบคือผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE - Return on Equity) ในระดับสูง อย่างน้อย ๆ 15% ขึ้นไป มีอัตรากำไรสุทธิในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมโดยรวม มีกำไรที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะยาว
6. กระแสเงินสดในการดำเนินงานสูง มีรายจ่ายลงทุน เงินที่ต้องใช้เพื่อบำรุงรักษาเครื่องจักรอุปกรณ์ ตลอดจนปัจจัยอื่น ๆ เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในระดับที่ต่ำ
สุดท้ายแล้วเมื่อพบหุ้นที่มีคุณสมบัติดังกล่าว ยังต้องมาดูด้วยว่า ‘ราคา’ อยู่ในระดับไหน ถูกหรือแพง ซึ่ง ดร.นิเวศน์ก็บอกว่ามันควรมี P/E หรืออัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ ( Price to Earnings Ratio) ต่ำกว่า 20 สำหรับหุ้นที่ดำเนินธุรกิจมาหลายปีและมีรากฐานที่มั่นคงในระดับหนึ่งแล้ว
หรือถ้าหากเป็น Super Stock ที่เพิ่งก่อตั้งมาได้ไม่นานและกำลังอยู่ในช่วงเติบโต ก็ต้องเป็นบริษัทที่ยังมีมูลค่าตลาดไม่มากนักเมื่อเทียบกับศักยภาพของบริษัทและหมายความว่ายังสามารถเติบโตได้อีกมาก