ใกล้ถึงช่วงวันหยุดยาว ใครที่ยังไม่แพลนทำอะไร aomMONEY อยากชวนทุกคนมาใช้เวลาวันหยุดให้เกิดประโยชน์กันดีกว่า กับการจัดการเรื่องเงินง่ายๆ ภายในไม่กี่วัน

ด้วยการตรวจสอบการเงิน 7 รายการที่ทำได้ในหนึ่งสัปดาห์ พูดง่ายๆ คือ 1 รายการต่อวัน ซึ่งเมื่อตรวจสอบรายการทางการเงินของตัวเอง จะทำให้เห็นคุณค่าของเงินมากขึ้น มาเริ่มกันเลย

วันที่ 1 : ทำบัญชีการเงิน

เรื่องแรกๆ สำหรับรายการตรวจสอบเส้นทางการเงินของตัวเอง เพื่อทำให้สุขภาพการเงินในระยะยาวมีความแข็งแกร่ง คือ ประเมินสถานการณ์ทางการเงินด้วยการตั้งคำถามและทบทวนสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อให้รู้ว่า ”เงินมาจากไหน” และ “กำลังจะไปไหน” เช่น

- มีเงินเดือน (รายได้) ในแต่ละเดือนเท่าไหร่
- เงินเดือน (รายได้) ในแต่ละเดือน มีความสม่ำเสมอหรือไม่
- ได้รับเงินเดือน (รายได้) แต่ละเดือนบ่อยแค่ไหน เช่น 1 ครั้งต่อสัปดาห์, 1 ครั้งต่อครึ่งเดือน หรือเดือนละครั้ง และแบ่งเพื่อจ่ายหนี้ในแต่ละเดือนอย่างไร
- ค่าใช้จ่ายอะไรที่เกิดขึ้นเป็นประจำในแต่ละเดือน
- ค่าใช้จ่ายเกินตัวในหมวดไหนบ้าง
- มีงบประมาณเท่าไหร่ในแต่ละเดือนเพื่อจ่ายหนี้

คำถามเหล่านี้ ทำให้เกิดความคุ้นเคยกับจำนวนเงิน (รายได้) ที่ได้รับเมื่อเทียบกับเงินที่ต้องจ่ายออกไป พูดง่ายๆ การรู้รายรับและรายจ่าย เป็นจุดเริ่มต้นของแผนดูแลเส้นทางการเงิน เช่น ถ้ามีหนี้ก็ควรรู้ว่าเป็นหนี้ใคร จำนวนหนี้เท่าไหร่ ดอกเบี้ยเท่าไหร่ สัดส่วนหนี้สินแต่ละเดือนเมื่อเทียบกับรายได้เป็นยังไง

วันที่ 2 : ใช้เงินตามงบประมาณ

คำถามในวันที่ 1 จะทำให้รู้ว่าแต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน และเมื่อเห็นรูปแบบการใช้จ่ายของตัวเองอย่างชัดเจนก็วิเคราะห์ได้ว่ามีโอกาสเสียเงินไปกับอะไรได้บ้าง ขณะเดียวกันก็พบว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่สามารถประหยัดได้ เช่น

- ค่าสมาชิกสตรีมมิ่งออนไลน์ที่แทบไม่ได้ใช้บริการ
- สมาชิกรายเดือนที่ไม่จำเป็นต้องใช้บริการ (เช่น ฟิตเนส)
- ค่าใช้จ่ายเพื่อสังสรรค์นอกบ้าน
- ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น เช่น ช้อปปิ้ง ดินเนอร์นอกบ้านทุกสุดสัปดาห์

นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายดังกล่าว ควรหาทางหั่นรายจ่าย โดยเฉพาะรายจ่ายที่ไม่จำเป็นต่างๆ เช่น ซื้อของฟุ่มเฟือย ลดการเที่ยวเตร่ ดูหนังฟังเพลง หรือกินอาหารนอกบ้านให้น้อยลง ส่วนค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์มักจะตัดออกไม่ค่อยได้ ก็ลองลดปริมาณการใช้ลง

วันที่ 3 : ตรวจสอบภาระหนี้

ชีวิตที่ไม่มีหนี้ เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา แต่เมื่อค่าครองชีพสูงขึ้นหรือเพื่อสร้างชีวิตตัวเองและครอบครัวอาจจำเป็นต้องก่อหนี้ ดังนั้น การเป็นหนี้จึงไม่ใช่เรื่องเสียหายถ้ารู้จักการเป็นหนี้ให้ถูกวิธี ดังนั้น เมื่อเป็นหนี้แล้วก็ต้องสำรวจตัวเองสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้หนี้ที่ก่อนั้นสร้างผลกระทบต่อสถานะการเงินของตัวเอง

ตัวอย่างการสำรวจหนี้ เช่น การจ่ายหนี้ตรงเวลา ไม่ก่อหนี้เพิ่มโดยไม่จำเป็น เคลียร์หนี้เก่าให้หมดเร็วที่สุด ใช้บัตรเครดิตอย่างรัดกุมและจ่ายหนี้เต็มจำนวน เป็นต้น

วันที่ 4 : วางแผนชำระหนี้

เมื่อเรารู้แล้วว่าเรามีหนี้อะไรบ้าง เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้บ้าน หนี้รถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ามือถือ หรือหนี้ที่ยืมมาจากคนรอบข้าง เราต้องวางแผนใช้หนี้ด้วย หมายความว่า ต้องมีเงินเพียงพอที่จะนำมาจ่ายหนี้ และยิ่งมีการใช้เงินตามงบประมาณหรือควบคุมค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้ดี (ตามวันที่ 2) สิ่งที่ตามมา คือ เงินเหลือมากขึ้น

พอเราเห็นภาพรวมของหนี้สินแล้ว ถัดไปต้องจัดลำดับหนี้ที่ต้องจ่าย หลักๆ มี 2 วิธี คือ

(1) จ่ายหนี้ที่มียอดคงเหลือน้อยที่สุด ซึ่งจะทำให้มีเงินเหลือเพื่อนำไปชำระหนี้ก้อนอื่นได้ และช่วยสร้างกำลังใจในการบริหารจัดการหนี้ก้อนต่อๆ ไป

(2) จ่ายหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงที่สุด จะช่วยประหยัดเงินค่าดอกเบี้ย ส่วนจะเลือกวิธีไหนก็เลือกให้เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด

สำหรับหนี้บ้าน ถ้าสามารถรีไฟแนนซ์ได้ก็ควรทำ เพราะจะทำให้ผู้กู้กลับมาเริ่มต้นที่ดอกเบี้ยในอัตราถูกลง เงินในแต่ละงวดที่ผ่อนชำระหักเงินต้นมากขึ้น ย่อมทำให้เงินต้นลดลงเร็วกว่า

วันที่ 5 : เก็บออมเผื่อฉุกเฉิน

เมื่อวางแผนจ่ายหนี้อย่างรัดกุมแล้ว ถัดมาควรทำให้มีเงินใช้อย่างพอเพียง ถึงแม้จะเกิดวิกฤติก็มีใช้แบบสบายๆ วิธีการ คือ การมีเงินออมเผื่อฉุกเฉินซึ่งเงินก้อนนี้จะช่วยให้มีความปลอดภัยทางการเงินหากประสบปัญหาค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้วางแผนไว้ หรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดและจำเป็นต้องใช้เงินทันที เช่น ตกงาน ค่าซ่อมรถ หรือเจ็บป่วยต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เป็นต้น

สำหรับเงินออมเผื่อฉุกเฉินควรมีอย่างน้อย 3 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เช่น มีค่าใช้จ่ายเดือนละ 10,000 บาท เงินฉุกเฉินก็ควรมี 30,000 บาท หรือถ้าต้องการอุ่นใจอาจมีถึง 6 เท่า คือ 60,000 บาท

วันที่ 6 : ออมเงินเพื่อวัยเกษียณ

การออมเงินเพื่อวัยเกษียณอาจเป็นเรื่องที่หลายคนมองข้าม โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน เพราะมองว่าเป็นเรื่องของคนวัย 40 ปี แต่ความจริงควรเริ่มต้นวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะยิ่งทำเร็วเท่าไหร่ ยิ่งมีอิสรภาพทางการเงินเร็วขึ้นเท่านั้น ที่สำคัญมั่นใจได้ว่าเมื่อเกษียณไปแล้วจะมีใช้อย่างเพียงพอ

วิธีการเริ่มต้นในการออมเงินเพื่อวัยเกษียณ คือ ถ้าเป็นพนักงานบริษัทเอกชนก็สมัครเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถ้าเป็นข้าราชการก็ออมเงินผ่าน กบข. จากนั้นก็แบ่งเงินไปลงทุนผ่านกองทุนรวม SSF และ RMF และอย่าลืมซื้อประกันบำนาญ หลังจากนั้นก็ติดตามข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ เช่น

- ผลตอบแทนและความเสี่ยงเหมาะสมกับตัวเองหรือไม่
- สินทรัพย์ที่กำลังลงทุนมีสัดส่วนเหมาะสมกับสไตล์การลงทุนของเราหรือไม่
- ผลตอบแทนแต่ละสินทรัพย์ ยังทำงานได้ดีหรือไม่

การออมเงินเพื่อเกษียณตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาเมื่อแก่ตัว เพราะถ้าทำงานเก็บเงินเพียงอย่างเดียวอาจต้องลงแรงเหนื่อยกว่าจะมีจำนวนเงินออมเพียงพอไว้ใช้ตลอดอายุขัยหลังเกษียณ แปลว่าควรให้เงินทำงานช่วยอีกแรงอาจทำให้เหนื่อยน้อยลง และบรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้นอีกด้วย

วันที่ 7 : ทำให้เป้าหมายการเงินให้เป็นจริง

มาถึงตรงนี้แล้วจะพบว่าตลอด 6 วันที่ผ่านมาเป็นการสร้างฐานการเงินตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้น เริ่มจากการบริหารรายรับ รายจ่าย จากนั้นก็บริหารความเสี่ยงทั้งเรื่องหนี้และการออมเงินเผื่อฉุกเฉิน ตามด้วยสร้างความมั่นคงให้ชีวิตทั้งการเก็บออม ลงทุน รวมถึงแผนการเกษียณ

เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง คำถามถัดมาที่ควรถามตัวเอง คือ เป้าหมายการเงินคืออะไร ซึ่งเป้าหมายอาจเป็นเรื่องง่ายๆ ก็ได้ เช่น ไปเที่ยวญี่ปุ่น หรือเป็นเรื่องท้าทาย เช่น ซื้อรถคันใหม่ และเมื่อมีเป้าหมายก็ต้องสร้างแผนการเงินเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้วย

สำหรับวิธีการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย อาจเริ่มต้นง่ายๆ เช่น ถ้าอยากไปเที่ยวญี่ปุ่นก็ต้องแบ่งเงินไปเก็บออมให้มากขึ้น หรืองดการกินข้าวนอกบ้าน ยกเลิกการเป็นสมาชิกฟิตเนส เป็นต้น เช่นเดียวกันถ้าอยากได้รถคันใหม่ อาจต้องหารายได้พิเศษ รวมถึงลดค่าใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น

กุญแจสำคัญที่ทำให้สามารถควบคุมการเงินหรือตรวจสอบเส้นทางการเงินของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ ทั้งตรวจสอบเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี ถ้าตรงไหนทำได้ดีก็ทำต่อไป แต่ตรงไหนยังต้องปรับปรุงก็ต้องพยายามหาทางปรับแผน ถ้าทำได้ก็จะมีสถานะการเงินแข็งแกร่ง