เริ่มปีใหม่ก็เริ่มเข้าสู่เทศกาลการยื่นภาษีกันอีกแล้ว โดยบุคคลธรรมดาหากยื่นภาษีด้วยตนเองแบบกระดาษ ที่สำนักงานสรรพากรจะยื่นได้ถึงวันที่ 31 มี.ค. 2567 แต่หากยื่นแบบออนไลน์ผ่าน www.rd.go.th จะยื่นได้ถึงวันที่ 8 เม.ย. 2567

เรื่องภาษีไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเข้าใจได้ทันที และทุกครั้งที่เมื่อถึงเวลาต้องยื่นภาษี มักมีความเชื่อที่เข้าใจกันผิดๆ หลายอย่าง โดยเฉพาะ 7 ข้อนี้...

🚫(1) ถ้าเป็นเด็ก เป็นพระ เป็นคนสูงอายุ หรือ คนที่เสียชีวิตไปแล้ว ไม่ต้องเสียภาษี

✅ความจริง คือ สรรพากร กำหนดผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมา โดยมีสถานะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้

➡️1. บุคคลธรรมดา
➡️2. ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
➡️3. ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
➡️4. กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
➡️5. วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เป็นพระ หรือ เป็นคนสูงอายุ สรรพากรถือเป็นบุคคลธรรมดาตามข้อ 1 หากคนเหล่านี้มีเงินได้ในปีที่ผ่านมาตามเกณฑ์ของสรรพากร ก็ต้องเสียภาษี

ส่วนคนที่เสียชีวิตในระหว่างปีที่ผ่านมา ก็ยังต้องเสียภาษีในฐานะ “ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี”

🚫(2) “ผู้เสียภาษี” กับ “ผู้ยื่นแบบภาษี” ต้องเป็นคนๆ เดียวกัน

✅ความจริง “ผู้เสียภาษี” คือ ผู้ที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีให้สรรพากรตามเกณฑ์ที่กำหนด ส่วน “ผู้ยื่นแบบภาษี” คือ ผู้ที่ยื่นแบบภาษีที่สำนักงานสรรพากร จะเป็นใครก็ได้ บางองค์กรอาจกำหนดให้ฝ่ายบุคคลเป็นคนช่วยกรอกและยื่นแบบภาษีเงินได้ให้กับพนักงานก็สามารถทำได้

เช่นเดียวกันกับกรณีคนที่เสียชีวิตในระหว่างปีที่ผ่านมา ถ้ามีเงินได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี ก็จะเป็น “ผู้เสียภาษี” แต่คงไม่สามารถเป็น “ผู้ยื่นแบบภาษี” เองได้ ญาติหรือคู่สมรสอาจเป็น “ผู้ยื่นแบบภาษี” แทน

🚫(3) คนที่มีเงินได้ทุกคน ต้องยื่นแบบภาษี

✅ความจริง คนที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมาจะมีหน้าที่ต้องยื่นแบบฯ ก็ต่อเมื่อมีเงินได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดไม่ว่าเมื่อคำนวณภาษีแล้วจะมีภาษีต้องชำระเพิ่มเติมหรือไม่ก็ตาม โดยแบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้

➡️1.กรณีคนโสด

ต้องยื่นภาษีเงินได้ เมื่อมีเงินเดือนตั้งแต่ 10,000 บาทต่อเดือน (120,000 บาทต่อปี) รวมทั้งหากมีรายได้ที่ไม่ใช่เงินเดือนตั้งแต่ 5,000 บาทต่อเดือน (60,000 บาทต่อปี)

➡️2.กรณีสมรส

ต้องยื่นภาษีเงินได้ เมื่อมีเงินเดือนตั้งแต่ 18,333 บาทต่อเดือน (220,000 บาทต่อปี) รวมทั้งหากมีรายได้ที่ไม่ใช่เงินเดือนตั้งแต่ 10,000 บาทต่อเดือน (120,000 บาทต่อปี)

🚫(4) ถ้ายื่นภาษีภายในกำหนด ก็ถือว่าเสียถูกต้อง

✅ความจริง แม้จะยื่นภาษีทันกำหนด แต่ไม่ได้ชำระเงินภาษีภายในกำหนด ก็ถือว่าไม่ได้ยื่นแบบ หากเกินกำหนดชำระไปแล้วเราต้องจ่ายภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับ

🚫(5) “ค่าใช้จ่ายจริง” กับ “ค่าใช้จ่ายทางภาษี” คือ ตัวเดียวกัน

✅ความจริง “ค่าใช้จ่ายจริง” คือ ค่าใช้จ่ายที่เราจ่ายออกไปจริงๆ แต่ “ค่าใช้จ่ายทางภาษี” คือ ค่าใช้จ่ายที่สามารถเอามาหักเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ ต้องเข้าลักษณะค่าใช้จ่ายของสรรพากร ซึ่ง ลักษณะ “ค่าใช้จ่ายทางภาษี” ของการประเมินเงินได้สุทธิของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กับ นิติบุคคล ใช้เกณฑ์เดียวกัน คือ

องค์ประกอบรายจ่ายในการดำเนินกิจการที่จะนำไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิ โดยต้องครบองค์ประกอบทุกข้อดังนี้

➡️1. ต้องเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการประกอบกิจการ
➡️2. ต้องเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ และพิสูจน์ได้ว่า มีเหตุผลอันสมควรที่จะจ่ายรายการรายจ่ายนั้น
➡️3. มีหลักฐานการจ่ายที่สามารถพิสูจน์ผู้รับได้
➡️4. ต้องเป็นรายจ่ายสิ้นเปลืองหมดไปที่ไม่ก่อให้เกิดเป็นทรัพย์สินหรือสิทธิที่มีอายุการใช้งานเกินกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี
➡️5. รายจ่ายในการดำเนินงานเกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีปีใด ให้ถือเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
➡️6. ต้องไม่เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายที่ต้องห้ามตามเงื่อนไขแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

สรุปง่ายๆ คือ

➡️1. ต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่ก่อให้เกิดเงินได้ ค่าใช้จ่ายไหนที่ไม่ก่อให้เกิดเงินได้ จะไม่สามารถนำมาเป็น “ค่าใช้จ่ายทางภาษี” ได้
➡️2. ต้องมีหลักฐานการจ่ายจริง
➡️3. จำนวนที่จ่ายต้องเป็นจำนวนตามสมควร ไม่มากเกินไป
➡️4. ต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดในรอบปีภาษีนั้นๆ

เนื่องจากเงินได้แต่ละอย่างมีค่าใช้จ่ายต่างกัน อย่างเช่น มนุษย์เงินเดือน หรือ ตัวแทนประกันชีวิตที่ได้ค่าคอมมิชชั่นจากการขาย เงินได้ที่ได้รับเป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่งานที่ทำ คือ เป็นเงินได้ที่ได้รับมาจากการใช้เวลา ความรู้ความสามารถ ไม่มีการลงทุนอะไร จึงมีค่าใช้จ่ายน้อย สรรพากรจึงกำหนดให้หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 50% สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

แต่หากเป็นเงินได้จากการทำธุรกิจ มีการลงทุน การจ้างงาน สรรพากรก็ให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง โดยเราจะต้องมีหลักฐานการจ่ายจริง เช่น ใบกำกับภาษี ใบเสร็จ ฯลฯ หรือหากเราไม่มีหลักฐาน บางประเภทของเงินได้ เราก็สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ ส่วนใหญ่จะหักแบบเหมาได้ 60% ของเงินได้

🚫(6) เสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายแล้ว ไม่ต้องยื่นภาษีอีก

✅ความจริง ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือ ส่วนหนึ่งของภาษีเงินได้ที่ผู้มีเงินได้ต้องจ่ายให้สรรพากร ณ ขณะที่มีเงินได้ โดยผู้จ่ายเงินได้จะทำหน้าที่หักภาษีหัก ณ ที่จ่ายส่งสรรพากรจากจำนวนเงินที่จะจ่ายให้ผู้มีเงินได้ พร้อมกับมอบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือ 50 ทวิ ซึ่งก็คือ เอกสารแสดงยอดเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ได้หักไว้แล้วในปีภาษี

นอกจากนี้ในเอกสาร 50 ทวิ ยังแสดงข้อมูลรายได้ว่าได้มาจากที่ใดและจำนวนเท่าไหร่บ้าง เป็นเอกสารที่ผู้มีเงินได้ใช้เป็นหลักฐานในการยื่นภาษี สรรพากรระบุไว้ว่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย มีไว้เพื่อลดภาระผู้เสียภาษี จะได้ไม่ต้องเสียภาษีทีเดียวเยอะๆ ตอนยื่นภาษี

ดังนั้น การจ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่าย จึงเป็นการเสียภาษีเงินได้เพียงบางส่วน ผู้มีเงินได้จึงต้องนำเงินได้และภาษีหัก ณ ที่จ่ายมาคำนวณภาษีตอนยื่นภาษีอีกทีโดยใช้ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือ 50 ทวิ เป็นหลักฐาน

🚫(7) “ค่าลดหย่อนภาษี” คือ หักลดหย่อนจากภาษีที่เราต้องเสีย

✅ความจริง “ค่าลดหย่อนภาษี” ตามรายการที่กฎหมายกำหนดไว้ให้สามารถนำไปหักออกจาก “เงินได้” หรือรายได้ที่เรามี หลังจากที่หักค่าใช้จ่ายแล้ว ซึ่งประโยชน์ของค่าลดหย่อน คือ ทำให้เงินได้สุทธิลดน้อยลง ตามสูตรนี้

➡️เงินได้ (ต่อปี) - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ
➡️เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = เงินภาษีที่ต้องจ่าย

จะเห็นได้ว่า “ภาษีเงินได้” จะคิดจาก “เงินได้สุทธิ” และค่าลดหย่อนใช้ลบออกจากเงินได้ต่อปี เพื่อทำให้เงินได้สุทธิลดลง เมื่อเงินได้สุทธิลดน้อยลง เราก็จะเสียภาษีเงินได้น้อยลง ตามวิธีการคำนวณภาษีเงินได้ที่สรรพากรกำหนด