การจัดทำงบประมาณ ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญประการหนึ่งที่ทำให้แผนการเงินบรรลุเป้าหมาย เพราะเป็นเครื่องมือช่วยวางแผนและบริหารการเงินให้มีประสิทธิภาพ พูดง่าย ๆ ไม่ให้หลงทางด้านการเงิน เช่น การวางแผนด้านรายได้ แผนการออมการลงทุนเพื่ออนาคต การตัดสินใจทางการเงินวันข้างหน้า แผนค่าใช้จ่าย

การจัดทำงบประมาณจะช่วยให้กำหนดได้ว่าตัวเองต้องการใช้เงินอย่างไรและใช้ไปกับสิ่งไหน และเมื่อเข้าใจในการจัดทำงบประมาณก็แน่ใจว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ถูกใช้ไปตามที่ต้องการ และสามารถติดตามการใช้จ่ายว่าตรงกับลำดับความสำคัญจริง ๆ

มีบ่อยครั้งเมื่อหลายคนเริ่มตั้งงบประมาณก็รู้สึกประหลาดใจที่เห็นว่าเงินถูกนำไปใช้กับสิ่งที่ไม่สำคัญ เช่น การช้อปปิ้งออนไลน์แบบไม่คิดหน้าคิดหลัง หรือรูดบัตรเครดิตเพื่อทานอาหารในห้างสรรพสินค้า สัปดาห์ละ 3 ครั้ง

ดังนั้น การจัดทำงบประมาณจะช่วยให้ติดตามความคืบหน้าว่าปฏิบัติตามแผนการเงินเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายทางการเงินที่ตัวเองกำหนดเอาไว้หรือไม่ สำหรับการจัดทำงบประมาณทุกคนสามารถทำได้จากขั้นตอน ดังนี้

(1) กำหนดรายได้

เริ่มต้นด้วยการตรวจสอบรายได้ต่อเดือน รวมถึงรายได้อื่น เช่น รายได้พิเศษ สวัสดิการต่าง ๆ ผลตอบแทนจากการลงทุน แต่หากมีรายได้ในแต่ละเดือนไม่สม่ำเสมอก็ใช้วิธีการคำนวณคร่าว ๆ ว่าต่อปีมีรายได้เท่าไหร่ จากนั้นก็หารด้วย 12 ก็จะรู้ว่าแต่ละเดือนมีรายได้เท่าไหร่

(2) จัดหมวดหมู่ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและไม่จำเป็น

จดบันทึกค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายทุกเดือนและมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิต เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าเดินทาง ค่าน้ำมันรถ ค่ามือถือ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าหนี้บัตรเครดิต ให้พ่อแม่ รวมถึงเงินออมและเงินลงทุนด้วย

สำหรับค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นก็จดบันทึกเช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายจำเป็น เช่น ทานอาหารนอกบ้าน สมาชิกฟิตเนส, สมาชิก Netflix หรือซื้อเสื้อผ้า เป็นต้น โดยค่าใช้จ่ายส่วนนี้ถือเป็นความต้องการในปัจจุบันแต่ไม่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตหากปรับลดค่าใช้จ่ายลง

ถึงแม้ว่าค่าใช้จ่ายทั้งสองส่วนจะไม่สามารถระบุเป็นจำนวนเงินได้ชัดเจนว่าต้องจ่ายเท่ากันทุก ๆ เดือน จึงให้ประมาณการจำนวนเงินคร่าว ๆ ว่าแต่ละเดือนน่าจะจ่ายในระดับดังกล่าว และเมื่อจัดหมวดหมู่ค่าใช้จ่ายทั้งจำเป็นและไม่จำเป็น ก็ถึงเวลาจดสิ่งที่คิดว่าในเดือนต่อไปจะใช้จ่ายในแต่ละรายการอย่างไร

(3) เปรียบเทียบประมาณการกับค่าใช้จ่ายจริง

ย้อนกลับไปดูประวัติการใช้จ่ายในช่วงสามเดือนที่ผ่านมาและพิจารณาว่าใช้จ่ายจริงในแต่ละรายการต่อเดือนเป็นอย่างไร มีการใช้จ่ายตรงตามที่ประมาณการเอาไว้หรือไม่ หากตรงก็แสดงว่ามีการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดี แต่หากค่าใช้จ่ายสูงกว่าประมาณการก็ต้องทบทวนเพื่อจัดการการใช้จ่ายและติดตามการเงินให้เข้มงวดขึ้น

(4) กำหนดวงเงินการใช้จ่ายภายใต้รายได้

เมื่อทราบแล้วว่าตัวเองใช้จ่ายไปเท่าไหร่ต่อเดือน ก็ให้กำหนดวงเงินใช้จ่ายเริ่มต้นด้วยการจัดทำงบประมาณกับค่าใช้จ่ายที่จำเป็น จากนั้นบวกค่าใช้จ่ายที่จำเป็นลบออกจากรายได้ โดยจำนวนเงินที่เหลือ คืองบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ หรือก็สามารถนำไปเก็บออมในส่วนของเงินออมเผื่อฉุกเฉินก็ได้ ดังนั้น การตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายที่ดีจึงไม่ควรเกินรายได้ เพราะหากเกินอาจจะกลายเป็นหนี้

(5) มองหาทางเพื่อลดค่าใช้จ่าย

สมมติว่าในแต่ละเดือนมีรายจ่ายมากกว่ารายรับก็จะต้องหาวิธีลดค่าใช้จ่าย เริ่มต้นด้วยการลดวงเงินใช้จ่ายในรายการที่ไม่จำเป็น หากค่าใช้จ่ายยังเกินรายรับก็ต้องลดค่าใช้จ่ายที่จำเป็นบางรายการ เช่น จ่ายหนี้บัตรเครดิตให้หมดโดยเร็วที่สุด มองหาโปรโมชั่นมือถือและอินเทอร์ที่ถูกลง ขณะเดียวกันก็มองหารายได้เสริม (ถ้าทำได้)

(6) ติดตามการใช้จ่าย

เมื่อกำหนดงบประมาณสำหรับเดือนนั้นแล้วก็ต้องติดตามการใช้จ่าย และหยุดเมื่อค่าใช้จ่ายถึงกำหนด แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายต่อไป เช่น เดือนนี้เดินทางมากกว่าปกติ ทำให้ค่าน้ำมันอยู่ที่ 2,000 บาท ซึ่งเกินที่ประมาณการไว้ 500 บาท ก็ต้องโอนค่าใช้จ่ายจากรายการอื่น ๆ มาใช้ได้ แล้วก็ปรับลดรายการนั้นลง ซึ่งการทำเช่นนี้ได้จะต้องตรวจสอบการใช้จ่ายก่อนใช้จ่าย เพื่อดูว่าเหลือเงินอยู่เท่าไหร่

(7) วางแผนสำหรับเดือนถัดไป

หลังจากที่จัดทำงบประมาณเดือนแรกเสร็จแล้ว การวางแผนสำหรับเดือนถัดไปก็จะง่ายขึ้น โดยเฉพาะการดูว่าใช้เงินเป็นอย่างไร ปรับรายการค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิต อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรระวังเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายก้อนโตที่อาจเกิดขึ้น เช่น ค่าเบี้ยประกันที่จะถึงกำหนดชำระ ค่าตรวจสภาพรถ หรือค่าใช้จ่ายช่วงวันหยุดยาวที่กำลังจะมาถึง ดังนั้น ควรวางแผนเตรียมเงินให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายพิเศษ หากทำได้จะทำให้ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสิน ซึ่งอาจเป็นภาระในระยะยาว

โดยสรุป งบประมาณเป็นแผนประมาณการเงินที่จัดทำขึ้นล่วงหน้าที่แสดงรายการเงินทั้งหมดที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จึงควรทำเป็นรายงวด (รายสัปดาห์, รายเดือน) เพื่อช่วยให้สามารถควบคุมการใช้จ่ายได้ในอนาคตอย่างเหมาะสม หากมีเงินเหลือจะได้วางแผนการออมและการลงทุนเพิ่มเติม หากเงินไม่พอก็จะได้เตรียมตัดลดค่าใช้จ่ายหรือหาทางแก้ไขปัญหา สำหรับเคล็ดลับเบื้องต้นในการทำงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ ดังนี้

ประมาณการอย่างรอบคอบ

ทั้งจำนวนเงินที่คาดว่าจะได้รับและเงินที่ต้องจ่าย การประมาณการจำนวนเงินที่ดีควรคำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องให้รอบด้าน อาจใช้จำนวนเงินรับและเงินจ่ายที่เกิดขึ้นจริงในอดีตเป็นเกณฑ์แล้วพิจารณาสถานการณ์ในปัจจุบันร่วมด้วย

ประมาณการอย่างสมเหตุสมผล

ต้องประมาณการเงินสดที่ทำให้ปฏิบัติได้จริง ไม่ประมาณการเงินสูงหรือต่ำเกินไป จนไม่สามารถทำได้

ประมาณการแบบยืดหยุ่นได้

เพราะความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้ งบประมาณเงินที่ดีจึงควรปรับให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม

ทำแล้วต้องใช้

คงไม่มีประโยชน์หากเสียเวลาทำงบประมาณเงินแล้วไม่ปฏิบัติตามที่วางไว้