ในยุคดิจิทัลที่เราอยู่ การใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่สำคัญมากในชีวิตประจำวัน เพราะเต็มไปด้วยความสะดวกสบาย ทั้งการทำธุรกรรม การช็อปปิ้งออนไลน์ หรือเรียกได้ว่าแทบจะทำทุกอย่างผ่านโทรศัพท์เครื่องเดียว แต่ใช่ว่าจะมีข้อดีเสมอไป ซึ่งการใช้อินเทอร์เน็ตนั้นเสี่ยงต่อการโกงออนไลน์ที่อาจทำให้คุณสูญเสียเงินทรัพย์และข้อมูลส่วนตัว หากคุณขาดความระมัดระวังและรอบคอบ

รวมถึงกลโกงออนไลน์มาในรูปแบบต่างๆ ทั้งลิงก์ปลอมหลอกให้กรอกประวัติส่วนตัว โฆษณาโปรโมชั่นสุดแสนพิเศษ และข้อความชวนให้ลงทุน อ้างรวยเร็ว รวยไว ลงทุนน้อย หรือปลอมเป็นคนรู้จักทักมาขอยืมเงิน นับได้ว่าเป็นภัยใกล้ตัวที่เชื่อว่าหลายๆคนเคยพบเจอประสบการณ์แบบนี้และสูญเสียเงินให้กับมันไป

อย่างในประเทศไทยพบว่าหลายคนยังตกเป็นเหยื่อและสูญเสียเงินจำนวนมากให้มิจฉาชีพ โดยกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ทำการรวบรวมสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65-30 ก.ย.66

พบว่ามีจำนวนคดีมากถึง 365,547 คดี รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 45,738,507,864 บาท

โดยคดีออนไลน์ 5 อันดับแรก คือ

📌 1.หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ มูลค่าความเสียหาย 1,952,445,391 บาท
📌 2.หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน มูลค่าความเสียหาย 5,425,376,535 บาท
📌 3.หลอกให้กู้เงิน มูลค่าความเสียหาย 1,667,282,574 บาท
📌 4.หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 13,952,456,410 บาท
📌 5.ข่มขู่ทางโทรศัพท์ มูลค่าความเสียหาย 5,449,237,515 บาท

ทาง aomMONEY จึงขอยกตัวอย่าง 7 สัญญาณกลโกงออนไลน์ที่มิจฉาชีพมักใช้หลอกลวงหรือจูงใจ หากใครเจอแบบนี้ต้องระวัง! ถ้าไม่อยากตกเป็นเหยื่อ

➡️ แอบอ้างเป็นเพื่อนหรือคนรู้จักเพื่อทักมาขอยืมเงิน

หากคุณได้รับข้อความจาก ญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท หรือบุคคลอื่น เพื่อหลอกลวงยืมเงินโดยอ้างเหตุผลต่างๆ ให้เราโอนเงินไปให้ ถ้าได้รับข้อความเช่นนี้ ควรตรวจสอบบัญชีของผู้ที่ทักมาว่าเป็นบัญชีจริงหรือไม่ และโทรถามบุคคลที่ถูกแอบอ้างเพื่อความมั่นใจก่อนโอนเงินเสมอ

➡️ ' Romance Scams ' หลอกให้หลงรัก

ปลอมเป็นบุคคลหน้าตาดี มาทำความรู้จักผ่านบัญชีออนไลน์ ตีสนิทหลอกให้รัก โดยหว่านล้อมด้วยคำพูดที่ทำให้หลงรัก จากนั้นใช้กลอุบายต่าง ๆ เพื่อหลอกล่อให้เหยื่อโอนเงิน เช่น “ จะมาแต่งงานที่เมืองไทย ส่งทรัพย์สินมาให้แต่ต้องชำระค่าภาษีก่อน ” ทำให้เหยื่อหลงกลเชื่อเพราะรัก พอโอนเงินให้กลับพบว่าไม่มีทรัพย์สินใดส่งมาจริงๆ

➡️ หลอกให้ลงทุน

มิจฉาชีพมักปลอมโปรไฟล์เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเรื่องการเงินการลงทุนเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในการหลอกลวง เช่น เทรดเหรียญดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์, ลงทุนเกี่ยวกับเหรียญคริปโต หรือ ลงทุนซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินสกุลต่างประเทศ โดยชักชวนให้คนร่วมลงทุนโดยอ้างว่าใช้แค่เงินทุนเพียงเล็กน้อยก็สามารถสร้างผลตอบแทนได้มากมาย จนทำให้มีคนตกเป็นเหยื่อสูญเสียเงินกันเป็นจำนวนมาก

➡️ โฆษณาสินค้าที่มาพร้อมโปรโมชั่นลดราคาจนน่าตกใจ

หากคุณพบเว็บไซต์ขายของออนไลน์ แล้วเจอสินค้าที่มีราคาถูก หรือมีการโฆษณาโปรโมชั่นลดราคาเกินจริง โปรดอย่าเพิ่งรีบตัดสินใจกดซื้อเพราะสินค้าอาจไม่มีอยู่จริง ดังนั้นควรให้ตรวจสอบข้อมูลความน่าเชื่อถือต่าง ๆ ของเว็บไซต์นั้นให้ชัวร์เสียก่อนก็จะสามารถช่วยให้เราไม่ตกเป็นเหยื่อได้

➡️ สร้างบัญชีปลอมเพื่อทักมาหลอกลวง

โดยภัยอันตรายของเว็บไซต์ปลอมส่วนใหญ่มักจะใช้วิธีการตั้งผ่าน URL หรือการพาดหัวเว็บไซต์ให้ใกล้เคียงกับเว็บไซต์จริง โดยมิจฉาชีพใช้เป็นช่องทางหลอกให้เหยื่อเข้าไปกรอกข้อมูลส่วนตัวบางอย่าง ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียทรัพย์สินหรือความปลอดภัยของชีวิตได้ ดังนั้นก็ควรจดจำวิธีดูและมีสติระหว่างการท่องเว็บอยู่เสมอ อย่าดาวน์โหลดอะไรที่ไม่จำเป็นเด็ดขาด

➡️ กลโกง “แชร์ลูกโซ่” ให้ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาอันสั้น

ข้อความชักชวนให้ลงทุนแล้วอ้างว่าให้ผลตอบแทนสูงได้ในเวลาอันรวดเร็ว และหากชวนคนอื่นได้ก็จะมีโบนัสเพิ่มอีก ให้จำไว้เลยว่าเป็นกลโกงที่มิจฉาชีพใช้หลอกลวงหรือจูงใจผู้คน หรือที่เรียกว่า “แชร์ลูกโซ่” ซึ่งหากเจอแบบนี้ให้ไตร่ตรองเสมอว่าไม่มีการลงทุนใดที่ให้ผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว เพราะการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง ย่อมมีความเสี่ยงสูงตามมาด้วย ก่อนลงทุนควรศึกษาให้ดีก่อนเสมอ

➡️ เร่งรัดให้ตัดสินใจ

มิจฉาชีพมักเร่งให้คุณตัดสินใจ โดยให้เวลาน้อยๆเพราะไม่ต้องการเวลาให้คุณได้ไตร่ตรองหรือปรึกษาคนอื่น โดยเสนอสิทธิพิเศษเฉพาะในช่วงเวลานั้น เช่น ภายในเดือนนี้เท่านั้น ถ้าพลาดจะตกขบวนโอกาสดี ๆ ซึ่งความเป็นจริงแล้วการลงทุนไม่ควรด่วนตัดสินใจและผู้แนะนำการลงทุนต้องไม่เร่งรัดการตัดสินใจ เพื่อให้เวลาลูกค้าคิดให้ถี่ถ้วน

จากตัวอย่างข้างต้นเราจึงขอแนะนำว่าก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนควรศึกษาหาความรู้ก่อนลงทุนและมีสติก่อนตัดสินใจ เพราะการลงทุนทุกอย่างมาพร้อมกับความเสี่ยงและไม่สามารถการันตีผลตอบแทนที่แน่นอนได้

ซึ่งกลโกงออนไลน์เป็นปัญหาที่คุณสามารถป้องกันได้ด้วยการระมัดระวัง การเรียนรู้เกี่ยวกับกลโกงและการปฏิบัติตามคำแนะนำด้านความปลอดภัยออนไลน์ และควรติดตามข่าวสารที่เกี่ยวกับการหลอกลวงลงทุนต่าง ๆ อยู่เสมอ เพราะอาจจะมีวิธีหลอกลวงใหม่ ๆ เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้คุณปกป้องตัวเองและทรัพย์สินของคุณได้