จากข้อมูลค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนทั่วประเทศไทย ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าปี 2562 - 2565 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 20,742 ล้านบาท, 21,329 ล้านบาท, 21,616 ล้านบาท และ 22,372 บาท ตามลำดับ

ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของคนไทย (ข้อมูล ณ พฤศจิกายน 2565) แบ่งเป็น 5 กลุ่ม (ข้อมูล : สำนักงานสถิติแห่งชาติ) ได้แก่ กลุ่มรายได้น้อยที่สุด 11,135 บาท, กลุ่มรายได้น้อย 16,852 บาท, กลุ่มรายได้ปานกลาง 22,106 บาท, กลุ่มรายได้สูง 29,211 บาท และกลุ่มรายได้สูงสุด 57,461 บาท

หากใช้สถิตินี้ พบว่ากลุ่มรายได้น้อยที่สุดกับกลุ่มรายได้น้อย มีรายได้ต่ำกว่ารายจ่าย ส่วนอีก 3 กลุ่มมีรายได้มากกว่ารายจ่าย แต่สังเกตว่ากลุ่มรายได้ปานกลาง มีรายได้กับรายจ่าย แทบจะเท่ากัน

นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดเชื้อไรรัส COVID-19 เป็นต้นมา พบว่าคนไทยกังวลเกี่ยวกับ “ค่าใช้จ่าย” มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด เช่น ถูกลดเงินเดือน หรือตกงานกะทันหัน ผลที่ตาม คือ รายได้หดหาย แต่รายจ่ายยังเหมือนเดิมหรือเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว การจ้างงานเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้คนมีรายได้สูงขึ้นตามไปด้วย แต่การจับจ่ายใช้สอยก็สูงเป็นเงาตามตัว เพราะค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้นจากเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้หลายคนยังคงมีรายจ่ายสูง บางคนรายจ่ายยังคงแซงหน้ารายได้ และเริ่มส่งผลต่อการดำรงชีวิต ดังนั้น ควรตรวจสอบสถานะการเงินตัวเองเพื่อให้รู้สัญญาณ ที่เป็นสาเหตุให้หาเงินได้ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่าย เพื่อจะได้รีบแก้ไข ไม่ให้เกิดปัญหาบานปลาย

1. จ่ายหนี้ลำบาก

ลองสำรวจตัวเองว่าเมื่อเห็นใบแจ้งหนี้แล้วรู้สึกกังวลหรือไม่ว่าจะหาเงินเพื่อจ่ายหนี้ได้ไม่ตรงเวลา หรือมีใบแจ้งหนี้หลายๆ ใบ แล้วไม่สามารถจัดลำดับความสำคัญได้ว่าจะจ่ายหนี้อะไรก่อนหลัง อาจบ่งบอกว่ารายได้ไม่เพียงพอ หรือไม่ก็อาจเกิดจากการบริหารจัดการได้ไม่ดีเท่าที่ควร

2. เงินหมดก่อนสิ้นเดือน

หากพบว่าเงินเดือนที่ได้รับในแต่ละเดือน หมดก่อนสิ้นเดือน และยิ่งไม่มีเงินเหลือเพื่อนำไปเก็บออม แสดงว่ารายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายแน่นอน

3. หนี้สินอยู่ในระดับสูง

เมื่อสำรวจตัวเองในแต่ละเดือนแล้วพบว่าพึ่งพาบัตรเครดิตเพื่อเป็นช่องทางในการใช้จ่าย หรือจำนวนหนี้สินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นสัญญาณว่ารายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต ตามสูตรที่ว่าถ้า รายได้ น้อยกว่า รายจ่าย ส่วนที่เกินกว่ารายได้ก็จำเป็นต้องกู้หนี้ยืมสินมาใช้ก่อนนั่นเอง

4. ไม่มีเงินเก็บออมหรือลงทุน

โดยปกติแล้วในแต่ละเดือนควรแบ่งเงินบางส่วน เช่น 15% ของเงินเดือน เพื่อนำไปเก็บออมหรือลงทุนอย่างต่อเนื่อง แต่หากพบว่าไม่มีเงินเหลือเพื่อเก็บออมหรือลงทุนอย่างสม่ำเสมอ อาจเป็นสัญญาณว่ามีรายได้ไม่เพียงพอ

5. ไม่มีเงินออมเพื่อการเกษียณ

หากวันนี้ยังไม่มีเงินเก็บออมสม่ำเสมอเพื่อเตรียมไว้ใช้หลังเกษียณ แสดงว่ารายได้ไม่เพียงพอสำหรับการวางแผนการเงินเพื่ออนาคต

6. ขาดความยืดหยุ่นทางการเงิน

ลองถามตัวเองว่าหากเกิดเหตุฉุกเฉิน (เช่น ตกงาน) มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินหรือไม่ ถ้าคำตอบว่าไม่มี หรือต้องใช้วิธีหยิบยืม แสดงว่ารายได้ไม่เพียงพอให้เกิดความยืดหยุ่นทางการเงิน พูดง่าย ๆ เงินเริ่มตึงตัว

7. เครียดเรื่องเงินตลอดเวลา

เมื่อสำรวจตัวเองแล้วพบว่า มักกังวลหรือรู้สึกเครียดเกี่ยวกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ หรือเมื่อคนรอบข้างพูดถึงเรื่องเงิน หนี้สิน ก็รู้สึกว่าตัวเองต้องดิ้นรนในการหาเงินให้มากขึ้น อาจบ่งบอกว่ารายได้ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ

8. ไม่สามารถทำตามความสนใจหรืองานอดิเรกได้

สำรวจตัวเองว่าเมื่อไหร่ที่ต้องการท่องเที่ยวหรือชอบสนใจอบรมกับสิ่งที่ตัวเองสนใจ เช่น เรียนทำอาหาร เรียนวาดรูป แต่ไม่สามารถทำตามความต้องการ เพราะว่าข้อจำกัดทางการเงิน แสดงว่ารายได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ

สิ่งสำคัญเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาทางการเงิน คือ ตรวจสอบรายได้และค่าใช้จ่ายอย่างสม่ำเสมอ เช่น รายสัปดาห์ รายเดือน จากนั้นก็ประเมินสถานการณ์ทางการเงิน หากมีสัญญาณบางอย่างที่ไม่ค่อยดี ก็ต้องลงมือแก้ไข เช่น ลดรายจ่าย เสริมรายได้ ซึ่งการรู้จักเส้นทางการเงินตัวเอง อัพเดทข้อมูลการเงิน จะทำให้เกิดความมั่นคงทางการเงินและความเป็นอยู่ที่ดี