[Spolier Alert : บทความนี้จะมีการพูดถึงเนื้อหาของซีรีส์ Beef จาก ​Netflix]

อากาศว่าร้อนแล้ว แต่ตอนนี้ Beef บน Netflix อาจจะเป็นซีรีส์ที่ร้อนแรงและเกรี้ยวกราดยิ่งกว่า รีวิวจากหลาย ๆ แห่งล้วนชมเป็นเสียงเดียวกันว่ามันทำออกมาได้อย่างน่าติดตามและดาร์คแบบดำดิ่ง (Rotten Tomatoes 98%, IMDB 8.3/10) จนทำให้ตอนท้าย ๆ ของซีรีส์ผู้ชมจะอดถามตัวเองไม่ได้เลยว่า “เฮ้ยยย…มันมาถึงจุดนี้ยังไงวะ จากแค่ชูนิ้วกลางให้กันในที่จอดรถ ชีวิตมันสามารถหลุดศูนย์และฉิบหายวายป่วงได้ขนาดนี้เลยเหรอ?”

จริงอยู่แม้ว่ามันว่าเรื่องราวและตัวละครจะเป็นสิ่งที่แต่งตั้งสมมุติขึ้นเท่านั้น แต่ด้วยอารมณ์และการตอบสนองกับ ‘สถานการณ์’ ที่เกิดขึ้นในเรื่องก็ทำให้เชื่อได้ไม่ยากว่าหายนะที่เกิดขึ้นนั้นมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้จริง ๆ

สำหรับคนดูตัวอย่างแต่ยังไม่ได้ดูซีรีส์เต็ม ๆ อาจจะคาดเดาว่าเนื้อเรื่องอาจจะเป็นการพูดถึงวัฒนธรรมหรือเชื้อชาติเป็นส่วนใหญ่เพราะในเรื่องตัวละครหลัก ๆ ส่วนใหญ่เป็นเอเชียแทบทั้งหมด ตรงนี้ก็มีความจริงอยู่บ้างและมีการพูดถึงเรื่องนี้ประปรายตลอดทั้งเรื่อง แต่ประเด็นที่สำคัญของเรื่องนี้สำหรับคนที่ได้ดูแล้วจะพบว่ามันกว้างกว่านั้นมาก มากกว่าแค่เชื้อชาติหรือสีผิว หรือต้นตระกูลแห่งความเป็นเอเชียนอเมริกันซะอีก

Beef เป็นซีรีส์ที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียม ความสุดโต่งสุดขั้ว และแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ซึ่งนี่เป็นประเด็นที่ไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียในเรื่องเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทุก ๆ คนบนโลกใบในยุคสมัยนี้ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกัน ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย หรือใครก็ตาม แก่นสารสำคัญของเรื่องราวที่เกิดขึ้นคือด้านมืดอันเลวร้ายที่ปะทุขึ้นทั่วโลกที่เกิดขึ้นจากความเกรี้ยวกราด การแบ่งชนชั้นและความไม่เท่าเทียมที่กัดกินสังคมในปัจจุบัน (ซึ่งสำหรับคนที่ชอบหนังเรื่อง Parasite ก็น่าจะพอเห็นภาพที่คล้ายคลึงกัน)

เรื่องเกิดเพราะนิ้วกลาง

ซีรีส์แนวตลก-ดราม่า เสียดสีสังคม เรื่องนี้มีทั้งหมด 10 ตอน (เชื่อว่าดูแล้วจะหยุดยาก) ถูกสร้างโดย ลีซองจิน (Lee Sung Jin) และแสดงโดย สตีเว่น เหยิน (Steven Yeun - ที่โด่งดังจาก The Walking Dead) ในบทแดนนี่ โช (Danny Cho) และ นักแสดงมากความสามารถ อาลี หว่อง (Ali Wong) ในบทบาทดราม่าเรื่องแรกของเธอในฐานะ เอมี เลา (Amy Lau) และมีนักแสดงฝีมือดี ๆ สมทบอีกมากมาย

การปะทะกันระหว่างแดนนี้และเอมี่เกิดขึ้นที่ร้านขายอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ซ่อมแซมบ้าน เมื่อความโกรธของทั้งสองฝ่ายที่อัดอั้นอยู่ในตัวอยู่แล้วเกิดปะทุขึ้นมาพร้อม ๆ กัน เมื่อแดนนี่กำลังจะถอยรถ แล้วเอมี่ขับออกมาพอดีจนเกือบชน เอมี่ไม่พอใจกดแตรลากยาวชูนิ้วกลางใส่ แดนนี่ก็เดือดขับรถไล่บี้บนท้องถนน ซึ่งกลายเป็นต้นตอของความบาดหมางที่ยาวนานยืดเยื้อและสร้างความเสียหายให้กับหลายชีวิตที่อยู่รอบ ๆ ตัว

หลังจากเหตุการณ์นั้นเนื้อเรื่องก็ค่อย ๆ เปิดเผยปมของทั้งคู่ออกมาให้เราเข้าใจความโกรธที่ถูกกดเอาไว้มานานของทั้งคู่ให้เราได้เห็น แดนนี่เป็นผู้รับเหมาที่ได้รับแรงกดดันมากมายจากทั้งต้องดูแลน้องชาย หาเงินเพื่อพาพ่อแม่ที่อยู่ที่เกาหลีใต้กลับมาอเมริกา เงินไม่ค่อยมี ธุรกิจก็ไม่ดี ถึงขั้นพยายามปลิดชีวิตตัวเองแต่ก็ไม่สำเร็จ ส่วนเอมี่ก็พยายามปิดดีลการขายธุรกิจให้กับนายทุน ธุรกิจที่เธอปลุกปั้นมาหลายปีประความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่เธอต้องการขายเพื่อจะได้มีเวลาให้กับลูกสาวมากขึ้น นอกจากนั้นก็ดิ้นรนเพื่อจะเอาใจแม่สามีที่พยายามผลักดันสามีของเอมี่ให้เป็นศิลปินตามรอยเท้าพ่อของเขา (แม้จะไม่มีความสามารถอะไรนัก)

เรื่องราวก็ใหญ่โตขึ้นเรื่อย ๆ แม้ทั้งคู่จะมีความคล้ายคลึงกัน เป็นคนเอเชียเหมือนกัน เกิดมาในครอบครัวที่ไม่ได้มีเงินทองมากมาย ไม่มีความสุขในชีวิต กดดัน โกรธเกรี้ยว แต่เอมี่ปากกัดตีนถีบและทำได้ดีในหน้าที่การเงินและชีวิตจนได้แต่งงานกับสามีที่มาจากครอบครัวศิลปินชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงและมีหน้ามีตาในสังคม ส่วนครอบครัวแดนนี่ต้องสูญเสียธุรกิจโรงแรมเล็ก ๆ ของพวกเขาไปเพราะไปเกี่ยวข้องกับของผิดกฎหมายที่เป็นของลูกพี่ลูกน้องแดนนี่ เส้นทางชีวิตของทั้งคู่เลยเริ่มแตกต่างกันออกไป

ความแตกต่างและความไม่เท่าเทียม

ด้วยช่องว่างระหว่างชนชั้นและสถานะทางสังคม เอมี่ต้องคอยเข้าสังคมชนชั้นสูง ทำตัว ‘สมบูรณ์แบบ’ ในทุก ๆ ด้าน ไม่สามารถแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งนั่นยิ่งทำให้เธอรู้สึกโกรธมากขึ้นไปอีก ในขณะที่แดนนี้ก็พยายามหาเหตุผลว่าทำไมตัวเองถึงโกรธและไม่พอใจอยู่ตลอดเวลา

แม้ระหว่างทางจะมีเรื่องตัวตนและภูมิหลังของตัวละครเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เรื่อย ๆ แต่ประเด็นที่สะท้อนได้โดดเด่นมากที่สุดกลับเป็นเรื่องของความเป็นจริงทางด้านเศรษฐกิจ คนที่มีเงินกับคนที่ไม่มี กลายเป็นคำถามว่าคนอย่างเอมี่ซึ่งเป็นเหมือนคนที่หลุดพ้นออกไปจากความยากจนแล้วจะอยู่ตรงไหน ซีรีส์นี้นำเสนอความตึงเครียดและความขัดแย้งทางสังคมที่เกิดขึ้น ตัวละครจากชนชั้นทางสังคมและชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันต้องใช้ชีวิตผ่านโลกที่เต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียมที่ห่างกันขึ้นทุกที การแบ่งขั้วทางการเมือง และสงครามทางวัฒนธรรม

เรื่องราวของตัวละครแดนนี่กับเอมี่ชี้ให้เห็นว่าความสิ้นหวังกำลังผลักดันให้ทั้งสองฝ่ายยอมรับความโดดเดี่ยวและสุดโต่ง การยอมรับว่ามีความคล้ายคลึงกับศัตรูที่อยู่ขั้วตรงข้ามเป็นเรื่องต้องห้าม ความเกลียดชังกลายเป็นเรื่องที่เราเห็นและรู้สึกได้ทั่วไปจนกลายเป็นความไม่พอใจที่ฝังอยู่ในคำพูดการกระทำและการตัดสินใจ การเลือกที่จะเห็นอกเห็นใจอีกฝ่ายถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในทุกวันนี้

เหยินให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร TIME ว่า

“เราโกรธจนถูกเหวี่ยงหลุดออกไปอีกฝั่ง แล้วคุณก็จะรู้ว่า ‘โอ้ว…ฉันก็เหมือนเธอเลย เรานั้นบุบสลายเช่นเดียวกัน”

ในช่วงท้าย ๆ ของซีรีส์เราจะเห็นว่าทั้งคู่เติบโตมาในครอบครัวเอเชียนที่บิดเบี้ยวกันคนละแบบ เอมี่ได้ยินพ่อกับแม่ของเธอทะเลาะกันและบอกว่าไม่ได้ตั้งใจจะมีเธอด้วยซ้ำ นอกจากนั้นแล้วยังแอบไปเห็นพ่อของเธอนอกใจแม่อีกด้วยแต่ก็เก็บเป็นความลับตลอดมา ส่วนแดนนี่ก็ถูกแกล้งที่โรงเรียน ได้ยินพ่อแม่เถียงกันเรื่องเงินและค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกและปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น เอมี่เกลียดที่เธอกับพ่อแม่ไม่เคยคุยถึงความรู้สึกที่อยู่ข้างใน ส่วนแดนนี่ก็รู้สึกว่าตัวเองต้องรับผิดชอบแบกปัญหาของครอบครัวเอาไว้บนบ่า

เรื่องราวตอนจบของเรื่องนี้พาเราดำดิ่งไปสู่การตั้งคำถามว่าแล้วที่ผ่านมาทั้งหมดนี้ “เพื่ออะไรกัน” เราวิ่งตามสิ่งที่ดีกว่า สิ่งที่คิดว่าเป็นความฝัน ความต้องการ ไม่ว่าอะไรก็ตามเมื่อได้มาแล้วมันก็จะหายไป ทุกอย่างจะเลือนหายไปแล้วก็ต้องคอยเติมเข้าไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีวันจบสิ้น

ในกระบวนการทั้งหมดนี้เราพยายามปิดบังส่วนที่แย่ที่สุด ด้านมืดของสิ่งต่างๆเอาไว้ไม่ให้คนอื่นเห็น ทั้งที่ความจริงแล้วการยอมรับความไม่สมบูรณ์ของตัวเองและคนอื่น ๆ การได้เห็นว่าทุกคนก็ไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะชนชั้นไหน ไม่ว่าจะเป็นใคร ล้วนต่างมีเงาดำของอดีต มีความไม่สวยงามอยู่ในตัวของเราทุกคนนั่นแหละ

ไม่ว่าจะแดนนี่หรือเอมี่ การตัดสินใจที่แย่ ๆ จนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมมากมายตลอดทั้งเรื่อง เราก็จะได้เห็นว่า ทั้งคู่นั้นไม่ได้ดี…หรือแย่…ไม่ได้เป็นพ่อพระแม่พระ…และก็ไม่ได้เป็นผู้ร้ายไปซะทั้งหมด มีทั้งด้านดีและไม่ดี เหมือนอย่างเราทุกคน ในการสัมภาษณ์กับนิตยสาร TIME หว่องกล่าวว่า

“พวกเขาก็แค่มนุษย์ จังหวะและสถานการณ์ทำให้พวกเขาไปอยู่ตรงนั้น พวกเขาตัดสินใจและฉันก็ไม่สามารถตำหนิใครได้เลยทั้งหมด”

Time

Art's Fuse

Rotten Tomatoes

Rolling Stone