“เงินในกระเป๋าเรา ถ้าเราไม่หยิบออกไปเอง ก็ไม่มีใครเอาไปได้"

คำพูดเตือนสติที่หลายๆ คนใช้เตือนใจตัวเอง ก่อนให้ใครหยิบยืมเงินไป แต่เชื่อเถอะ พอถึงเวลามีคนมายืมเงินจริงๆ ส่วนใหญ่จะรู้สึกลำบากใจ ถ้าต้องปฏิเสธ เพราะไม่อยากรู้สึกผิดที่ไม่หยิบยื่นน้ำใจให้คนอื่น

แต่พอตัดใจให้ยืมไป มีโอกาสมากที่จะไม่ได้คืน คราวนี้ต้องมานั่งเจ็บใจ โกรธทั้งลูกหนี้ และโมโหตัวเองที่ใจอ่อน โง่จนยอมควักเงินในกระเป๋าตัวเองให้เขาไป

แล้วทำไมหลายคนๆ ถึงใจอ่อน ยอมให้คนอื่นยืมเงินล่ะ ทั้งๆ ที่รู้ว่าเสี่ยงจะไม่ได้คืน

ข้อมูลของสมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศไทย ระบุชัด ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ "คนดีดี" จะรู้สึกผิด ถ้าไม่ช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน เพราะคนเหล่านี้มีคุณธรรม พวกเขามักมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เห็นผู้อื่นเดือดร้อนต้องรีบเข้าไปช่วย บางครั้งยอมเสียสละตัวเองเพื่อผู้อื่นก็มี

เหตุผลข้อต่อมา คือ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องการการยอมรับ ต้องการเป็นที่รักของผู้คนในสังคม ดังนั้น ถ้ามีโอกาสให้ความช่วยเหลือผู้อื่นได้ คนเราก็มักจะไม่ลังเล หยิบยื่นความมีน้ำใจให้ เพื่อแสดงออกว่า ตัวเอง มีน้ำใจ เป็นมิตร เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสังคม

คราวนี้...มาดูเหตุผลที่เราไม่ควรให้คนอื่นยืมเงิน

1. มีครั้งแรกก็จะมีครั้งต่อๆ ไป

บอกเลยนะ ไม่ว่าจะเรื่องอะไร มันจะยากแค่ตอนเริ่มต้นเท่านั้นแหละ พอผ่านด่านแรกไปได้แล้ว คราวนี้ด่านต่อๆ ที่เหลือ ก็ไม่ครณามือแล้ว เรื่องขอยืมเงินก็เช่นกัน พอได้ยืมครั้งแรกแล้ว ครั้งต่อไปก็จะตามมา ยิ่งเราขี้เกรงใจ หรือ ปฏิเสธคนไม่เป็น ยอมให้ยืมเงินง่ายๆ คราวนี้ คนที่มายืมเงิน ก็จะเป็นหน้าเดิมตลอด

2. ทวงยากลำบากใจ

เชื่อเถอะหลายคนเป็น เวลาเผลอให้ใครยืมเงินไปแล้ว พอจะทวงเงินคืน คุณก็มักไม่ค่อยกล้าทวง ลำบากใจไปหมด จะน่าเกลียดมั้ย ไม่รู้ว่าจะใช้คำพูดยังไงดี กังวลว่าจะกลายเป็นคนขี้งก ใจดำ แล้งน้ำใจไปรึเปล่า ที่สำคัญไม่รู้ว่าจะตอบโต้ยังไง ถ้าลูกหนี้เล่นบทดรามาใส่ จนบางครั้งทำเอาคุณรู้สึกผิด เสียสุขภาพจิตเปล่าๆ

3. ลูกหนี้มักทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน

คิดว่าหลายคนคงจะเจอ กับพฤติกรรม ตีมึนของลูกหนี้ ประมาณว่า ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย ทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อนของลูกหนี้ พอทวงบ่อยๆ เข้า ก็จะอ้างเหตุผลว่า ก็ไม่มีเงินคืนจะให้ทำยังไง แถมคนพวกนี้ยังไม่ยอมหนีหน้าด้วย ทวงได้ทวงไปซิ แบบนี้เตรียมใจไว้เลยนะว่ามีโอกาสหนี้สูญสูง

4. เสียมิตรภาพ

พูดถึงเรื่องเงิน มักไม่เข้าใครออกใคร ก่อนตัดสินใจให้ใครยืมเงิน ต้องเตือนสติตัวเองไว้เลยว่า นอกจากจะไม่ได้เงินคืนแล้ว ยังเสียมิตรภาพไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น ญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน เชื่อสิ!! สถานะที่เปลี่ยนจาก ญาติ มิตร เพื่อนสนิท เป็น เจ้าหนี้ ลูกหนี้ มันจะทำลายความรู้สึก ทำให้ความเชื่อใจ และ เครดิตดีๆ ที่เคยมีให้กลายเป็นติดลบไปหมด คนโบราณถึงสอนไว้ว่า "ถ้าไม่อยากเสียเพื่อน อย่าให้เพื่อนยืมเงิน"

5. เสียวินัยทางการเงิน

ถ้าเปรียบการให้เพื่อนยืมเงินเป็นการลงทุน ทางเศรษฐศาสตร์คงบอกว่าเป็นการลงทุนที่ล้มเหลว เพราะนอกจากเสี่ยงขาดทุน หนี้สูญ ยังเป็นการส่งเสริมให้เพื่อนไม่มีวินัยทางการเงิน ไม่รู้จักวางแผนทางการเงิน แต่จะเลือกใช้วิธีลัดด้วยการยืมเงินคนอื่นมาแก้ปัญหาแบบมักง่ายแทน

อ่านมาถึงบรรทัดนี้ เชื่อว่าหลายคนน่าจะพอเข้าใจเหตุผลที่ไม่ควรให้คนอื่นมายืมเงินแล้ว แต่ถ้ามันถึงคราวหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ จะรับมือกับการยืมเงินของคนอื่นยังไงดี ไม่ต้องกังวลไป aomMONEY มีกฎเหล็กที่คุณต้องรู้ และต้องจดจำ มาแนะนำ

(1) เงินที่ให้ไปอาจไม่ได้คืน

เอาจริงๆ นะ ก่อนให้ใครยืมเงิน ต้องคิดไว้ล่วงหน้าเลยว่าจะมีโอกาสหนี้สูญ แต่มองอีกมุมบางทีก็มีข้อดีเพราะมันช่วยให้เราเห็นอะไรต่างๆ ชัดเจนขึ้น เข้าใจโลกมากขึ้น ดังนั้น ก่อนจะให้ใครยืมเงินคิดทบทวนให้รอบคอบ ถ้าคิดว่าไหว เงินก้อนนี้เป็นเงินเย็น เสียไปก็ไม่ลำบาก จะเสี่ยงให้ยืมก็ได้ แต่ถ้าเป็นเงินก้อนที่สำคัญกับชีวิตของเราจริงๆ ก็ควรปฎิเสธไปตามตรง จะได้ไม่เสียทั้งเพื่อน เสียทั้งเงิน

(2) เข้าใจสัจธรรม "เงินอยู่ที่ใคร คนนั้นมีสิทธิ์"

ก่อนควักเงินออกจากกระเป๋าไปให้ใครยืม คุณต้องอธิบายให้ชัดกับผู้ที่มาหยิบยืมเงินว่า สิ่งที่คุณกำลังจะให้ไป มันมีคุณค่ามากกว่าเงิน เพราะมันคือมิตรภาพ ความเชื่อใจ เครดิต ดังนั้น ลูกหนี้ควรเข้าใจและตระหนักถึงเรื่องนี้ ที่สำคัญ คุณควรแสดงเจตนาชัดว่า ให้ยืม ไม่ใช่ให้เลย ต้องมีกำหนดเวลาคืนให้แน่ชัด และคุณมีสิทธิ์ทวงถามถึงเงินที่ให้ยืมไปในอนาคต

(3) ทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร

ถ้าตัดสินใจให้ใครยืมเงิน ไม่ว่าจะกี่มากน้อย คุณต้องทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร ระบุรายละเอียดของเงินที่ขอยืมไป อัตราดอกเบี้ย กำหนดระยะเวลาการใช้หนี้ ลงรายมือชื่อทั้งผู้ให้ยืม และผู้ขอยืมให้ถูกต้อง เพื่อสร้างความชัดเจน ลดโอกาสผิดใจ และใช้เป็นหลักฐานทางกฎหมาย ยื่นฟ้องร้อง ถ้าผู้ยืมเงินผิดนัดชำระ

(4) ถ้าทำตาม ข้อ 1 - 3 ไม่ได้ อย่าให้ยืม!!

กฎเหล็กที่ว่ามานี้ ถือเป็นการปิดความเสี่ยงของคุณในฐานะเจ้าของเงิน จำไว้ว่าต้องทำให้ได้ทั้งหมด ถ้าทำข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้ คุณก็ไม่ควรให้ยืมเงิน เพราะจะสร้างความทุกข์ให้เราภายหลัง

"กฎเหล็กของนักพนันมืออาชีพ คือ ห้ามเดิมพันมากกว่าที่ตัวเองจะรับไหว"

บอกเลยกฎนี้สามารถนำมาปรับใช้กับการให้คนอื่นยืมเงินได้เช่นกัน ถ้าคิดแล้วว่า เงินที่ให้ยืมไป มีโอกาสสูญ และยังต้องเสียทั้งมิตรภาพ ก็ควรเลือกปฏิเสธตั้งแต่ต้น

แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็ควรให้ยืมเงินในจำนวนที่คุณรับไหว ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับตัวเอง ลดความรู้สึกผิดของตัวเอง