เมื่อกล่าวถึง “หนี้” ใครก็ไม่อยากเป็น แต่บางครั้งเมื่อสถานการณ์มันเป็นแบบนั้นแล้ว คำถามสำคัญต่อมาคือ “เราจะทำยังไงให้หนี้ตรงนี้หายไปได้บ้าง?”

ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับ แจสมิน เทย์เลอร์ (Jasmine Taylor) หญิงสาววัย 31 ปีที่อาศัยอยู่ที่รัฐเท็กซัสประเทศอเมริกา เดือนมกราคม 2021 ที่โควิดกำลังระบาดหนักและเศรษฐกิจกำลังย่ำแย่ เทย์เลอร์เป็นทั้งหนี้บัตรเครดิต หนี้การศึกษา และหนี้ค่ารักษาพยายาล รวม ๆ แล้วกว่า 80,000 เหรียญ หรือราว ๆ 2.7 ล้านบาท

เทย์เลอร์จบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์และพยายามขอใบรับรองการสอน พยายามทำงานทุกอย่างเพื่อหาเงินมาใช้หนี้ (เหมือนอย่างเราทุกคนนั่นแหละ) ตั้งแต่การส่งอาหารและยาตามใบสั่งแพทย์ ตักคูปองส่วนลดตามหนังสือพิมพ์ ทำแบบสอบถามออนไลน์ ถอดเทป และอื่นๆ อีกมากมาย

ปัญหาคือเงินที่เข้ามาก็เหมือนไม่เคยพอ เข้ามาแล้วก็ออกไปยังไงหนี้ก็ยังไม่ลด จนกระทั่งเธอไปเจอเทคนิคการบริหารเงินที่ชื่อว่า “Cash Stuffing” บนยูทูบ ซึ่งเป็นระบบการจัดการเงินส่วนบุคคลที่เรานำเงินแบ่งตามประเภทต่างๆ แยกใส่ซองเงินอย่างเป็นระบบนั่นเอง

ผ่านมาสองปีตอนนี้เธอสามารถจ่ายหนี้ทั้งหมดได้แล้ว และเรื่องราวของเธอกลายเป็นแรงบันดาลใจให้หลาย ๆ คน และมีโอกาสไปสัมภาษณ์กับสื่ออย่าง USA Today ด้วย

เทย์เลอร์เล่าว่า

“ตอนนั้นกำลังจะ 30 และรู้สึกเหนื่อยกับความเครียดเรื่องการเงินเลย ฉันมีใบปริญญา ไม่มีงาน หนี้มหาศาลและไม่มีการจัดการเงินของตัวเองเลย”

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 เธอจึงตัดสินใจลองเทคนิค ‘Cash Stuffing’ เหมือนอย่างที่เห็นในยูทูบ และเพื่อจะให้เริ่มต้นครั้งนี้เป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ เธอจึงแชร์เรื่องราวของตัวเองออนไลน์ไปด้วยเลยเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้เธอทำตามสิ่งที่พูดไปแล้วในที่สาธารณะให้สำเร็จ (ซึ่งก็เป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่สามารถนำไปใช้ได้)

“มันเป็นอะไรสักอย่างที่เป็นการจัดการเงินสดที่จับต้องได้และการเห็นเงินของตัวเองเก็บเอาไว้ในซองจดหมายก็เปิดสวิตช์ในหัวเลย ถ้าฉันยื่นแบงก์ $100 ให้คุณกับบัตรเดบิตที่มีเงิน $100 รับรองเลยว่ามันจะง่ายกว่ามากในการเอาบัตรนั้นไปรูดแล้วแตกเงิน $100 เราเหมือนจะมีบางอย่างที่เชื่อมต่อกับเงินที่จับต้องได้จริง ๆ”

สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างที่เธอแชร์เรื่องราวของตัวเองบนโลกโซเชียลมีเดีย คนที่เข้ามาดูคอนเทนต์ของเธอนอกจากจะสนใจเทคนิคการจัดแบ่งเงินของเทย์เลอร์แล้ว หลายคนยังสนใจพวกอุปกรณ์ที่เธอใช้ อย่างเช่นแฟ้ม ซองเก็บเงิน หรือสมุดที่เธอใช้จดเพื่อติดตามค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเธอเป็นคนทำขึ้นมาเอง ซึ่งนั่นก็นำมาซึ่งโอกาสในการขายของด้วย

เนื่องจากเธอแทบไม่มีรายได้แบบมั่นคงเข้ามาเลยเพราะช่วงโควิดงานหายากมาก แต่ก็เหมือนโชคดีในโชคร้าย เมื่อรัฐบาลของอเมริกาเองก็ออกนโยบายช่วยเหลือประชาชนโดยการมอบเงินบางส่วนเพื่อผ่อนคลายปัญหาเรื่องการเงิน (ขึ้นอยู่กับว่าสถานะตอนนั้นเป็นยังไง โสด แต่งงาน เคยจ่ายภาษีปีก่อนเท่าไหร่ ฯลฯ) เธอได้รับเงินจำนวน $1,200 เหรียญ (ประมาณ 41,000 บาท) จึงเอาเงินส่วนนั้นมาเริ่มต้นทำธุรกิจที่ชื่อว่า “Baddies & Budgets” ที่ขายอุปกรณ์สำหรับคนที่สนใจการจัดสรรเงินด้วยเทคนิค “Cash Stuffing”

ตอนนี้เธอบริหารธุรกิจของตัวเองเต็มตัว ขายอุปกรณ์ต่าง ๆ บนเว็บไซต์ นอกจากนั้นก็ได้เงินจากช่อง YouTube และการไปร่วมงานกับช่องโซเชียลมีเดียอื่น ๆ เมื่อมีรายได้ก็จัดใส่ซองให้เป็นระบบจนสุดท้ายก็จ่ายหนี้จนหมด
“จากเมษายน - ธันวาคม 2021 ฉันจ่ายหนี้ไป 30,000 เหรียญ และที่เหลือทั้งหมดเลยในปี 2022”

โดยเทคนิคการจ่ายหนี้ของเธอคือ “Debt Snowball” ที่เป็นการจ่ายหนี้ก้อนเล็กให้หมดแล้วค่อย ๆ เพิ่มไปยังหนี้ก้อนใหญ่ ซึ่งประสบการณ์ครั้งนี้เทย์เลอร์บอกว่ามัน “เหนือจินตนาการเลย” เพราะก่อนหน้านี้เธอรู้สึก (เหมือนอย่างที่คนเป็นหนี้ทุกคนจะทราบดี) ว่ามันช่าง “ไร้ซึ่งความหวัง” หมดหนทางเมื่อเป็นหนี้เยอะขนาดนั้น

CashStuffing ทำยังไง?

เทย์เลอร์เล่าว่าเทคนิคนี้ต้องแบ่งซองออกเป็น 2 แบบ

- ซองแบบแรกคือซองที่คุณถือติดตัวสำหรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ​ (ค่าน้ำมันรถ ค่าอาหาร ซื้อของเข้าบ้าน ฯลฯ)

- ซองแบบที่สองคือซองที่เป็นเงินใช้จ่ายในอนาคต (ประกันรถยนต์ ค่าซ่อมรถ ประกันชีวิต เดินทางท่องเที่ยว ลงทุนฯลฯ)

“แทนที่จะรอจนกว่ารถยางแบนแล้วต้องเปลี่ยนยางด้วยเงินหลักหมื่น คุณก็เก็บเงินทีละ 300-400 บาทใส่ในซองทุกครั้งที่ได้เงินเข้ามา เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดอะไรขึ้นกับรถ ก็ไปที่ซองนี้แล้วใช้เงินตรงนี้แหละจ่ายไป”

แน่นอนว่าในแต่ละประเภทก็จะมีการแยกซองออกไปตามการใช้งาน เช่นซองค่าน้ำมัน ซองค่าอาหาร ซองซื้อของเข้าบ้าน ซองประกันรถยนต์ ซองเดินทาง ซองวันหยุด ซองลงทุน ฯลฯ

คือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อมีเงินเข้ามาก็แยกไปเลยว่าอันนี้เป็นประเภทไหน ใช้ตอนนี้ หรือ ใช้อนาคต

ใช้ตอนนี้ก็แยกใส่ซองตามการใช้งานไป ใช้ในอนาคตก็แยกใส่ซองตามการใช้งานไปอีก

สมมุติง่าย ๆ เช่นว่ามีเงินเดือน 20,000 บาท (ด้านล่างเป็นตัวเลขสมมุติเพื่อให้เห็นภาพง่าย ๆ)

ผมแยกออกเป็นสองก้อน ใช้ตอนนี้ 15,000 กับ ใช้ในอนาคต 5,000

ก้อน 15,000 ก็เอามาแบ่งใส่ซอง ค่าหอพัก 5,000 บาท, ค่าทานข้าวนอกบ้าน 5,000 บาท, ค่าซื้อของเข้าบ้าน 2,000 บาท ค่าเดินทาง 3,000 บาท

ก้อน 5,000 ก็เอามาแบ่งใส่ซอง ค่าซ่อมรถ 500 บาท, ค่าพักผ่อนวันหยุด 1,000 บาท, ค่าแล็ปท็อปใหม่ 500 บาท, ลงทุน 2,500 บาท, ค่าประกันชีวิต 500 บาท

เมื่อไหร่ก็ตามเมื่อจำเป็นต้องใช้เงินในอนาคตก็ดูครับว่ามันเพียงพอรึยัง บางทีมันอาจจะเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่นรถเสีย แล้วต้องซ่อม 3,000 บาท แต่ตอนนี้เก็บได้แค่ 1,000 บาท ก็ต้องยืมเงินจากซองอื่นมาโป๊ะก่อนเพื่อให้ครบ แต่อย่างน้อย ๆ ก็จะไม่ไปกระทบกับเงินที่ใช้ในตอนนี้และช่วยทำให้โอกาสก่อหนี้ลดลงด้วยครับ

เทย์เลอร์แนะนำว่าควรสร้างซองที่เป็นค่าใช้จ่ายในอนาคตที่หนัก ๆ รู้ว่าต้องจ่ายทุกปีอยู่แล้วเอาไว้เลย จะได้เห็นว่าเงินจะออกไปตรงไหนบ้าง นอกจากนั้นแล้วยังแนะนำให้ติดตามเงินเข้าออกของตัวเองด้วยเพื่อให้รู้ว่าระยะยาวแล้วจะเก็บเงินตรงไหนเพิ่มได้บ้าง

เทย์เลอร์บอกว่า

“แน่นอนว่าคุณไม่สามารถประหยัดจนสามารถเอาชนะความยากจนได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วเราจะซื้อของมากเกินไปบน Amazon หรือซื้อเสื้อผ้าและทุกอย่างที่เป็นเทรนด์บน TikTok”

ซึ่งเงินส่วนนี้แม้จะเป็นเงินจำนวนไม่มาก เมื่อรวม ๆ กันแล้วเดือนหนึ่งกลับไม่น้อยเลยทีเดียว

เทย์เลอร์ปิดท้ายการให้สัมภาษณ์กับ USA Today ว่าการที่เธอมาทำตรงนี้ได้ช่วยเหลือคนให้หลุดออกจากวังวนความกังวลเรื่องการเงิน การจัดการเงินและรายได้ ใช้เงินอย่างถูกต้อง และบางครั้งก็มีโอกาสได้ช่วยเหลือกลุ่มผู้หญิงที่เป็นเหยื่อของการถูกทำร้ายร่างกายและมีปัญหาเรื่องการวางแผนชีวิตด้านการเงินด้วย สุดท้ายเธอบอกว่า

“ต่อจากนี้ความหวังยังมีเสมอ ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นยังไงก็ตาม”