ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะพนักงานที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ Macbook Pro ทำได้ดี หรือว่าหน้าจอที่สว่างและสดใสของมันทำให้ผมเริ่มลังเลและหวั่นไหวกับทางเลือกที่คิดมาตั้งแต่บ้านว่าจะซื้อ Macbook Air ซึ่งราคาอยู่ในงบ 30,000 บาท ที่ตั้งไว้และเหมาะสมกับการใช้งานมากกว่า

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปีก่อนระหว่างที่ผมยืนอยู่ในร้านขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อตัดสินใจซื้อแล็ปท็อปเครื่องใหม่ หลังจากเก็บเงินมาหลายเดือนจนสามารถซื้อได้ เดินเข้าไปในร้านพร้อมความมั่นใจ จนกระทั่งเห็นตัว Pro วางอยู่ข้าง ๆ ราคาแพงกว่าไม่น้อย แต่หน้าจอมันใหญ่กว่า สว่างกว่า สีก็ดูเหมือนสดสวยกว่าด้วย

พนักงานของร้านให้ข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างว่างสองรุ่นได้เป็นอย่างดี จนเริ่มตั้งคำถามกับการตัดสินใจของตัวเอง จะซื้อรุ่น Air ราคา 30,000 บาท ตามงบตามเงินที่เก็บมา ใช้ทำงานพิมพ์งาน ดูยูทูบ เล่นเน็ตทั่วไป หรือจะเพิ่มเงินซื้อเครื่องที่แพงกว่า ยอมเป็นหนี้จะเป็นตัวจบไปเลยดีนะ ทำได้ทุกอย่างตั้งแต่ตัดต่อวิดีโอ ทำภาพกราฟิกต่าง ๆ นานาแบบลื่นไหลไม่ต้องกังวล ใช้ไปเลยยาว ๆ อีก 10 ปี?

บัตรเครดิตในมือสั่น ตามองภาพหน้าจอของเครื่องรุ่นที่แพงว่ามันสวยเหลือเกิน แต่ขณะเดียวกันสมองฝั่งเหตุผลตบความจริงกลับเข้ามาในหัว “เฮ้ยยย…มึงมีงบ 30,000 นะ? จำไม่ได้เหรอ?”

สุดท้ายผมก็ตัดสินใจซื้อเครื่องที่ถูกกว่าด้วยเงินสดที่เก็บมา คิดไว้ในหัวเตรียมตัวพร้อมรับความรู้สึกหดหู่เมื่อไปถึงบ้านแกะกล่องออกมาใช้งานละกัน

สิ่งที่น่าสนใจ (และแปลกใจ) ก็คือว่าตอนที่ผมแกะกล่องแล้วหยิบแล็ปท็อปเครื่องใหม่ออกมาใช้ ก็รู้สึกว่ามันก็ดีนะ มันดีมากด้วย หน้าจอก็สว่าง สีก็สด เร็วด้วย พอมาถึงตอนนี้ก็เริ่มจำเหตุผลไม่ได้แล้วว่าทำไมถึงอยากได้รุ่นโปรที่ราคาแพงกว่ากันแน่ในตอนนั้น

เกิดอะไรขึ้นกับบ้านกับร้าน?

เนียร์ อียาล (Nir Eyal) นักเขียนหนังสือชื่อดังอย่าง Hooked และ Indistracable อธิบายว่านี่คือตัวอย่างของอคติทางความคิดที่ชื่อว่า “Distinction Bias” หรือ “ความเอนเอียงโดยทำให้ต่าง” ซึ่งมีแนวโน้มที่จะให้คุณค่ามากเกินไปกับผลกระทบของความแตกต่างเชิงปริมาณเพียงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบตัวเลือกที่อยู่ด้วยกัน

พูดอีกอย่างหนึ่งคือสภาพแวดล้อมที่ร้านและบ้านทำให้เราอยู่คนละโหมดของความคิด ที่ร้านเราจะอยู่ในโหมดเปรียบเทียบ เทียบระหว่างรุ่นเล็กกับรุ่นใหญ่ รุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ อันนี้มากกว่า อันนั้นน้อยกว่า แต่พออยู่ที่บ้านผมก็เหลือแล็ปท็อปเพียงแค่เครื่องเดียว ไม่มีตัวเปรียบเทียบ เราก็ตกอยู่ในโหมดประสบการณ์ที่ใช้งานจริง ๆ เท่านั้น

มีการทดลองเกี่ยวกับเรื่องนี้ครับ

ทางเลือกที่ 1 : คุณจะได้รับช็อกโกแลต 1 ชิ้น ถ้าคุณคิดถึงช่วงเวลาที่ประสบความสำเร็จในชีวิต

ทางเลือกที่ 2 : คุณจะได้รับช็อกโกแลต 3 ชิ้น ถ้าคุณคิดถึงช่วงเวลาที่ล้มเหลวในชีวิต

คุณจะเลือกทางไหน?

การทดลองครั้งนี้บอกว่า 2/3 จะเลือกทางเลือกที่ 2 เพื่อให้ได้ช็อกโกแลตมากขึ้น เพราะได้มากกว่าต้องดีกว่าถูกไหม?​ ไม่ถูกซะทีเดียวครับ

แม้คนจะเลือกอย่างอิสระและมีความต้องการได้รับความสุขสูงสุดจากทางเลือกของตนเอง แต่ผู้ที่เลือกนึกถึงความทรงจำเชิงลบเพื่อให้ได้ช็อกโกแลตมากขึ้นกลับมีความสุขน้อยกว่าผู้ที่เลือกความทรงจำเชิงบวกแต่รับช็อกโกแลตน้อยกว่า

คุณอาจจะคิดว่าผลกระทบอาจเกิดจากการรู้สึกผิดที่กินช็อกโกแลตมากชิ้นกว่าแล้วทำให้อ้วนรึเปล่า นักวิจัยกลับพบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างสองกลุ่มเมื่อพูดถึงความรู้สึกเกี่ยวกับการกินช็อกโกแลตนี้เลย แล้วมันเกิดจากอะไรล่ะ?

สมองคนละโหมด

อียาลอธิบายว่ามนุษย์อยู่ในสองโหมดที่แตกต่างกัน โหมดแรกคือการเปรียบเทียบ ส่วนอีกโหมดหนึ่งคือประสบการณ์ที่ได้รับจริง ๆ เมื่อตัดสินใจอะไรสักอย่าง เราอยู่ในโหมดแรกที่เทียบนู่นนี่นั้นทุกอย่าง (เหมือนอย่างที่ผมอยู่ที่ร้านขายแล็ปท็อป) แต่เมื่อเราเลือกแล้วและได้รับประสบการณ์จากทางเลือกนั้นจริง ๆ เราก็อยู่ในโหมดที่สองนั่นเอง

ในโหมดการเปรียบเทียบ เราทำได้ดีในการตัดสินใจระหว่างความแตกต่างเชิงคุณภาพ ตัวอย่างเช่น เรารู้ว่างานที่น่าสนใจดีกว่างานน่าเบื่อ หรือถ้าทำงานที่เดินไปทำงานได้นั้นดีกว่าการต้องขับรถฝ่าการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วนอย่างแน่นอน

ตอนที่ขอให้เลือกระหว่างทางเลือกที่ 1 และ 2 ในการทดลองช็อกโกแลต เชื่อว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ยากในการที่จะบอกว่าการนึกถึงเรื่องความสำเร็จนั้นจะทำให้รู้สึกดีกว่าความล้มเหลว แต่แล้วทำไมคนยังเลือกทางเลือกที่ 2 ล่ะ?​ แน่นอนครับ ก็เพราะมันได้ช็อกโกแลตเยอะกว่าและนั่นแหละคือสิ่งที่ทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดในชีวิต

มนุษย์ไม่ค่อยเก่งในการคาดว่าความแตกต่างเชิงปริมาณซึ่งเกี่ยวข้องกับตัวเลขส่งผลต่อความสุขมากแค่ไหน พูดอีกอย่างคือเราคิดว่าช็อกโกแลต 3 ชิ้นจะนำความสุขมาให้พวกเขา 3 เท่า แต่มันไม่ใช่แบบนั้นเลย

เราพลาดเหมือนกันในชีวิตจริง เราคิดว่าบ้านหลัง 120 ตารางเมตร จะทำให้เรามีความสุขมากกว่าบ้านหลัง 100 ตารางเมตร เราคิดว่างานที่ได้เงินเดือน 70,000 บาท จะทำให้เรามีความสุขมากกว่า 60,000 บาท ผมคิดว่าแล็ปท็อปที่หน้าจอใหญ่กว่านิดหน่อย เร็วและแรงกว่าจะทำให้มีความสุขมากกว่าแล็ปท็อปตามงบที่เตรียมมาและเพียงพอกับการใช้งานนั่นเอง

เรามักจะให้ความสำคัญกับความแตกต่างเชิงปริมาณเพียงเล็กน้อยและเลือกตัวเลือกที่จะไม่เพิ่มความสุขของเราอย่างแท้จริงในท้ายที่สุด

แล้วเราจะเอาชนะอคติตรงนี้ยังไงดี?

  1. อย่าเปรียบเทียบออปชันข้าง ๆ กัน

เมื่อเราอยู่ในโหมดการเปรียบเทียบเรามักจะเสียเวลาไปกับการมองหา “ข้อแตกต่าง” ของสิ่งต่าง ๆ ปัญหามันเกิดตรงนี้แหละ เมื่อเราไปโฟกัสให้ความสำคัญกับความแตกต่างเชิงปริมาณที่ไม่สำคัญมากเกินไป ถ้าให้ดีพยายามหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบสองตัวเลือกเแบบข้าง ๆ กันไปเลย

สิ่งที่เราทำได้คืออะไร? ใช้เวลากับตัวเลือกแต่ละอันแบบแยกกันเพื่อความยุติธรรมและการตัดสินใจที่ดีที่สุด ถ้าจะซื้อแล็ปท็อปอย่าเอาสองอันมาเทียบกัน ถ้าจะซื้อรถอย่าเอาสองคันมาเทียบกัน ถ้าจะซื้อมือถืออย่าเอาสองเครื่องมาเทียบกัน ฯลฯ ลองใช้เวลากับแต่ละทางเลือกให้มากที่สุด สิ่งที่คุณชอบและไม่ชอบ สร้างภาพจินตนาการเอาไว้ในหัวก่อนแล้วค่อย ๆ ดูไปทีละอย่าง

อย่างสมมุติแล็ปท็อปก็ได้ ดูว่าเราใช้ทำอะไรจริง ๆ พกพารึเปล่า ราคาเท่าไหร่ หน้าจอต้องใหญ่แค่ไหน ต้องแรงขนาดไหน ช่องเสียบอุปกรณ์ ไปจนถึงเรื่องอื่น ๆ อย่าง การบริการหลังการขาย ค่าซ่อม ค่าอะไหล่ ฯลฯ อีกด้วย

เลือกแล็ปท็อปที่ตรงกับภาพในจินตนาการนั้นมากที่สุด พอแยกมองแบบนี้จะช่วยทำให้เราตัดสินใจได้ตรงกับความต้องการของเรามากขึ้น

  1. รู้ก่อนเลยว่าอะไรที่ขาดไม่ได้ก่อนจะมองหาทางเลือก

ธุรกิจมากมายในท้องตลาดใช้อคติทางความคิดนี้เพื่อหลอกล่อให้เราจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อซื้อในสิ่งที่ไม่จำเป็นหรือก็ไม่ได้ทำให้เรามีความสุขมากยิ่งขึ้นเลย

ครั้งต่อไปปกป้องตัวเองโดยการเขียนเอาไว้เลยก็ได้ว่าสิ่งที่สำคัญจริง ๆ คืออะไรก่อนที่จะไปที่ร้าน สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ขาดไม่ได้เลยและทำไมต้องซื้อ เมื่อได้สิ่งที่ต้องการแล้วก็เลือกออปชันที่ราคาอยู่ในงบโดยไม่ต้องไปจ่ายเงินเพื่อเอาฟีเจอร์ที่เราไม่จำเป็นต้องมีหรือไม่มีก็ไม่เป็นไร

  1. ปรับให้เหมาะสมสำหรับสิ่งที่คุณไม่คุ้นเคย

นักวิจัยเชื่อว่าเราตกเป็นเหยื่อของอคตินี้เพราะประเมินแนวโน้มของการกลับไปสู่ระดับความสุขพื้นฐานที่คุ้นเคยของเราเมื่อเวลาผ่านไปต่ำเกินไป — เรียกว่า “Hedonic Adaptation”

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าแม้รายได้ที่สูงขึ้นหรือบ้านหลังใหญ่จะทำให้เราคิดว่าเราจะมีความสุขตลอดไป สุดท้ายก็ไม่ได้ทำให้เรามีความสุขได้นานนัก

ตามหลักการแล้ว ความสุขจะปรับกลับไปสู่สิ่งที่มั่นคงและแน่นอน เช่น รายได้ ขนาดบ้าน หรือคุณภาพของแล็ปท็อป สิ่งเหล่านี้ไม่เปลี่ยนแปลง ทุกวันก็เหมือนเดิม ดังนั้นคุณสามารถคาดหวังได้ว่าระดับความสุขของคุณจะลดลงไปเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป

ในทางกลับกัน เหตุการณ์เชิงบวกที่เกิดขึ้นไม่บ่อยหรือไม่แน่นอน เช่น เวลาที่มีคุณภาพกับเพื่อนๆ หรือการเดินทางบนท้องถนนที่น่าตื่นเต้น เกิดขึ้นเป็นระยะๆ เกินกว่าจะคุ้นเคยได้ การเพิ่มประสบการณ์ที่ยากต่อการปรับตัวให้คุ้นเคยในชีวิตของคุณจะสร้างความสุขที่ยืนยาวขึ้น

เมื่อนึกย้อนกลับไปถึงต้นตอของเรื่องนี้ตั้งแต่สมัยมนุษย์ยุคแรกๆ เราอาศัยอยู่ในถ้ำหากินด้วยการหาของป่าล่าสัตว์ การเลือกผลไม้ที่สุกที่สุดบนต้นหรือสัตว์ที่นำมาเป็นอาหารก็ทำให้เราอยู่รอดชีวิตมาได้ แต่วันนี้เราอยู่ในสังคมที่ต่างออกไป วางแอปเปิล 2 ลูกไว้บนโต๊ะ สายพันธ์ุเดียวกัน แต่อีกลูกหนึ่งดูจะสดใหม่กว่า เราก็คิดว่าลูกนั้นจะทำให้เรามีความสุขมากกว่า แต่อันที่จริงแล้วถ้ามีลูกเดียว เราก็กินอย่างมีความสุขเช่นเดียวกัน

ให้เลือกสิ่งที่จะทำให้เรามีความสุขในระยะยาว เลือกงานที่จะทำให้เรามีเวลาอยู่กับครอบครัว ใช้เวลาไปเที่ยว และไม่ต้องเครียดเพราะการเดินทาง ดีกว่างานที่จะได้เงินเพิ่มเล็กน้อย แม้จะมีความสุขเล็กน้อยตอนได้เงิน แต่แป๊บเดียวมันก็จะหายไป ของหลายอย่าง ดีกว่า แพงกว่า แต่พอได้มาจริง ๆ ก็ไม่ได้มีความสุขมากกว่าเลย

Pocket

The Decision Lab