การวางแผนทางการเงินเป็นกิจกรรมที่ครอบคลุมและเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเงินของแต่ละบุคคล ทำให้เกิดความมั่นคงในชีวิตและตอบสนองต่อความต้องการและเป้าหมายเฉพาะของแต่ละบุคคลได้

ซึ่งประกอบไปด้วย แผนการลงทุน แผนการประกัน แผนเพื่อวัยเกษียณ และแผนทางภาษี

ในส่วนของภาษีนั้น ถือเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งของการประกอบกิจการ นอกจากการเพิ่มรายได้เพื่อให้มีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นแล้ว การลดต้นทุนด้วยการวางแผนทางภาษีก็เป็นการเพิ่มรายได้สุทธิด้วยเช่นกัน

ดังนั้น แผนทางภาษีจึงมีความสำคัญและการวางแผนภาษีได้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดจะช่วยลดภาระทางภาษี ได้

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คืออะไร?

เป็นภาษีอากรประเภทหนึ่งที่จัดเก็บจากบุคคลธรรมดา โดยกรมสรรพากร ซึ่งภาษีที่จัดเก็บได้ รัฐบาลจะนำไปใช้ในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ จัดบริการสาธารณะที่เอกชนไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระจายความมั่งคั่งอย่างยุติธรรม

โดยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาถูกจัดเก็บตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึงวันที่ 31 มีนาคม ด้วยการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 หรือ 91 และวันที่ 1 กรกฎาคมถึงวันที่ 30 กันยายนด้วยการยื่นแบบภ.ง.ด. 94 ของทุกปี

หากผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีไม่ปฏิบัติหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร ย่อมทำให้เกิดความรับผิดทางแพ่งและทางอาญา กรณีต่าง ๆ ดังนี้

➡️ บทกำหนดโทษทางแพ่ง

เป็นความรับผิดที่ต้องถูกบังคับให้ชำระหนี้ กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ประมวลรัษฎากรได้กำหนดหน้าที่ของผู้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีความรับผิดดังต่อไปนี้

⚠️1. กรณีผู้ต้องเสียภาษีเงินได้ ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีไม่ถูกต้อง

เจ้าพนักงานประเมินจะออกหมายเรียกมาไต่สวน หรือสั่งให้นำพยาน บัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นมาแสดงเพื่อตรวจสอบ และประเมินให้ถูกต้องตามพยานหลักฐานที่ปรากฎหรือประเมินตามที่รู้ว่าถูกต้อง ซึ่งผู้ต้องเสียภาษีต้องรับผิด เสียเบี้ยปรับหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีที่ต้องชำระ

⚠️2. กรณีผู้ต้องเสียภาษีเงินได้ ไม่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี

เจ้าพนักงานประเมินจะออกหมายเรียกมาไต่สวน หรือสั่งให้นำพยาน บัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นมาแสดงเพื่อตรวจสอบ และประเมินให้ถูกต้องตามพยานหลักฐานที่ปรากฎหรือประเมินตามที่รู้ว่าถูกต้อง ซึ่งผู้ต้องเสียภาษีต้องรับผิด เสียเบี้ยปรับสองเท่าของจำนวนภาษีที่ต้องชำระ นอกจากนี้ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกินสองพันบาท จากการไม่ยื่นแบบเสียภาษีภายในเวลาที่กำหนดไว้

✍️นอกจากเบี้ยปรับตามแต่กรณีที่กล่าวมาแล้ว

ผู้ต้องเสียภาษีเงินได้ต้องเสียเงินเพิ่ม อีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน ของเงินภาษีที่ต้องเสียโดยไม่รวมเบี้ยปรับ แต่เงินเพิ่มนั้นไม่เกินจำนวนภาษีทั้งหมดที่ต้องเสีย

➡️ บทกำหนดโทษทางอาญา

เป็นความรับผิดที่มีลักษณะผูกพันต่อตัวบุคคลไม่ใช่ทรัพย์สิน ได้แก่ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ประมวลรัษฎากรได้กำหนดหน้าที่ของผู้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีความรับผิดดังต่อไปนี้

⚠️1. กรณีจงใจ ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียก คำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน หรือไม่ยอมตอบคำถาม เมื่อซักถาม ดังต่อไปนี้

✍️1.1 เจ้าพนักงานประเมินเรียกให้มาชำระภาษีเงินได้ที่คงค้าง หรือเรียกให้บุคคลใดมาให้ถ้อยคำเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี และเรียกให้นำพยาน บัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอันจำเป็นในการจัดเก็บภาษีเงินได้ที่คงค้าง ซึ่งต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน

✍️1.2 เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกผู้ต้องเสียภาษีมาไต่สวน กรณียื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีไม่ถูกต้อง และให้นำพยาน บัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นมาแสดง ซึ่งต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน

✍️1.3 คณะกรรมการอุทธรณ์ออกหมายเรียกผู้ต้องเสียภาษีที่ทำการอุทธรณ์มาไต่สวน และให้นำพยาน บัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นมาแสดง ซึ่งต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน

✍️1.4 คณะกรรมการอุทธรณ์ออกหมายเรียกผู้ต้องเสียภาษีที่ทำการอุทธรณ์มาไต่สวน และให้นำพยาน บัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นมาแสดง ซึ่งต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน

• ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือ ปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

⚠️2. กรณีเจตนา แจ้งข้อความเท็จ ให้ถ้อยคำเท็จ ตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ นำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง หรือโดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีอากร หรือขอคืนภาษีอากร

• ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปีและปรับตั้งแต่สองพันถึงสองแสนบาท

⚠️3. กรณีเจตนา ไม่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร

• ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้การหลีกเลี่ยงไม่แสดงรายการเสียภาษี หรือยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีไม่ถูกต้องที่มีจำนวนตั้งแต่สิบล้านบาทต่อปีภาษีขี้นไป รวมทั้งการขอคืนเงินภาษีอากรที่มีจำนวนตั้งแต่สองล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป โดยกระทำในลักษณะที่เป็นกระบวนการหรือเป็นเครือข่าย และมีพฤติกรรมปิดบังซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด

ให้ถือเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ตรีอย่างไรก็ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 8/2564 มีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติดังกล่าวเพิ่มภาระและจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเกินสมควรแก่เหตุจึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 37 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ดังนั้นประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ตรี ที่ให้ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานของกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินจึงไม่มีผลบังคับใช้อีกต่อไป

การวางแผนภาษีมีความจำเป็นต่อการบริหารกระแสเงินสดและความมั่งคั่งของบุคคล เพื่อให้เกิดความมั่นคงและตอบสนองต่อความต้องการและเป้าหมายในชีวิต แต่อย่างไรก็ตามการวางแผนภาษีต้องกระทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่วางแผนด้วยการหลบหลีก (Avoidance) คืออาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย หรือหลีกเลี่ยง (Evasion) คือใช้วิธีที่ผิดกฎหมายxv เพราะนอกจากจะมีบทลงโทษทางแพ่งด้วยการเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแล้ว ยังมีบทลงโทษทางอาญาที่มีโทษจำคุก ส่งผลต่อความมั่นคงและกระทบต่อการบรรลุเป้าหมายที่ต้องการในชีวิตอย่างแน่นอน ดังนั้นการวางแผนภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมายกำหนดจึงมีความสำคัญและเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล

เขียนโดย: ยุทธภูมิ เกียรติอุ้มสม นักวางแผนการเงิน CFP®