เครียดจัง ใช้เงินดีกว่า

เมื่อ ‘การใช้เงิน’ คือหนทางเดียวที่ช่วยคลายเครียดให้เราได้ แม้โลกจะแย่ เศรษฐกิจจะพัง เงินในกระเป๋าก็เหลือน้อย ดูแล้วสถานการณ์ต่างๆ ไม่ได้เอื้อให้ใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย แต่เราก็ยังจะใช้มันอยู่ดี ไม่แน่ว่าเราอาจติดอยู่ในกับดัก ‘Doom Spending’ หรือการใช้จ่ายอย่างหุนหันพลันแล่นที่นำไปสู่เรื่องน่าเศร้าทางการเงินมากมาย

❓ ‘Doom Spending’ คืออะไร?

ความหมายของมันคือ การใช้จ่ายเงินอย่างไม่คิดหน้าคิดหลัง แม้จะรู้ว่าตัวเองกำลังประสบปัญหาทางการเงิน เพียงเพื่อหวังคลายเครียดจากข่าวสารเศรษฐกิจ สังคม หรือการเมืองที่ถาโถมเข้ามา

การใช้จ่ายนี้แตกต่างจากการชอปปิงคลายเครียดที่อาจเกิดจากการเลิกรา หรือวันที่แย่ในที่ทำงาน แต่ Doom Spending นั้นคล้ายกับการใช้จ่ายเพื่อ ‘หนีความจริง’ มากกว่า นั่นทำให้เกิดการใช้จ่ายที่ไม่ได้วางแผนล่วงหน้า ซึ่งแน่นอนว่าจะเกิดปัญหาการเงินขึ้นในอนาคตแน่นอน

ผลสำรวจจาก Credit Karma บริษัทการเงินส่วนบุคคลในอเมริกา พบว่า 33% ของผู้ชายเคยใช้จ่ายแบบนี้บ่อยๆ ในขณะที่ 21% เป็นผู้หญิง จะเห็นได้ว่าแม้ผู้หญิงจะมีสัดส่วนน้อยกว่า แต่กลับน่าเป็นห่วงมากกว่า เพราะผู้หญิงนั้นมีค่าใช้จ่ายมากกว่าผู้ชายอยู่แล้ว Doom Spending จะยิ่งทำให้ผู้หญิงมีอิสรภาพทางการเงินยากขึ้น

โดยผู้หญิงอายุน้อย (Millennials และ Gen Z) มักตกอยู่ในกับดักการใช้จ่ายนี้มากกว่าผู้หญิงที่มีอายุมากแล้ว ดูได้จากผลสำรวจของ New York Fed ธนาคารแห่งนิวยอร์ก ที่ผู้หญิงรุ่นเยาว์มีการผิดนัดชำระหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อรถยนต์มากขึ้นอย่างเด่นชัด รายงานดัชนีความมั่งคั่งโดยบริษัทซอฟต์แวร์ทางการเงิน Intuit ยังระบุด้วยว่า 73% ของกลุ่ม Gen Z อยากจะใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันมากกว่าการเก็บออมไว้เพื่ออนาคตอันแสนไกล และเยือกเย็น

✨ “เพราะมันง่ายกว่าที่จะจ่ายเงินในสิ่งที่เติมเต็มเราได้ทันที” 👜

ผู้หญิงวัย 24 ปี คนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg News ว่า เธอมักจะซื้อของแบบนี้อยู่บ่อยๆ เมื่อรู้สึกว่าเศรษฐกิจห่วยแตก ปัญหาโลกร้อนกรอกหูทุกวัน ไปจนถึงความไม่สงบทางการเมือง และสังคมทั่วโลก โดยล่าสุดเธอพึ่งถอยกระเป๋าชาแนล วินเทจราคา 2,500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 90,350 บาท ไป

ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา บรูซ ฮูด เขียนใน Possessed : Why We Want More Than We Need ว่าสินค้าฟุ่มเฟือยอาจเปลี่ยนวิธีที่ผู้คนมองเรา หรือที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ‘วิธีที่เรามองตัวเราเอง’ ปกติแล้วการซื้อของแบรนด์เนมราคาสูงมักมาจากการ ‘โหยหาการยอมรับ’ จากผู้อื่น แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นวิธีหนึ่งในการปกป้องตัวเราเองด้วย ซึ่งกรณีของผู้หญิงคนนี้อาจจะเป็นอย่างหลังมากกว่า

เพราะเมื่อรู้สึกว่าทรัพยากรขาดแคลน หรือเกิดความวุ่นวายขึ้นในใจ เราจะมุ่งเน้นไปยังสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ โดยสิ่งของราคาแพงจะมีน้ำหนักมากกว่า บรูซกล่าว

🔍 ฝั่งแบรนด์ต่างๆ กำลังให้ใช้เรื่องนี้ให้เป็นประโยชน์อยู่

แผนกการตลาดขององค์กรตระหนักดีถึงเทคนิคทางจิตวิทยาเหล่านี้มานานแล้ว และกำลังไล่ตามผู้บริโภคโดยเฉพาะ ‘กลุ่มผู้หญิง’ โดยใช้แนวคิดเรื่องความเป็นอิสระ และการมองเห็นคุณค่าในตนเองมาเป็นจุดขายเช่นแบรนด์ L'Oreal กับคำโปรย ‘คุณค่าที่คุณคู่ควร’ หรือธุรกิจอื่นๆ ที่มักใช้คำนิยม ‘ดูแลตัวเอง’ (Self Care)

👪 แต่ไม่มีใครคู่ควรกับการเป็นหนี้ จนทำให้ชีวิตช้าลง

Financial Health Network บริษัททางการเงินในอเมริการ ได้ทำรายงานสำรวจปี 2022 และพบว่า 44% ของผู้หญิงอายุ 18-29 ปี และ 34% ของผู้ชายในวัยเดียวกัน กล่าวว่า หนี้สินทำให้พวกเขาชะลอเหตุการณ์สำคัญในชีวิต เช่น การแต่งงาน การเป็นเจ้าของบ้าน และการวางแผนเลี้ยงดูลูกๆ เพราะมีหนี้ที่ยังไม่สามารถจัดการได้

เพื่อไม่ให้เกิด Doom Spending ขึ้น การวางแผนการเงินจึงจำเป็นอย่างมาก เพื่อให้เราตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่าเราควรใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน ยกตัวอย่างเช่นการ จัดสรรค่าใช้จ่ายเป็น 50% สำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิต 30% สำหรับการใช้จ่ายเพื่อซื้อความสุขให้ตัวเอง และ 20% สำหรับการเก็บออม หรือชำระค่าหนี้ต่างๆ หรืออาจสรุปได้เป็น 3 ข้อหลักๆ นี้

➡️ ตั้งสติและแยกแยะระหว่าง "ความจำเป็น" กับ "ความอยาก"
➡️ วางแผนการเงินอย่างชาญฉลาด ทำแผนรายรับรายจ่าย และเก็บออมอย่างสม่ำเสมอ
➡️ มองหา ‘ความสุข’ ที่แท้จริงจากสิ่งอื่น เช่น การใช้เวลากับครอบครัว การพัฒนาทักษะ หรือการช่วยเหลือผู้อื่น

เรียบเรียง: ชลทิศ ทองไพจิตร
ภาพ: ภควดี เขมะพานิช