ในยุคที่คนดูทีวีน้อยลง ไปจนถึงสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่ไม่บูมเท่าในอดีต แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ เหล่านี้แหละ ที่เป็นเหมือนหน้าต่างให้เราได้มองความเป็นไปของโลกใบนี้ในทุกด้าน และยังได้รับความรู้ หรือเทคนิคการใช้ชีวิตใหม่ๆ มากมาย

โดยเฉพาะในด้านการเงิน ที่วันนี้มีอินฟลูเอนเซอร์มากมายออกมาแชร์ความรู้ และเคล็ดลับการบริหารเงินต่างๆ โดยการศึกษาของ Generation Lab องค์กรผู้ศึกษาวิจัยข้อมูลด้านพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ และ Morning Brew เครือธุรกิจเกี่ยวกับ อาชีพ งาน และอุตสาหกรรม พบว่า 20% ของนักศึกษามหาวิทยาลัย มองหาคำแนะนำด้านการเงินจาก ‘โซเชียลมีเดีย’ และ 34% ของ Gen Z กล่าวว่าตนได้รับคำแนะนำด้านการเงินจาก ‘TikTok’ ตามข้อมูลของ SmartAsset ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีทางการเงิน โดยแฮชแท็ก #FinTok มีผู้เข้าชมมากกว่า 4.5 พันล้านครั้งบนแพลตฟอร์มแล้ว

ในมุมมองของนักวางแผนการเงินอย่าง Brian Walsh หัวหน้าฝ่ายคำแนะนำ และการวางแผนของ SoFi กล่าวกับ CNBC Make It กล่าวว่าโซเชียลมีเดียอาจช่วยให้คนรุ่นใหม่ได้รับคำแนะนำด้านการเงินมากมาย แต่แพลตฟอร์มเหล่านี้ยังเป็นช่องทางการแพร่กระจายข้อมูลทางการเงินผิดๆ อย่างรวดเร็วๆ เช่นกัน โดย Brian Walsh มี 3 คำแนะในการแยกแยะระหว่างคำแนะนำทางการเงินที่ดี กับการหลอกลวง มาดูกัน

📌 ดูดีเกินไป

‘ไม่มีความสำเร็จในชั่วข้ามคืน’ Walsh และเชื่อว่าทุกคนคงรู้กันดีอยู่แล้ว แผนการบริหารเงินที่ดูสวยหรู ไปจนถึงช่องทางการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนล่อตาล่อใจ ล้วนดูดี ‘เกินความเป็นจริง’

📌 การแก้ปัญหาการเงินแบบสุดโต่ง

Walsh มองว่าคำพูดที่แสดงท่าทีสุดโต่ง หรือพูดอย่างเด็ดขาดในหัวข้อทางการเงิน ต้องฟังอย่างมีสติให้มาก เช่น คำพูดที่ว่า ‘จงทุ่มเงินทั้งหมดในการปลดหนี้ของคุณ’ อาจฟังดูดี เพราะเราจะได้หมดภาระหนี้ แล้วนำเงินไปทำอย่างอื่นต่อ

แต่ในความเป็นจริง ถ้าเรามีเงินมากพอจะปลดหนี้ในทีเดียว ก็คงไม่เป็นหนี้ตั้งแต่แรก เมื่อเรามีเงินจำกัด Walsh แนะนำให้ปลดหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงออกก่อน และค่อยๆ ขยับไปยังหนี้อื่นๆ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องอิงตามเป้าหมายในชีวิต และแผนการบริหารเงินของเราด้วย

📌 วิธีแก้ปัญหาเดียว สามารถ ‘แก้ได้ทุกปัญหา’

ไม่มีอยู่จริง เพราะที่สุดแล้วเรื่องการเงินเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลที่มีความแตกต่างกัน วิธีการบริหารการเงิน หรือการแก้ปัญหาจึงไม่มีทางที่จะเหมือนกันทั้งหมดได้

❓ แล้วเราจะเชื่อใครได้บ้าง?

จริงๆ แล้วไม่ยากเลย เพราะอย่างในไทยเองก็มี ‘สมาคมนักวางแผนการเงินไทย’ อยู่ ซึ่งมีที่ปรึกษาด้านการเงิน และนักวางแผนการเงินมากมายที่ได้รับการรับรอง ซึ่งพร้อมให้คำปรึกษากับทุกคน โดยเราสามารถดูได้จากคำย่อท้ายชื่อ เช่น CFP (Certified Financial Planner) เป็นต้น การเลือกรับฟังคำแนะนำทางการเงินจากบุคคลเหล่านี้ก่อน ก็เป็นหนึ่งทางเลือกง่ายๆ ที่จะทำให้เราได้คำแนะนำการเงินที่ถูกต้อง

แม้โซเชียลมีเดียจะเต็มไปด้วยความรู้มากมาย แต่สิ่งสำคัญที่ ‘ผู้รับชม’ คอนเทนต์อย่างเราควรทำ คือการ ‘เช็กความถูกต้อง’ เพราะนอกจากจะทำให้เราได้ข้อมูลไม่ผิด และนำไปใช้จริงได้ เราอาจจะได้ข้อมูลความรู้ใหม่ๆ มากขึ้นไปนอกเหนือจากคอนเทนต์ก็ได้