เดี๋ยวนี้เวลาเราเล่นโซเชียลมีเดีย อย่าง Tiktok หรือ Instagram จากที่แค่เข้าไปดูข่าวคราวอัปเดตของเพื่อน หรือหาคลิปตลกๆ ดู แต่เดี๋ยวนี้เลื่อนๆ ฟีดอยู่ไม่ทันไร เจอพ่อค้าแม่ค้าไลฟ์สดขายของหน่อยก็อดเข้าไปดูไม่ได้ แถมยังเอฟสินค้าอย่างรวดเร็ว แคปหน้าจอ และจ่ายเงินพร้อมเสร็จสรรพ

เชื่อไหมว่า ชาวอเมริการใช้จ่าย 754 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 27,106.30 บาทต่อปี ไปกับการซื้อของบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียตามการสำรวจของ Bankrate ผู้จัดพิมพ์สิ่งพิมพ์สำหรับอุตสาหกรรมการธนาคาร

เมื่อทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมากๆ หลายคนจึงรู้สึกในบางครั้งว่า ‘นี่เรา ซื้อมาทำไมนะ?’ เพราะยังไม่ทันได้คิดให้รอบคอบ และตัดสินใจให้ดีก่อนซื้อ ถึงอย่างนั้น การได้ชอปปิงก็สามารถสร้างความสุขให้เราได้จริง แต่วันนี้ aomMONEY อยากชวนทุกคนมาคิดให้รอบคอบกันอีกทีก่อนเอฟของในโซเชียลแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง

❓ แล้วทำไมการชอปปิงถึงสร้างความสุขได้ แม้บางทีเราก็ไม่ได้อยากได้มันจริงๆ?

aomMONEY ได้ไปเจอข้อมูลที่น่าสนใจมาจากนิตยสาร TIME นิตยสารข่าวรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ โดยศัลยแพทย์ด้านระบบประสาทของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แอนน์ คริสติน ดูเฮมม์ เธอกล่าวว่า ในสมองของเราจะมีการหลั่งสาร ‘โดปามีน’ หรือที่รู้จักกันในนาม ‘สารแห่งความสุข’ ออกมา เมื่อเราสมปรารถนา หรือได้รับ ‘ชัยชนะ’

การชอปปิงนั้นเป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่สมองของเราจะหลั่งสารโดปามีนออกมาด้วยเช่นกัน เพราะการชอปปิงทำให้เราได้รับชัยชนะจากการ ‘เป็นเจ้าของ’ และรู้ไหมว่า สมองเราจะหลั่งสารโดปามีนมากขึ้นไปอีก หากมีการต่อรองขอลดราคาสำเร็จ

การหลั่งสารโดปามีนนี้เปรียบได้กับการ ‘รับรางวัล’ ดังนั้น เราจึงทำพฤติกรรมเดิมซ้ำๆ เพื่อจะได้รู้สึกถึงความสุขอยู่เสมอ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เรามักจะชอปปิงอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าเราสินค้าชิ้นนั้นจะจำเป็นกับเราหรือไม่

ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ปีเตอร์ สเตอร์ลิง ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า ที่ผู้คนในสังคมยุคใหม่เสพติดการช้อปปิ้งมาก เพราะมีคนจำนวนมากติดอยู่ในงานที่น่าเบื่อหน่ายซ้ำซาก และการซื้อของเป็นหนึ่งในไม่กี่วิธีที่จะทำอะไรบางอย่างเพื่อสร้างความสุขได้

นอกจากพฤติกรรมอย่างการชอปปิงแล้ว อาหารจำพวกเบอร์รี โดยเฉพาะบลูเบอร์รีก็สามารถกระตุ้นการหลั่งสารโดปามีนได้เช่นกัน ฉะนั้น หากรู้สึกว่าอยากชอปอะไรสักอย่าง อาจลองชอปบลูเบอร์รีมาทานดู ไม่แน่ว่าอาจจะเป็นการกระตุ้นการหลั่งโดปามีนแบบสองต่อ

🛡️ แต่การชอปไม่คิด อาจกระทบการเงินระยะยาวได้ แล้วทำอย่างไรดี?

คีธ บาร์รอน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินส่วนบุคคลและหัวหน้าฝ่ายการตลาดของ Jenius Bank มีเทคนิคการหักห้ามใจไม่ให้ซื้อของเร็วเกินไปโดยขาดการตัดสินใจที่รอบคอบมาฝากกัน

➡️ 1. กดสินค้าลงตระกร้าไว้ก่อน อย่าพึ่งรีบซื้อ แล้วค่อยมาดูอีกทีเมื่อเวลาผ่านไป เราอาจจะหยิบของบางชิ้นออกจากตระกร้าก็ได้
➡️ 2. มีเหตุผลที่ชัดเจนให้กับตัวเองในการไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เพื่อที่จะไม่รู้สึกเหมือนกำลังถูกขัดใจโดยตัวเราเอง
➡️ 3. กำหนดเป้าหมายระยะยาวให้ชัดเจน ว่าเราจะตั้งใจเก็บเงินไปทำไม แล้วเราจะสามารถตอบตัวเองได้ว่า ทำไมเราถึงไม่ควรซื้อของชิ้นนี้ในตอนนี้

สิ่งสำคัญที่สุดคือการวางแผนชีวิต และการเงินให้ชัดเจน ยิ่งวางแผนเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะการวางแผนจะทำให้เราเห็นเส้นทางชีวิตว่าควรจะเดินไปทางไหน และจะช่วยให้การใช้เงินเป็นไปอย่างระบบมากขึ้น ไม่แน่ว่าความสำเร็จในวันข้างหน้าอาจทำให้สมองของเราหลั่งสารโดปามีนได้มากกว่าเก็บเกี่ยวความสุขเล็กๆ ระหว่างทางก็ได้

เรียบเรียง: ชลทิศ ทองไพจิตร
ภาพ: ภควดี เขมะพานิช