‘The Last of Us’ ซีรีส์ดังที่ว่าด้วยการเอาชีวิตรอดจากภาวะเชื้อราครองโลก เรื่องราวดราม่าสุดโหดที่ทำให้ผู้ชมซีรีส์อินและสร้างความฟินให้สาวกเกมเมอร์ ถ่ายทอดออกมาได้ดีเยี่ยมไม่ผิดเพี้ยนจากต้นฉบับ องค์ประกอบเหล่านี้ส่งให้ซีรีส์เรื่องนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นซีรีส์ที่ดีที่สุดที่สร้างจากเกมเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว

สำหรับคนที่ได้ดูตอนแรกไปแล้วจะเห็นได้ว่าหลังจากที่เหตุการณ์ทุกอย่างเกิดขึ้น ตัวเอกต้องเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในเมืองบอสตันที่ปกครองโดยทหาร ก็ยังต้องทำงานหาเลี้ยงชีพเอาชีวิตรอดให้ได้อยู่ดี เพราะฉะนั้นมันก็ทำให้เห็นว่าตราบใดที่มนุษย์อยู่รวมตัวเป็นสังคม และเกิดวิกฤติล้างโลกระดับใดก็ตาม เรื่องเงินทองก็เป็นเรื่องสำคัญเสมอ

แล้วถ้าสมมติว่า โลกต้องเป็นแบบซีรีส์เรื่องนี้จริง ๆ ระบบการเงินที่ใช้นั้นจะเป็นอย่างไร ต้องปรับตัวแบบไหน และที่สำคัญจะมั่งคั่งอย่างไรในโลกแห่งเชื้อราแบบนี้?

**หมายเหตุ บทความนี้มีสปอยล์บางส่วนของซีรีส์เบา ๆ แต่อย่ากังวลไปเลย เราจะเปิดเผยให้น้อยที่สุด

The Last of Us เริ่มต้นด้วยการสนทนาแลกเปลี่ยนเรื่องโรคระบาดของผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่ยุค 60’s ว่าทำไมเชื้อราจึงร้ายกว่าที่คิด

ต่อมาในช่วงปี 2003 เชื้อราที่สามารถควบคุมร่างกายของมนุษย์ได้ระบาดหนัก โลกเข้าสู่ความโกลาหล (ตรงนี้เชื่อว่าหลายคนนึกย้อนไปในช่วงที่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดเมื่อปี 2020 หรือเมื่อ 3 ที่แล้ว ตอนนั้นภาวะเศรษฐกิจชะงัก สร้างความแตกตื่น อลหม่านไปทั่วโลก) ระบบต่าง ๆ เริ่มล่มสลาย

ภาพตัดมาอีกครั้งในปี 2023 ยังมีกลุ่มมนุษย์ที่รอดชีวิตมาได้ และหลายสังคมก็ถูกปกครองด้วยทหาร หรือหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ดูแล ป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อราด้วยการใช้วิธีล็อกดาวน์ (ทำไมคุ้น ๆ) โดยสร้างกำแพง กั้นเมือง ใครจะออกจะเข้าต้องผ่านการตรวจ ประชาชนภายใต้การปกครองจะมีการทำงานแลก “Ration Card”​ หรือ ‘บัตรปันส่วน’ (เอาไว้แลกเป็นอาหาร เสื้อผ้า ของใช้จำเป็น ฯลฯ) ที่ทางรัฐบาลมอบให้

ระบบ Rationing หรือการปันส่วนนั้นถูกใช้ในยามวิกฤติ อย่างเช่นสงคราม หรือมีการขาดแคลนทรัพยากร คำถามต่อมาคือ ทำไมเลือกใช้บัตรปันส่วน แทนที่จะใช้แร่มีค่าอย่าง เงิน ทอง หรือทองแดง กันล่ะ?

ก่อนจะตอบคำถามนี้ เราลองมาย้อนดูวิวัฒนาการของการแลกเปลี่ยน รวมถึงจุดกำเนิดของเงินกันก่อน

เงิน คือสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange) รวมถึงเป็นเครื่องวัดมูลค่าของสินค้าและบริการ ซึ่งแรกเริ่มนั้น เงินอาจเป็นอะไรก็ได้ ที่ผู้คนนำมาแลกกัน เช่นวัวแลกไก่ ข้าวแลกปลา เรียกว่า “การแลกเปลี่ยนโดยตรง” (Direct Exchange) แต่เมื่อสังคมขยายมากขึ้น เงินจึงจำเป็นต้องวิวัฒนาการ โดยมีรูปแบบดังนี้

1. สินค้าเป็นเงิน (Commodity Money) หมายถึง มนุษย์ในชุมชนหรือกลุ่มนั้น ๆ เลือกเอาสินค้าที่ทุกคนยอมรับขึ้นมาเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน โดยอาจเป็นสินค้าอุปโภค บริโภค กระทั่งถึงเครื่องประดับหายาก เปลือกหอย หินสี กระดูกสัตว์ ขนสัตว์ หรืออื่น ๆ ตามแต่ตกลง

2. เงินจากโลหะ (Metallic Money) ต่อมาเมื่อสังคมโตขึ้น การแลกเปลี่ยนแบบเดิมไม่สะดวก จึงมีการนำโลหะต่าง ๆ มาใช้แลกเปลี่ยน เช่น ทองคำ เงินและทองแดง โดยมีหลักฐานกระจายอยู่ทั่วโลก เก่าแก่ที่สุดค้นพบที่อินเดียสร้างเมื่อ 5,000 ปี ก่อนคริสตกาล ในจีนมีการใช้มากกว่า 2,000 ปี ก่อนคริสตกาล โรมันมีการใช้เหรียญแบบวงกลมที่กลายมาเป็นมาตรฐานเมื่อช่วงปี ค.ศ. 300-500

3. เงินกระดาษ (Paper Money) แม้โลหะจะคงทน แต่ปัญหาคือมีไม่เพียงพอต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ จึงมีการทำ “สัญญา” ในกระดาษที่ระบุว่าผู้ที่มีสัญญานี้จะสามารถแลกเงินโลหะคืนได้ โดยที่ประเทศจีนมีการผลิตเงินกระดาษนี้ช่วงศตวรรษที่ 9 ก่อนที่อื่น (มีนวัตกรรมการผลิตกระดาษก่อนใครเพื่อน) แต่ไม่สำเร็จ เพราะคนที่เข้าถึงเงินกระดาษจะเป็นกลุ่มคนที่มีทรัพย์สินหรือคนชั้นสูง ก่อนจะมาทำสำเร็จในช่วงศตวรรษที่ 17 จึงทำให้จีนเป็นชาติแรกที่ใช้เงินกระดาษ

ทางฝั่งตะวันตกเงินกระดาษเกิดมาจากกลุ่มช่างทองในช่วงศตวรรษที่ 17 โดยประชาชนไม่สะดวกพกเงินโลหะจึงนำไปฝากพวกช่างทองเพราะเป็นกลุ่มคนฐานะดี และช่างทองจะออกตั๋วหรือใบรับฝาก ซึ่งสามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ ต่อมาช่างทองเหล่านี้ก็กลายเป็นนายธนาคาร และวิวัฒนาการเงินกระดาษเป็น “บัตรธนาคาร” ที่เป็นสัญญาที่นำมาแลกเงินโลหะคืนได้ ต่อมารัฐบาลแต่ก็นำสิทธิ์ในการออกบัตรธนาคารมาเป็นของธนาคารกลางและจัดพิมพ์ “ธนบัตร” ขึ้นมาใช้แทน โดยยกเลิกการแลกเงินโลหะและประกาศให้ธนบัตรสามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (Legal Tender)

จากวิวัฒนาการของเงินเราจะพบว่า คุณสมบัติที่สำคัญของตั๋วกระดาษคือการพกพาสะดวก แต่ก็มีข้อเสียคือปลอมแปลงและเสียหายได้ง่ายเช่นกัน ดังนั้นแต่ละประเทศจึงใช้เทคโนโลยีการพิมพ์เข้าไปเพื่อให้ปลอมแปลงยากและกลายเป็นธนบัตรที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน แต่ด้วยการที่เงินถูกควบคุมของรัฐบาลแต่ละประเทศ ทำให้มีกลุ่มคนที่คิดว่าจะดีกว่าไหมหากควบคุมเงินกันเอง จึงเกิดเป็นสกุลเงินดิจิทัลหรือ Cryptocurrency ขึ้นมาในปัจจุบัน (แต่ขอข้ามเรื่องนี้ไปก่อน เดี๋ยวจะยืดยาวเกินไป)

กลับมาที่ซีรีส์ The Last of Us

เราเห็นเลยว่าผู้รอดชีวิตไม่มีทรัพยากรที่ดีพอในการผลิตธนบัตร ดังนั้นรัฐบาลปกครองจึงเลือกใช้บัตรปันส่วนในการแลกเปลี่ยนหรือจ่ายเป็นค่าแรงในการทำงานของประชาชนแทน (ซึ่งก็น่าคิดว่ามีการจัดการควบคุมเงินเฟ้อได้มากน้อยแค่ไหน เพราะช่วงแรกที่โลกมีการใช้เงินกระดาษนั้น ถือว่าล้มเหลว เพราะมีการพิมพ์เงินกระดาษออกมาโดยไม่มีทรัพย์สินใด ๆ มาอ้างอิงเลย)

คำถามที่น่าสนใจต่อมาคือเมื่อตัวเอกเดินทางข้ามพื้นที่หรือไปเมืองอื่น บัตรปันส่วนนี้ยังใช้ได้ไหม?

เรื่องนี้ทำให้นึกถึงการค้าระหว่างประเทศในสมัยล่าอาณานิคม ซึ่งประเทศจะค้าขายกันยากลำบากพอสมควร จึงมีการคิดระบบแลกเปลี่ยนเกิดขึ้น และถ้าโลกการเงินของ The Last of Us จะมีการค้าระหว่างเมือง ก็จำเป็นต้องมีการประชุมกันเพื่อตกลงว่าจะใช้สินค้าหรือสิ่งของใดเพื่ออ้างอิง แต่วิกฤติแบบนี้แค่มีชีวิตรอดก็ยากแล้ว การเจรจาคงไม่ใช่เรื่องที่จำเป็น จึงไม่น่าเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ

ดังนั้นบัตรปันส่วนของเมืองหนึ่งอาจเป็นแค่กระดาษไร้ค่าเมื่ออยู่เมืองอื่นก็ได้ การแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมก็น่าจะย้อนกลับไปใช้ระบบสินค้าคือเงิน มีอะไรมาแลกก็เจรจากัน โดยสินค้าสำคัญ (ในซีรีส์) ที่น่าจะใช้แลกเปลี่ยนได้คือ ยารักษาโรค (บางอย่าง) ยาเสพติด บุหรี่ หรือสิ่งของจากโลกเก่า เช่นถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ อาหาร รวมถึงอาวุธ ดังนั้นหากตัวเอกจะเดินทางข้ามเมือง จำเป็นต้องหา อาวุธ บุหรี่หรือยาพกไว้ เผื่อใช้แลกอาหารหรือสิ่งจำเป็นในการเดินทาง

แล้วโลกแบบนี้คนที่มั่งคั่งจะเป็นยังไง?

คำตอบกว้าง ๆ ที่น่าจะเป็นแนวทางได้ ไม่ว่าโลกของเราจะเป็นแบบไหน คือการมองให้ออกว่า ผู้คนมีความต้องการอะไร หากเราสามารถค้นหานำมาตอบสนองความต้องการได้ ไม่ว่าระบบแลกเปลี่ยนจะเป็นอย่างไร ก็มีโอกาสที่เราจะมั่งคั่งได้เสมอ แต่หากดูในซีรีส์ธุรกิจที่สร้างความมั่งคั่งหรืออำนาจต่อรองก็น่าจะเป็น ธุรกิจอาหาร ยารักษาโรค ธุรกิจออกไปตามหาของจำเป็นนอกเมือง (เหมือนที่ตัวเอกทำ) การทหารและการป้องกันภัย เป็นต้น

บทความนี้ถูกเขียนขึ้นด้วยความสงสัย และกลายมาเป็นการสมมติเล่น ๆ (เป็นตุเป็นตะ) จากความอินในซีรีส์ผีเชื้อรา แต่มันก็ทำให้เห็นว่าบางอย่างที่เกิดขึ้นในซีรีส์นั้นก็สะท้อนมาจากเรื่องจริงไม่มากก็น้อย ถ้าตัดเรื่องเชื้อราควบคุมสมองมนุษย์ออกไป โรคระบาด วิกฤติต่าง ๆ ภาวะสงคราม ความโกลาหล การปกครอง อำนาจ ความเหลื่อมล้ำ คนจน คนรวย การกดขี่ และแนวคิดที่แตกต่างกันของสังคม สิ่งเหล่านี้ล้วนกระทบเราโดยตรงหรือมีผลต่อการเงินและการใช้ชีวิตของเราทุกคนทั้งสิ้น

สุดท้ายนี้ ก็หวังว่าบทความนี้จะชวนให้คิดและอ่านกันสนุก ๆ สำหรับใครที่ยังไม่ได้ดูตอนแรกก็อยากแนะนำให้ไปดูกัน ส่วนตอนนี้ขอตัวไปดู EP 2 ก่อนนะครับ