‘ฮาตาริ’ ก่อตั้งโดยคุณ ‘จุน วนวิทย์’ ผู้เริ่มต้นสร้างตัวจาก ‘ร้านซ่อมพัดลม’ สู่ ‘ผู้ผลิตพัดลม และชิ้นส่วนพัดลม’ ที่มีเชื่อเสียง และคุ้นหูทุกคนกัน ทั้งยังแตกสาขาไปยังธุรกิจแขนงต่างๆ ราวกับเป็นอาณาจักร และมีรายได้รวมแล้วกว่า ‘หมื่นล้านบาท’

จุดเริ่มต้นของชื่อ ‘ฮาตาริ’ คือการตั้งชื่อแบรนด์ให้ดูเหมือนมาจากญี่ปุ่น ซึ่งมีภาพจำในยุคนั้นว่าเป็นสินค้าคุณภาพดี ซื้อแล้วมั่นใจได้ว่าคุ้มแน่นอน ซึ่งเป็นผลมาจากกระแส ‘เจแปนฟีเวอร์’ ในอดีต ซึ่งไม่ใช่แค่แบรนด์สินค้า แต่ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ การ์ตูน วงดนตรีหรือนักร้อง พอเป็นชื่อภาษาญี่ปุ่นก็จะได้รับความสนใจไม่น้อยทันที

🎌 ย้อนรอย ‘เจแปนฟีเวอร์’ ในไทย

จากการสรุปหนังสือ ‘ตามรอยอาทิตย์อุทัย: แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร’ โดย ‘Brandthink’ ที่ผู้เขียนอย่าง ‘ณัฐพล ใจจริง’ พาเราย้อนรอย ‘เจแปนฟีเวอร์’ ว่าไม่ได้พึ่งบูมขึ้นเฉพาะในยุค 90s ผ่านกระแสวัฒนธรรมเจป๊อป แต่ญี่ปุ่นนั้นเคยเป็นโมเดลสร้างชาติของไทยเลยทีเดียว ในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎร

ในยุคนั้นไทยเรา หรือในชื่อ ‘สยาม’ ได้มีการส่งนักเรียน และนักวิชาการไปศึกษาเรียนรู้ที่ญี่ปุ่นอยู่บ่อยครั้ง เพื่อนำแนวคิด องค์ความรู้ ไปจนถึงเทคโนโลยีกลับมาปรับใช้ นอกจากนี้ความเป็นญี่ปุ่นยังเป็นที่ชื่นชอบในหมู่ปัญญาชน นักศึกษา ข้าราชการ ไปจนถึงสื่อหนังสื่อพิมพ์ต่างๆ ช่วงนั้นแนวคิดของประเทศญี่ปุ่นจึงเป็นที่แพร่หลายอย่างรวดเร็วในไทย

🇯🇵‘การคิดริเริ่มสิ่งใหม่’ หนึ่งวัฒนธรรมญี่ปุ่น ที่คุณจุน และฮาตาริยึดถือเป็นแนวคิดหลัก

นอกจากการนำชื่อภาษาญี่ปุ่นมาใช้แล้ว คุณจุนยังนำแนวคิดเรื่องการ ‘ริเริ่มสิ่งใหม่’ มาใช้กับแบรนด์ในตั้งแต่วันแรกของฮาตาริเลยทีเดียว เพราะในขณะที่พัดลมสมัยก่อนมักผลิตโดยมีเหล็กเป็นวัสดุหลักทั้งตัวโครงพัดลม และใบพัด ซึ่งมีน้ำหนักมาก และผลิตในปริมาณมากได้ยาก คุณจุนจึงนับเป็นคนแรกๆ ที่คิดแนวทางการผลิตพัดลมโดยใช้พลาสติกเป็นวัสดุหลักแทน

โดยในช่วงปี พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา แบรนด์ต่างๆ โดยเฉพาะ ‘เครื่องใช้ไฟฟ้า’ ได้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยเป็นจำนวนมาก และได้รับความนิยมจากคนไทยอยู่เสมอ ซึ่งพัดลมเองก็เป็นหนึ่งสินค้าที่มักจะนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ และเป็นที่ชื่นชอบของคนไทยอยู่แล้ว คุณจุนจึงเห็นว่าตลาดพัดลมยังเติบโตขึ้นได้อีกมาก และริเริ่มแนวคิดเรื่องการผลิตใช้เองในประเทศ

ปัจจุบัน ฮาตาริยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่ว่าจะเป็นยุคไหน สำหรับเมืองร้อนอย่างไทยเรา พัดลมยังคงเป็นสินค้าขายดีอยู่เสมอ อีกทั้งฮาตาริยังผลิตชิ้นส่วนขึ้นเองกว่า 90% และยังส่งขายชิ้นส่วนด้วย ทั้งยังยังครองส่วนแบ่งตลาดพัดลมในไทยกว่า 80% นอกจากนี้ยังแตกสาขาออกเป็นบริษัทลูกไปในธุรกิจหลากหลายประเภทกลายเป็นอาณาจักรฮาตาริ

💰 รายได้หลักเครือ ฮาตาริ ปี 2565

➡️ 1. ฮาตาริ คอนเน็คท์ จำกัด (การขายส่งโทรศัพท์ และอุปกรณ์การสื่อสารโทรคมนาคม) : รายได้ 19.5 ล้านบาท ขาดทุน 14.03 ล้านบาท

➡️ 2. ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด (การขายส่งเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ชนิดใช้ในครัวเรือน) : รายได้ 6,008 ล้านบาท กำไร 45.8 ล้านบาท

➡️ 3. ฮาตาริ อีคอมเมิร์ซ จำกัด (ร้านขายปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดในครัวเรือน) : รายได้ 5.9 ล้านบาท กำไร 1.2 ล้านบาท

➡️ 4. ฮาตาริ เทคโนโลยี จำกัด (กิจกรรมอื่นๆ ด้านสุขภาพของมนุษย์ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น) : รายได้ 23.9 ล้านบาท ขาดทุน 13.4 ล้านบาท

➡️ 5. ฮาตาริ เน็กซ์ จำกัด (​​กิจกรรมการจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านคอมพิวเตอร์) : รายได้ 513.5 ล้านบาท กำไร 30.8 ล้านบาท

➡️ 6. วนวิทย์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (การผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือนประเภทผลิตความร้อนด้วยไฟฟ้า) : รายได้ 5,519.2 ล้านบาท กำไร 445.7 ล้านบาท

จากธุรกิจในเครือเหล่านี้ รวมแล้วรายได้กว่า 12,090 ล้านบาท ซึ่งต้องบอกว่ารายได้ตรงนี้ยังไม่รวมธุรกิจขนาดยิบย่อยอื่นๆ อีก

ที่มา: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

จนถึงปัจจุบัน ‘ฮาตาริ’ ก็เป็นที่รู้จัก และชื่นชอบของชาวไทยอยู่เสมอ เพราะนอกจากจะเป็นแบรนด์ญี่ปุ่นแล้ว ตลอดเวลาที่ผ่านมาฮาตาริยังมีการทำแคมเปญการตลาดที่น่าสนใจอยู่ตลอด เช่น การทำโฆษณาที่แทรกมุขตลก หรือการจัดโครงการช่วยเหลือต่างๆ

การกำเนิดของแบรนด์ ‘ฮาตาริ’ จึงไม่เพียงแต่จับกระแสเจแปนฟีเวอร์ แต่ยังนำแนวคิดด้านการเติบโตของญี่ปุ่นมาปรับใช้ด้วย และสร้างผลดีให้กับแบรนด์มหาศาลทีเดียว

เขียน: ชลทิศ ทองไพจิตร
ภาพ: ภควดี เขมะพานิช