การใช้เงินอย่างประหยัดเป็นเรื่องที่ดี แต่การประหยัดทุกบาททุกสตางค์ในระยะยาวอาจจะเหนื่อยเกินไปสักหน่อย ดูตัวอย่างของ มินดี้ (Mindy) กับ คาร์ล (Carl) คู่รักวัย 50 เก็บเงินตามแนวคิด FIRE (Financial Indepedence, Retire Early) ตั้งแต่เริ่มทำงาน เก็บเงินอย่างหนัก ไม่ใช้ไม่จ่าย ประหยัดทุกบาท จนกระทั่ง 6 ปีก่อนก็มาถึงเป้าหมายเกษียณและไม่ต้องทำงานอีกต่อไป ในตอนนี้ทั้งคู่มีความมั่งคั่งราว ๆ 4.3 ล้านเหรียญ (ประมาณ 150 ล้านบาท) เลยทีเดียว

ปัญหาคือ...พวกเขาไม่มีความสุขสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะเรื่องเงิน เพราะแม้จะมีเงินในบัญชีเพียงพอที่จะใช้ชีวิตได้อย่างไม่ลำบากแล้ว แต่กลับรู้สึกผิดและเครียดเมื่อใช้ต้องใช้เงินซื้อความสุขให้ตัวเองหรือลูก แม้จะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม

ทั้งคู่ได้มีโอกาสได้ปรึกษาเรื่องนี้กับ รามิตร เศรษฐี (Ramit Sethi) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยาทางการเงิน เจ้าของหนังสือขายดี “ผมจะสอนให้คุณรวย” (ติดหนังสือขายดีของ The New York Times) ในรายการพอดแคสต์การเงิน “I Will Teach You To Be Rich” โดยมินดี้ผู้เป็นภรรยาบอกว่า

“เราไม่อยากแค่โยนเงินเข้าไปในกองและทำตัวตระหนี่ถี่เหนียวอีกแล้ว เรามองทุกอย่างโดยใช้เงินเป็นตัววัดว่ามันราคาเท่าไหร่ และที่จริงไม่ต้องทำแล้ว ไม่ควรทำเลยด้วย”

หลังจากนั้นเธอก็เล่าว่ามีครั้งหนึ่งที่ครอบครัวออกไปทานอาหารเช้าที่ร้านอาหาร โดยลูกสาวสั่งอาหารที่แพงที่สุดในเมนูซึ่งก็ราว ๆ $20 เหรียญ (ประมาณ 700 บาท) ซึ่งทำให้มื้อนั้นรวมแล้วต้องจ่ายเงินกว่า $99 เหรียญ (ประมาณ 3,500 บาท) เรียกว่าเป็นมื้อที่ราคาแพงไม่น้อย แต่ถ้าเทียบกับเงินที่มีแล้วมันก็ไม่ได้กระทบอะไรหรอก แต่กลายเป็นว่าเงินจำนวนนั้นทำให้พวกเขารู้สึกเครียดอย่างไม่น่าเชื่อ

ทัศนคติของพวกเขาที่มีต่อเงินนั้นเป็นผลมาจากสิ่งที่คาร์ลเรียกว่า “Scarcity Mentality” หรือสภาวะที่ใจเราคิดกังวลหมกมุ่น อยู่กับความกลัวว่าจะไม่มี ที่พัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหลังจากที่พยายามเก็บเก็บทุกบาทจนกระทั่งมีอิสรภาพทางการเงิน (ซึ่งก่อนหน้านี้เราอาจจะเห็นข่าวหนุ่มชาวญี่ปุ่นที่กินข้าวสวยกับไข่เจียวทุกวันตลอดหลายสิบปีเพื่อประหยัดเงิน คล้าย ๆ แบบนั้นเลยครับ)

ทั้งคู่นั้นลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และเก็บออมจนกระทั่งมาถึงจุดนี้ได้ เพียงแต่ว่าตอนนี้แม้จะมีอิสรภาพทางการเงินแล้ว พวกเขากลับรู้สึกกดดัน ไม่รู้จะทำยังไงต่อ กลัวที่จะหยิบที่อุตส่าห์เก็บมาไปใช้ซื้อความสุขให้กับตัวเอง คาร์ลอธิบายต่อว่า

“เราคิดว่าเราน่าจะใช้ชีวิตไม่ค่อยเหมาะสมสักเท่าไหร่ ถ้าอันไหนที่ทำให้คุณมีความสุขจริง ๆ ก็ควรจะใช้เงินไปเลย และนั่นก็เป็นสิ่งที่คุณ [เศรษฐี] ทำ นั่นเป็นสิ่งที่เราผัดวันมาตลอดหรือเราคิดเรื่องเงินมากเกินไป และถึงจุดนี้เราไม่ควรทำแบบนั้นแล้ว”

สำหรับคนที่ติดตามงานของเศรษฐีจะทราบดีว่าสำหรับเขาแล้ว แม้จะมองว่าความมัธยัสถ์คือรากฐานของการสร้างความมั่งคั่ง แต่สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการตัดความรู้สึกผิดออกจากการใช้จ่ายเงินด้วย ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดของ FIRE อยู่ไม่น้อย

เศรษฐีจะแนะนำให้คนโฟกัสไปที่การออมเงินและสร้างความมั่งคั่งโดยการตัดค่าใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่ได้สร้างความสุขอย่างแท้จริงออกจากชีวิต และเรียนรู้ที่จะใช้เงินกับบางอย่างที่สร้างความสุขอย่างแท้จริง ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เขาเรียกว่า “ชีวิตที่ร่ำรวย” (Rich Life)

คาร์ลเล่าต่อว่า “สำหรับผมแล้ว เงินเป็นเหมือนสิ่งที่ทำให้รู้สึกปลอดภัย รู้สึกดีลึก ๆ ข้างในที่รู้ว่ามีเงินกองอยู่ในบัญชีเงินฝากของเรา”

เศรษฐีบอกว่า “นั่นไม่ใช่เรื่องผิดอะไรนะ ผมก็ชอบบัญชีของตัวเองเหมือนกัน รู้สึกดี แล้วมินดี้ล่ะ?”

มินดี้ตอบว่า “รู้สึกปลอดภัย ไม่อยากจะไปแตะต้องมันเลย”
เศรษฐีก็ถามต่อว่า “เพราะอะไรเหรอ?”

“เพราะมันเอาไว้ใช้สำหรับอนาคตยังไงล่ะ” มินดี้ตอบ

เศรษฐีก็ถามต่อว่า “ไม่อยากจะพูดตรง ๆ สักเท่าไหร่นะ แต่...อนาคตคือเมื่อไหร่เหรอครับ?”

แล้วทั้งคู่ก็เงียบเพราะคำถามนั้นเหมือนไปจี้โดนจุดอะไรสักอย่างหนึ่งที่พวกเขารู้สึกอยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมายังไม่กล้าที่จะยอมรับมันเท่านั้นเอง

เศรษฐีแนะนำทั้งคู่ว่าชีวิตนี้เป็นช่วงเวลาที่สั้นมาก ๆ การไม่ใช้เงินเลยกับอะไรสักอย่างเป็นระบบที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพสักเท่าไหร่ เมื่อเราไปถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้แล้ว นิสัยเดิม ๆ ที่ตระหนี่กับเงินทุกบาทจะยังติดตัวอยู่จนทำให้รู้สึกผิดในการใช้เงินเพราะกลัวว่าถ้าเริ่มใช้แล้วจะมือเติบจนเงินที่เก็บมาหายไปจนหมด

สิ่งที่เราควรทำคือเชื่อใจตัวเองบ้าง เราทำได้ถึงเป้าหมายแล้ว ใช้เงินที่หามาเพื่อซื้อความสุขให้กับชีวิตบ้าง ส่วนที่ไม่ได้สร้างความสุขก็ประหยัดต่อไปได้เพราะมันไม่กระทบกับเราอยู่แล้ว

เศรษฐีเคยกล่าวไว้ในซีรีส์การเงิน “How to Get Rich” ของเขาบน Netflix ว่า

“คำแนะนำเรื่องเงินแบบดั้งเดิมเป็นเรื่องของการบอกว่า ‘ไม่’ : ไม่กินกาแฟ ไม่ไปเที่ยว ไม่ต้องสนุก ผมเชื่อว่าเรื่องเงินนั้นคือการบอกว่า “เยส” กับ ‘ชีวิตที่ร่ำรวย’ มากกว่า...เป็นการออมให้มากขึ้น ลงทุนให้มากขึ้น และใช้ให้มากขึ้นกับสิ่งที่คุณรัก”