ในช่วงวัยทำงาน เมื่อใช้เงินจนหมด ก็สามารถรอเงินเดือน เดือนถัดไปเข้ามา ก็มีเงินก้อนใหม่ใช้จ่าย แต่สำหรับผู้ที่เพิ่งเกษียณอายุจากการทำงานหมาดๆ และไม่ได้มีรายได้ประจำอีกต่อไป ถ้าใช้เงินอย่างเพลิดเพลิน อาจทำให้เงินเก็บก้อนสุดท้ายหมดลงอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่ปี และทำให้ไม่มีเงินเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีวิต

มือใหม่วัยเกษียณบางคน มองดูจำนวนเงินที่ตัวเองเก็บมาในช่วงทำงาน และมั่นใจว่าเพียงพอต่อการใช้ชีวิต จึงผู้เกษียณไม่น้อยที่ช่วงแรกๆ หลังจากเกษียณ (อายุ 60 - 65 ปี) มีโอกาสใช้จ่ายเงินมือเติบ และเมื่อเปิดดูเงินในบัญชีอีกครั้งอาจเหลือเพียงเล็กน้อย ดังนั้น เพื่อไม่ให้สายเกินไป มือใหม่วัยเกษียณต้องจัดสรรและจัดการเงิน เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีเงินใช้อย่างสะดวกสบาย ไปจนถึงบั้นปลายชีวิต

กำหนดเป้าหมายการเกษียณอายุให้ชัดเจน

ก่อนถึงวันเกษียณ ต้องมีความเข้าใจ และชัดเจนกับเป้าหมายการเกษียณอายุของตัวเอง ด้วยการพิจารณาปัจจัยต่างๆ เช่น ต้องการใช้ชีวิตที่จังหวัดไหน คาดว่าจะมีชีวิตจนถึงเท่าไหร่ วิถีชีวิตที่ต้องการในช่วงเกษียณ หรือบางคนอาจมีเป้าหมายเฉพาะ เช่น เดินทางท่องเที่ยว อาศัยบ้านพักผู้สูงอายุ เป็นต้น

สำรวจแหล่งรายได้

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่าในวันที่เกษียณ 'รายได้' เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้มีกินมีใช้ไปตลอดชีวิต ดังนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำในวันที่เกษียณ คือ สำรวจแหล่งรายได้หลังเกษียณอย่างเป็นระบบ เพื่อให้รู้ว่าเรามีทรัพย์สินอะไร อยู่ที่ไหน อย่างละเท่าไหร่ แล้วคำนวณว่าหลังเกษียณจะยังมีรายได้จากแหล่งใดบ้าง จากนั้นก็จัดสรรเงินที่มีอยู่เพื่อให้สามารถมีใช้ในแต่ละเดือนได้อย่างไม่ขัดสนและพอใช้ไปตลอดชีวิต โดยแบ่งออกเป็น

เงินได้รายงวด (ประจำเดือน/ประจำปี)

สำหรับใช้ในแต่ละเดือนระหว่างเกษียณ หลักๆ ได้แก่

💰 เงินบำนาญ เช่น ประกันสังคม ประกันบำนาญ หรือบำนาญข้าราชการ เป็นต้น
💰 ผลตอบแทนจากการลงทุน เช่น ดอกเบี้ยเงินฝาก/หุ้นกู้ เงินปันผลจากการลงทุนหุ้น และกองทุนรวม เป็นต้น
💰 รายได้จากอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า เช่น คอนโดมิเนียม บ้าน ที่ดิน เป็นต้น
💰 รายได้จากรูปแบบอื่น ๆ เช่น รายได้จากการทำอาชีพเสริม เป็นต้น

เงินก้อนหลังเกษียณ

สำหรับสำรองใช้หลังเกษียณและเป็นที่มาของดอกผลจากการลงทุนด้วย ได้แก่

💰 เงินบำเหน็จจากสวัสดิการที่ทำงาน หรือเงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานจากการเกษียณอายุหรือหมดสัญญาจ้าง
💰 เงินลงทุนที่เตรียมไว้สำหรับการเกษียณ เช่น เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวม RMF กองทุนรวม SSF หรือ SSFX เป็นต้น
💰 เงินก้อนอื่น ๆ เช่น เงินครบกำหนดประกันชีวิต เงินฝากธนาคาร เป็นต้น

คำนวณรายจ่าย

หลังจากสำรวจแหล่งรายได้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้คำแนะนำว่าจากนั้นก็คำนวณรายจ่าย โดยให้นึกถึงรายจ่ายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตามความเป็นจริงมากที่สุด และสามารถใช้ได้ในแต่ละเดือนอย่างไม่ขัดสน โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 4 หมวด

รายจ่ายสำหรับใช้ชีวิต

เป็นรายจ่ายทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ เป็นต้น เป็นรายจ่ายทั่วไปที่คนวัยเกษียณส่วนใหญ่นึกถึง มักจะเผื่อเงินสำหรับรายจ่ายส่วนนี้แล้ว

รายจ่ายด้านสุขภาพและค่ารักษาพยาบาล

เป็นรายจ่ายที่คนส่วนใหญ่อาจมองข้าม และไม่ได้เตรียมไว้ รวมถึงเบี้ยประกันสุขภาพที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นตามอายุอีกด้วย ดังนั้น เพื่อให้เกิดความสบายใจควรเตรียมเงินเผื่อค่าใช้จ่ายสำหรับค่ารักษาพยาบาล หรือจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพระหว่างที่เกษียณอายุ แต่ถ้ามีตัวช่วยค่ารักษาพยาบาลจากสวัสดิการข้าราชการ ระบบประกันสังคม หรือโครงการประกันสุขภาพทั่วหน้าของภาครัฐ ก็ทำให้การเตรียมค่าใช้จ่ายส่วนนี้น้อยลงได้

รายจ่ายเพื่อความสุขทางใจ

วัยเกษียณควรเป็นช่วงชีวิตที่มีความสุขที่สุด มีเวลาว่างในการใช้ชีวิตจึงควรเผื่อค่าใช้จ่ายบางส่วนเพื่อทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ และเป็นประโยชน์กับสังคม เช่น ท่องเที่ยว ทำบุญ หรืออาจเป็นค่าใช้จ่ายให้กับลูกหลานที่มาดูแล ส่วนจะแบ่งเท่าไหร่ก็ตามความเหมาะสม

รายจ่ายอื่น ๆ

ควรเตรียมเงินอีกก้อนหนึ่งสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายที่อาจนึกไม่ถึง เช่น ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย หรือซื้อของที่อยากได้ เช่น ทีวี ตู้เย็น เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ที่อยู่อาศัยหรือทรัพย์สินต่าง ๆ ย่อมเสื่อมสภาพทรุดโทรมลงตามกาลเวลา หากไม่เผื่อค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาส่วนนี้ไว้ อาจจะต้องใช้เงินจากส่วนอื่นเพื่อมาใช้จ่ายแทน และอาจกระทบกับคุณภาพชีวิตได้

จัดลำดับความสำคัญการใช้จ่าย

เมื่อเกษียณอายุแล้ว อาจมีโอกาสสร้างรายได้ประจำไม่มากเหมือนช่วงวัยทำงาน ดังนั้น จึงต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายทุกอย่างพร้อมจัดอันดับความสำคัญด้วย เริ่มจากค่าใช้จ่ายตัวเองและครบครัว (คู่สมรสและลูก) จากนั้นก็เป็นค่าใช้จ่ายพ่อแม่ และถ้ามั่นใจว่ามีเงินเก็บเพียงพอก็ค่อยนำไปช่วยเหลือพี่น้อง

การปรับเปลี่ยนแผนการใช้จ่าย

ตรวจสอบและปรับแผนการใช้จ่ายเป็นระยะ ๆ ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง เช่น สถานะสุขภาพ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไม่คาดคิดจนต้องแก้ไขการใช้จ่ายหรือจำนวนและระยะเวลาการถอนเงิน การวางแผนใช้จ่ายหลังวัยเกษียณ เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ถ้าทำให้มีความสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตและการเงิน จะทำให้มีความสุขไปตลอดชีวิต