อยากให้ลองจินตนาการถึงสถานการณ์นี้ด้วยกันหน่อยนะครับ สมมติว่าเย็นวันหนึ่งที่เราถูกเชิญไปทานอาหารที่บ้านของแฟน โดยมื้อนี้แม่ของแฟนทำอาหารเลี้ยงอย่างสุดฝีมือ อร่อยไม่ต่างจากไปภัตตาคารอาหารหรู ทุกคนก็ทานกันอย่างมีความสุข

จนกระทั่งเมื่อทุกคนอิ่มแปล้และกำลังพูดคุยสารทุกข์สุขดิบกัน คุณก็มองไปยังแม่ของแฟนด้วยความรัก แล้วก็ลุกขึ้นยืนพร้อมควักกระเป๋าตังค์ออกมาพร้อมบอกว่า “ขอบคุณสำหรับอาหารมื้อพิเศษที่คุณแม่พยายามทำมากเลยนะครับ มันอร่อยมาก ๆ ผมต้องจ่ายเท่าไหร่ดีครับ? 3,000 พอไหมครับ? ไม่สิ...ดีขนาดนี้ มีทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา แบบนี้ 5,000 บาทถึงจะพอ”

คิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนั้นครับ? แม่แฟนคงหน้าแดงก่ำไปด้วยความโกรธ แฟนของคุณถลึงตาใส่ด้วยความไม่พอใจ และนั่นอาจจะเป็นมื้ออาหารครั้งสุดท้ายที่จะได้ร่วมโต๊ะกับครอบครัวแฟนก็เป็นได้

โลกสองใบที่เราอาศัยอยู่

เกิดอะไรขึ้นกันแน่? ทำไมการเสนอเงินค่าตอบแทนสำหรับมื้ออาหารที่เอร็ดอร่อยตรงนี้ถึงเป็นเรื่องที่ไม่เพียงแต่ไม่เหมาะสม แต่เหมือนเป็นการดูถูกอีกฝ่ายหนึ่งไปได้

จากคำอธิบายของ มาร์การ์เร็ต คลาร์ก, จู๊ดสัน มิลส์ และ อลัน ฟิสเก้ นักจิตวิทยาที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้บอกว่าเราอาศัยอยู่ในโลกสองใบในเวลาเดียวกัน ใบหนึ่งคือบรรทัดฐานทางสังคม (Social Norms) นั้นเป็นใหญ่ ส่วนอีกใบหนึ่งบรรทัดฐานทางตลาด (Market Norms) เป็นผู้กุมอำนาจ

บรรทัดฐานทางสังคมคือการร้องขอความช่วยเหลือฉันมิตร อย่างเช่น ระหว่างที่กำลังเดินอยู่ข้างถนนแล้วมีคุณยายร้องขอให้ช่วยพาข้ามถนน หรือขอร้องให้คนที่อยู่ในคอนโดเดียวกันช่วยยกทีวีหนัก ๆ ขึ้นไปที่ห้อง เปิดประตูให้คนอื่นที่เดินตามมา หรือแม่แฟนทำอาหารเย็นเลี้ยงสุดฝีมือนั่นแหละ บรรทัดฐานทางสังคมจะมีความเป็นมนุษย์อยู่ เป็นการอยู่ร่วมกัน อบอุ่นและคลุมเครือ และที่สำคัญคือไม่จำเป็นต้องตอบแทนในทันทีทันใด

ส่วนบรรทัดฐานทางตลาดนั้นก็เข้าใจง่ายหน่อย แตกต่างกับอันแรกโดยสิ้นเชิง ทุกอย่างล้วนเป็นเรื่องของผลประโยชน์ มีการแลกเปลี่ยนที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นค่าแรง ค่าอาหาร ค่าเช่า ดอกเบี้ย มีการเปรียบเทียบต้นทุนกับสิ่งที่จะได้รับ ให้และรับในทันที เมื่ออยู่ในโลกนี้คุณก็ได้รับในสิ่งที่จ่ายเงินไปนั่นแหละ

ถ้าจะยกตัวอย่างอีกเรื่องให้มีความชัดเจนมากขึ้นก็อย่างเรื่องเพศสัมพันธ์ก็ได้ ในแง่ของบรรทัดฐานทางสังคม เราก็ได้มาฟรี ๆ เมื่อเราอยู่ในความสัมพันธ์ของสามีภรรยา ก็เป็นความรู้สึกอบอุ่นดี ๆ ที่มอบให้กันและกัน ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องมีสิ่งใดตอบแทน รู้สึกดีทั้งสองฝ่าย แต่มันก็มีตลาดสำหรับการค้าทางเพศเช่นเดียวกัน นั่นคือบรรทัดฐานทางตลาด จ่ายเงินเพื่อเพศสัมพันธ์​ ทำกิจแล้วก็จบต่างคนต่างแยกย้ายกันไป ไม่มีสามีหรือภรรยาที่มีอะไรกันแล้วจ่ายเงิน และไม่มีผู้ที่ให้บริการทางเพศคนไหนที่คาดว่าจะได้รับความอบอุ่นหรือความสัมพันธ์ที่ยาวนานจากลูกค้า

เงินลดบรรทัดฐานทางสังคมได้ยังไง?

เมื่อไหร่ก็ตามที่เส้นแบ่งระหว่างบรรทัดฐานทางสังคมและบรรทัดฐานทางตลาดมาชนกัน ปัญหาก็จะเกิดขึ้น (อย่างที่เราเห็นไปแล้วว่าตอนที่เราเสนอจะจ่ายเงินค่าอาหารเย็นให้กับแม่แฟนนั่นแหละครับ) เมื่อเงินเข้ามาเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่มีความเป็นบรรทัดฐานทางสังคม มันจะเริ่มย้ายข้างไปอยู่ในพื้นที่ของบรรทัดฐานทางตลาด แล้วความคิดในหัว พฤติกรรม ความรู้สึกของเราก็เริ่มเปลี่ยนไป

อย่างสมมติว่าผมขอให้คุณช่วยขนของย้ายบ้านในวันเสาร์ที่กำลังจะมาถึงด้วยกันได้ไหมเพราะผมขนเองคนเดียวไม่น่าหมด คุณอาจจะคิดว่า “โสภณก็เป็นคนดีคนหนึ่งนะ วันเสาร์นี้ก็ไม่ได้มีอะไร ก็ไปช่วยก็ได้ ยินดีอยู่แล้ว” นี่คือบรรทัดฐานทางสังคม

แต่ถ้าผมถามว่า “วันเสาร์นี้มาช่วยขนของย้ายบ้านหน่อยได้ไหม เดี๋ยวให้เงิน 100 บาท” คุณอาจจะคิดแล้วว่า “อี้...100 บาท ไม่เอาหรอก นอนอยู่บ้านสบาย ๆ ดีกว่า” แปลกไหมครับ? เพราะที่จริงในสองสถานการณ์นี้ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนไปเลยนอกจากเงินที่ผมเสนอให้นั่นแหละ

คุณจะไม่คิดในหัวเลยว่า “โสภณก็เป็นคนดีคนหนึ่งนะ วันเสาร์นี้ก็ไม่ได้มีอะไร ก็ไปช่วยก็ได้ ยินดีอยู่แล้ว แถมยังได้เงิน 100 บาทด้วย” แต่เมื่อมีเงินเข้ามาเกี่ยวข้องคุณจะมองว่ามันเป็นการจ้างงานทันที และจะเทียบผลตอบแทนที่ได้รับกับแรงที่ต้องใช้เพื่อทำงานให้สำเร็จทันที (แต่ถ้าผมเสนอให้ 10,000 บาท คุณอาจจะยอมรับก็ได้ถูกไหมในกรณีแบบนี้)

เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่เราเสนอเงินในสถานการณ์ที่บรรทัดฐานทางสังคมกำลังทำงานอยู่ มันจะลดทอนแรงจูงใจในการทำและการขอความช่วยเหลือในครั้งนั้นก็ได้

ของฟรีทำให้เราเห็นแก่ตัวน้อยลงได้ยังไง?

ทีนี้ลองสลับข้างกันดูบ้าง จะเกิดอะไรขึ้นกับฝั่ง ‘อุปสงค์’ เมื่อบรรทัดฐานทางสังคมกับบรรทัดฐานทางตลาดมาเจอกันล่ะ?

ยกตัวอย่างแบบนี้ก็ได้ครับ เพื่อนที่ทำงานของเราคนหนึ่งที่ออฟฟิศชื่อ ‘แอน’ ทำบราวนี่ได้อร่อยมาก วันหนึ่งเธออบบราวนี่มา 50 ชิ้น สำหรับพนักงานที่ออฟฟิศที่มีอยู่ 50 คนพอดี ทีนี้แอนก็เดินมาที่โต๊ะคุณคนแรกเลยเพราะนั่งติดกันแล้วก็ยื่นถาดบราวนี่ให้คุณหยิบ ในหัวคุณก็จะเริ่มคำนวณแล้วว่าตอนนี้หิวไหมนะ คุณชอบบราวนี่รึเปล่า เมื่อเช้ากางเกงคับไหม และสุดท้ายก็คิดถึงคนอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้ทานบราวนี่ และก็ตัดสินใจหยิบ 1-2 ชิ้น โดยประมาณ

ทีนี้เป็นสถานการณ์เดียวกันครับ แอนทำบราวนี่มา 50 ชิ้นเหมือนกัน เดินมาที่โต๊ะคุณคนแรกเช่นเดิม แต่ครั้งนี้แอนติดป้ายราคาชิ้นละ 5 บาท ในหัวก็จะเริ่มคิดเหมือนเดิมครับ หิวไหม ชอบรึเปล่า อ้วนไหมช่วงนี้ แต่คราวนี้คุณจะไม่รู้สึกผิดเลยที่จะซื้อเยอะ ๆ เท่าที่ต้องการ บางทีซื้อ 20 ชิ้น เอากลับไปแบ่งลูก ๆ ที่บ้านด้วย หรือบางทีเหมาหมดเลยก็ได้ถ้าคิดว่ามันอร่อยและคุ้มค่า คุณจะไม่คิดถึงคนอื่นเลย ถูกไหมครับ?

สิ่งที่เปลี่ยนไปคือแอนได้เพิ่มบรรทัดฐานทางตลาดเข้ามา ซึ่งทำให้บรรทัดฐานทางสังคมหายไปเลย แม้ว่าในทั้งสองกรณีถ้าคุณหยิบไปหลายชิ้น มันก็จะเหลือให้คนอื่นน้อยลง แต่เมื่อ “แจกฟรี” คุณจะคิดถึงคนอื่น คิดเรื่องความยุติธรรมทางสังคม คิดว่าเราต้องเห็นแก่คนอื่น คิดถึงความรู้สึกของคนในออฟฟิศและผลกระทบที่จะตามมาด้วยว่าถ้าเอาไปเยอะ ๆ คนอื่นจะมองไม่ดี แต่เมื่อมีเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ความคิดเหล่านี้หายไปหมดเลย เพราะเมื่อติดป้ายขาย เราจะใช้เงินเท่าไหร่ซื้อ ไม่ใช่ธุระกงการของใครอีกต่อไป

'ชิ้นเกรงใจ’ บนโต๊ะอาหารทำไมถึงไม่มีคนทาน?

แดน อารีลีย์ (Dan Ariely) ศาสตราจารย์สาขาเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมได้ทำการทดลองเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตั้งซุ้มขายลูกอมแบบชั่วคราวที่มหาวิทยาลัยเอ็มไอที (MIT) เป็นสองสถานการณ์แล้วดูว่าผลลัพธ์ในแต่ละสถานการณ์เป็นยังไงบ้าง

สถานการณ์แรก

ตั้งซุ้มขายลูกอมเคี้ยวหนึบสตาร์เบิสต์ (อารมณ์เหมือนซูกัสบ้านเรา) เม็ดละ 1 เซนต์ (ประมาณ 35 สตางค์) ซึ่งคนที่เดินผ่านไปมาก็แวะเข้ามาหยิบจ่ายเงินแล้วก็เดินจากไป

สถานการณ์ที่สอง

ตั้งซุ้มลูกอมเช่นกัน ครั้งนี้ติดป้าย “แจกฟรีลูกอมเคี้ยวหนึบสตาร์เบิสต์” ที่นี้ว่ากันด้วยกฏของอุปสงค์แล้ว เมื่อราคาเป็นศูนย์ ก็ย่อมมีคนแวะมาเยอะขึ้นและก็หยิบเยอะที่สุดเท่าที่จะเยอะได้ด้วย

หลังจากการทดลอง อารีลีย์พบว่าโดยเฉลี่ยแล้วในสถานการณ์แรกจะมีนักศึกษาแวะประมาณ 58 คน/ชั่วโมง และสถานการณ์ที่สองที่ประมาณ 207 คน/ชั่วโมง หมายความว่าเมื่อแจกฟรีมีคนมาแวะมากกว่าถึงสามเท่า ซึ่งก็เป็นไปตามกฏของอุปสงค์ครับ เมื่อราคาลดลง จะมีคนจำนวนเยอะขึ้นที่ต้องการสินค้าเหล่านี้

แต่สิ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้นเมื่อบรรทัดฐานทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อราคาลดลงจาก 1 เซนต์ ไปเป็น 0 เซนต์ (แจกฟรี) แทนที่นักศึกษาแต่ละคนจะหยิบกันเยอะ ๆ กลับไม่เป็นอย่างนั้นเลย ตอนที่ราคา 1 เซนต์ นักเรียนจะหยิบโดยเฉลี่ย 3.5 เม็ด และเมื่อลดเหลือ 0 เซนต์ กลับหยิบแค่คนละ 1.1 เม็ดเท่านั้น

ซึ่งก็หมายความว่าเมื่อไม่มีเงินเข้ามาเกี่ยวข้องในการแลกเปลี่ยน เมื่อลูกอมเป็นทรัพยากรของส่วนรวม ดูเหมือนมนุษย์เห็นแก่ตัวน้อยลงและคิดถึงคนอื่นมากขึ้น เมื่อการแจกฟรีกลับทำให้นักศึกษาคิดถึงคนอื่น ๆ ยับยั้งชั่งใจไม่เห็นแก่ตัว หยิบไปน้อยกว่าตอนที่จ่ายเงิน ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นสัตว์สังคมของมนุษย์ที่แคร์คนอื่น ๆ อยู่ แต่เมื่อไหร่ก็ตามเมื่อมีเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง...ความรู้สึกนี้ก็จะหายไปทันที

ถึงตรงนี้เราอาจจะพอเข้าใจแล้วใช่ไหมครับว่าทำไมเวลาเราไปทานอาหารกับเพื่อนในกลุ่มแล้วสั่งอาหารมาแชร์กัน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนไม่ได้สนิทกันมากเท่าไหร่) ยกตัวอย่างเกี๊ยวซ่าที่ร้านอาหารญี่ปุ่นก็ได้ สมมุติคุณไปกับเพื่อนรวมทั้งหมด 4 คน แล้วเกี๊ยวซ่าบังเอิญมา 5 ชิ้น หลังจากที่ทุกคนหยิบไปคนละชิ้นมันจะเหลือ ‘ชิ้นเกรงใจ’ ที่กระอักกระอ่วนนอนเล่นตากแอร์เย็นอยู่ตรงนั้น แม้จะยังไม่ได้อิ่ม แต่ก็ไม่มีใครอยากตัก เพราะถ้าหยิบมาอีกก็เหมือนจะเสียมารยาท กลายเป็นว่าเกี๊ยวซ่านี้เมื่อมันเป็นทรัพยากรกลางของทุกคน (จานกลางที่ทุกคนจ่ายเท่า ๆ กัน) บรรทัดฐานของสังคมจะถูกหยิบมาใช้ทันที

เพราะฉะนั้นคำแนะนำที่ได้จากตรงนี้คือเวลาไปทานอาหารท่ีบ้านแฟนก็อย่าไปเสนอจ่ายเงินให้แม่แฟน และวันไหนถ้าอยากจะกินเกี๊ยวซ่าและไปกับเพื่อนก็สั่งของตัวเองมาเลยจานหนึ่งจะได้ไม่รู้สึกผิด หรือถ้าเป็นเพื่อนสนิทมาก ๆ ก็ถามเลย “มึงเอาไหม?” แล้วถ้ามีจานกลางจานอื่นก็แบ่งให้คนอื่น ๆ หยิบชิ้นสุดท้ายไปบ้างก็ถือว่าไม่ได้น่าเกลียดอะไรครับ