GTH เป็นค่ายหนังที่ครองใจคนดูหนังชาวไทยมาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท จากจุดเริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า ทำไมหนังถึงทำเป็นอาชีพไม่ได้ จนกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของวงการบันเทิงไทย วันนี้ aomMONEY จึงหยิบเรื่องราวการก่อกำเนิดจนถึงวันสุดท้าย สู่การเกิดใหม่ในชื่อของ GDH 559

จุดเริ่มต้น

ปี 2534 ‘พี่เก้ง’ จิระ มะลิกุล เปิดบริษัททำโฆษณาร่วมกับ คุณประเสริฐ วิวัฒนานนท์พงษ์ (พี่เสริฐ), คุณยงยุทธ ทองกองทุน (พี่สิน) และคุณจินา โอสถศิลป์ (พี่จินา) โดยใช้ชื่อว่า หับโห้หิ้น บางกอก ด้วยความที่พี่เก้งและเพื่อนมีแพสชันในการสร้างภาพยนตร์ แต่ตอนนั้นการลงทุนทำหนังอย่างเดียวแล้วอยู่ให้รอดเป็นเรื่องยาก

ตัวอย่างเช่น คุณเป็นเอก รัตนเรือง ผู้กำกับคุณภาพเยี่ยม ยังต้องใช้วิธีการรับทำโฆษณา 1 ปีเพื่อเก็บเงิน และใช้เวลาอีก 1 ปีเพื่อสร้างภาพยนตร์ จึงเก็บเรื่องนี้ไว้ก่อน แล้วพยายามหาทุน หาประสบการณ์ เพื่อวันหนึ่งจะสามารถสร้างหนังไทย โดยมีเป้าหมายว่า ทำหนังต้องเป็นอาชีพได้

แต่วงการภาพยนตร์ไทยในช่วงปีก่อนปี 2540 ถดถอยลงมาก จนผู้คนต่างเชื่อว่า หนังไทยกำลังจะตาย กระทั่งเกิดความเปลี่ยนแปลงในปี 2540 เมื่อบริษัท ไทเอนเตอร์เทนเมนต์ ปลุกกระแสภาพยนตร์ไทยด้วยเรื่อง ‘2499อันธพาลครองเมือง’ (70 ล้านบาท) และ ‘นางนาก’ หนังไทยที่ทำรายได้เกิน 100 ล้านบาทเรื่องแรก ในปี 2542 ซึ่งกำกับโดย คุณนนทรี นิมิบุตร ทั้งสองเรื่อง จุดนี้หับโห้หิ้นมองว่า กระแสหนังไทยกำลังมา

แล้วโอกาสก็มาถึง เมื่อพี่สิน ยงยุทธ ได้รับการชวนจาก คุณวิสูตร พูลวรลักษณ์ ของไทเอนเตอร์เทนเมนต์ให้มากำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘สตรีเหล็ก’ โดยหนีบพี่เก้งมาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ ออกฉายในปี 2543 และทำรายได้เกิน 100 ล้านบาท และต่อมา จีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์ ก็ต้องการสร้าง ‘15ค่ำเดือน11’ โดยให้พี่เก้งเป็นผู้กำกับ ออกฉายในปี 2545 (55 ล้านบาท)

แต่จุดเปลี่ยนจริง ๆ ก็เกิดขึ้นในระหว่างถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ จากการที่ 365ฟิล์ม เสนอบทภาพยนตร์มาให้ทางหับโห้หิ้น และภาพยนตร์เรื่องนั้น มีชื่อว่า “แฟนฉัน”

รวมเป็นหนึ่ง

3 ตุลาคม 2546 เป็นวันที่ Finding Nemo ของ Disney เข้าฉายในบ้านเรา แต่กลับเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่อง ‘แฟนฉัน’ ที่เข้าฉายวันเดียวกันที่คว้าอันดับ 1 สร้างรายได้ไปครองแบบพลิกความคาดหมาย ทำรายได้ทั่วประเทศไปกว่า 137 ล้านบาท สร้างปรากฏการณ์พร้อมคำวิจารณ์ด้านบวกและรางวัลมากมาย

กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการรวมตัวของ 3 บริษัทอย่าง จีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์, ไทเอนเตอร์เทนเมนต์ และหับโห้หิ้น บางกอก ก่อตั้งเป็น บริษัท จีเอ็มเอ็ม ไท หับ จำกัด หรือ GTH ในวันที่ 29 เมษายน 2547

โดยภารกิจแรกคือการจำหน่ายหนังที่ตกค้าง เรื่อง ‘ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ’ (107 ล้านบาท) ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ระหว่างนั้นก็เริ่มลงมือสร้างภาพยนตร์เรื่อง ‘สายล่อฟ้า’ (75 ล้านบาท) และ ‘แจ๋ว’ (60 ล้านบาท) ในปี 2547

แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะสวยงามไปหมด เพราะเมื่อปี 2548 พี่เก้งลงมือกำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘มหาลัยเหมืองแร่’ บทประพันธ์ของคุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ แต่การต้องลงทุนสร้างเหมืองดีบุก ที่เป็นฉากสำคัญของเรื่อง จนทำให้ทุนการสร้างทะลุ 70 ล้านบาท แต่ทำรายได้เพียง 27 ล้านบาท กลายเป็นความผิดหวังครั้งใหญ่ และสั่นคลอนแนวคิดของ GTH ที่ว่า​ หนังดีไม่มีเจ๊ง ​แต่โชคดีที่หนังที่ออกฉายในปีเดียวกันอย่าง ‘เพื่อนสนิท’ (80 ล้านบาท) ช่วยพยุงสถานการณ์ของบริษัทได้อยู่ต่อไปได้

วิกฤตหมากเตะ

2549 เกิดปัญหาใหญ่อีกครั้งเมื่อภาพยนตร์เรื่อง ‘หมากเตะโลกตะลึง’ ที่ตั้งใจฉายก่อนฟุตบอลโลกปีนั้น มีการอ้างอิงประเทศเพื่อนบ้านจนสร้างความไม่พอใจ GTH จึงตัดสินใจยกเลิกการฉายเพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้ลุกลาม จากนั้นก็ทำลายฟิล์มที่จะส่งให้โรงฉายทิ้ง บวกกับงบประมาณประชาสัมพันธ์ที่ทุ่มลงไปแล้วนั้น ทำให้ GTH เกิดปัญหาใหญ่ด้านเงินทุน และแม้จะมีการตัดต่อและออกฉายในชื่อใหม่ว่า ‘หมากเตะรีเทิร์น’ แต่ก็ทำรายได้เพียง 10 ล้านบาท

ต่อมา ผู้บริหาร GTH ประชุมพูดคุยกันพบว่า ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งคือ พวกเขาสร้างหนังเยอะเกินไป (7-8 เรื่องต่อปี) ทำให้ผลการดำเนินการติดลบมาตลอดตั้งแต่เปิดบริษัท จึงตัดสินใจเปลี่ยนนโยบายโดยมีบอร์ดอนุมัติหนังเกิดขึ้น และตั้งเป้าไว้ว่า จะสร้างไม่เกินปีละ 3 เรื่อง

โดยภาพยนตร์เรื่องแรกที่ผ่านระบบบอร์ดคือ ‘รถไฟฟ้ามาหานะเธอ’ ในปี 2552 ซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้น สร้างรายได้ 147 ล้านบาท สร้างผลกำไรให้ GTH ชี้ให้เห็นว่า ระบบที่พวกเขาทำอยู่ได้ผล

พันล้าน

หลังเปลี่ยนนโยบายการสร้างหนัง ภาพยนตร์เรื่องต่อ ๆ มาของ GTH ก็สร้างรายได้ให้บริษัทเป็นอย่างมาก แต่ก็ถูกกล่าวว่าพวกเขาสร้างหนังแนวซ้ำเดิม โดยหนังที่ทำรายได้ใหญ่ส่วนใหญ่จะเป็น แนวโรแมนติก-คอเมดี และ หนังผี เช่น ‘กวนมึนโฮ’ (125 ล้านบาท) ‘ลัดดาแลนด์’ (117 ล้านบาท) ‘ATMเออรักเออเร่อ’ (152 ล้านบาท)

ซึ่งทาง GTH ก็พยายามสร้างความหลากหลายด้วยการผลิตภาพยนตร์แนวต่าง ๆ ทั้งกึ่งชีวประวัติอย่าง ‘วัยรุ่นพันล้าน’ (38 ล้านบาท), ระทึกขวัญอย่าง ‘เคาท์ดาวน์’ (26 ล้านบาท), รวมหนังสั้นอย่าง ‘รัก7ปี ดี7หน’ (70 ล้านบาท)

ก่อนจะมาประสบความสำเร็จมหาศาลจากหนังที่นำความตลกบวกดราม่า ผสมตำนานของไทยที่บิดดัดและตั้งคำถามว่า “หากพี่มากรู้ตัวตลอด จะเกิดอะไรขึ้น” จนกลายเป็นภาพยนตร์เรื่อง 'พี่มากพระโขนง' ที่กวาดรายได้ไปกว่า 1,000 ล้านบาทในปี 2556

มาตอกย้ำความสำเร็จด้วยรายได้ 335 ล้านบาทจากภาพยนตร์เรื่อง ‘ไอฟาย แต๊งกิ้ว เลิฟยู้’ ในปี 2557 นอกจากนั้นยังเพิ่มความหลากหลายด้วยการสร้างซีรีส์ ซิตคอม ละครเวที รวมทั้งกิจกรรมพิเศษต่าง ๆ จนทำให้ GTH ประสบความสำเร็จและทำให้การทำหนัง กลายเป็นอาชีพได้จริง ๆ ตามความตั้งใจของพวกเขา

GDH559

แต่แล้วก็เกิดข่าวช็อก เมื่อผู้บริหารออกมาแถลงการณ์ว่า GTH จะปิดตัวลง โดยปัญหาหลักคือความเห็นที่ไม่ลงรอยกันของบริษัทร่วมทุน เพราะทาง ไท เอนเตอร์เทนเมนต์ ต้องการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่หับโห่หิ้น บางกอกคิดว่ายังไม่ถึงเวลา

เมื่อหาจุดลงตัวไม่ได้ จนท้ายที่สุดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ค่ายหนัง GTH ก็ปิดฉากลงไป แต่ต่อมาไม่นานก็เกิดการร่วมทุนกันขึ้นอีกครั้ง ระหว่าง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และหับโห้หิ้น บางกอก เพื่อเปิดบริษัทใหม่ขึ้นมา โดยชื่อว่า GDH 559 (จีดีเอช ห้าห้าเก้า)

โดย GDH ย่อมาจาก คำว่า Gross Domestic Happiness หมายถึง หน่วยที่จะวัดความสุขใจของผู้ชมและคนทำงาน ส่วนตัวเลข 559 คือวันเปิดบริษัท 5 มกราคม 2559 รวมถึงจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด 59 คน โดยสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทจะเป็นทาง จีเอ็มเอ็ม 51% /หับโห้หิ้น บางกอก 15% และกลุ่มผู้บริหาร ผู้กำกับ และนักแสดงอีก 34%

GDH 559 สานต่อผลงานด้วยซีรีส์หลายเรื่องบน #GMM25 และ #LineTV ตามมาด้วยภาพยนตร์เรื่องแรกในนามบริษัทอย่าง #แฟนเดย์ แฟนกันแค่วันเดียว ออกฉายในวันที่ 5 สิงหาคม 2559 กวาดรายได้ไป 111 ล้านบาท

ปี 2560 GDH 559 ก็ได้สร้างสรรค์ผลงานที่โด่งดังไปทั่วโลกกับภาพยนตร์เรื่อง #ฉลาดเกมส์โกง ทำรายได้ในบ้านเราไป 186 ล้านบาท และทำรายได้ในต่างประเทศรวมกันมากกว่า 1,500 ล้านบาท โดยตลาดใหญ่คือประเทศจีน

และพวกเขาก็ปล่อยผลงานคุณภาพออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งโรแมนติก-คอเมดี ดราม่าที่ถนัดอยู่แล้วอย่าง ‘น้องพี่ที่รัก’ (244 ล้านบาท), ‘Friend Zone’ (220ล้านบาท) ‘ตุ๊ดซี่ส์ แอนด์ เดอะเฟค’ (285 ล้านบาท) และ ‘อ้ายคนหล่อลวง’ (95 ล้านบาท) และผลงานฉีกแนว แปลกใหม่ อย่างภาพยนตร์สารคดี ‘BNK48 : GIRLS DON’T CRY’ และ ‘2215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว’

นอกจากนี้ยังมีผลงานที่ทำกับ Netflix อย่างซีรีส์เรื่อง ‘DELETE’ และภาพยนตร์เรื่อง ‘Ghostlab’ และหนังร่วมทุนกับประเทศเกาหลีอย่าง ‘ร่างทรง’ (ไทย 112 ล้านบาท/ เกาหลี 250 ล้านบาท) รวมถึงกำลังจะมีละครเวทีเรื่อง ‘แฟนฉัน1.5’ ด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่า GDH 559 พยายามตอบสนองความต้องการของผู้ชมที่มีความหลากหลายในโลกปัจจุบัน

ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย

พี่เก้งเคยบอกทีมงานว่า พวกเขาโชคดีที่มีโอกาสได้ทำหนัง โดยย้ำว่า หน้าที่สำคัญของ GDH 559 คือการทำเรื่องยากให้ง่าย เริ่มด้วยคำถามที่ว่า คนดูอยากดูอะไร เพราะเชื่อว่า คนไทยอยากดูหนังดี แต่หนังดีนั้น ต้องสามารถสื่อสารกับผู้ชมได้ด้วย ไม่งั้นก็จะเป็นหนังที่สูงส่งจนเข้าถึงยากและไม่ทำเงิน การที่จะทำหนังให้เป็นอาชีพได้ หนังที่ทำออกมาต้องดีและเป็นหนังที่ทำเงินได้ด้วย

รายได้ของ GDH 599

2559 รายได้ 289 ล้านบาท กำไร 18 ล้านบาท
2560 รายได้ 443 ล้านบาท กำไร 52 ล้านบาท
2561 รายได้ 424 ล้านบาท กำไร 68 ล้านบาท
2562 รายได้ 482 ล้านบาท กำไร 79 ล้านบาท
2563 รายได้ 366 ล้านบาท กำไร 51 ล้านบาท (Covid-19)
2564 รายได้ 258 ล้านบาท กำไร 41 ล้านบาท (Covid-19)
2565 รายได้ 341 ล้านบาท กำไร 50 ล้านบาท (Covid-19)

รวมรายได้ GDH 599 ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท 2,600 ล้านบาท กำไรมากกว่า 360 ล้านบาท

จากแพสชันที่อยากทำหนังและความพยายามที่จะทำให้เป็นอาชีพให้ได้ตั้งแต่ GTH ทั้งการล้มลุกคลุกคลาน เรียนรู้ ล้มเหลว เปลี่ยนผ่านสู่การเป็น GDH 599 ทำให้เห็นว่า นอกจากความตั้งใจในการทำงานอาจไม่พอ การปรับปรุงผลงานและแนวคิดอยู่ตลอดก็เป็นเรื่องสำคัญ ถึงขนาดพี่เก้งเคยกล่าวไว้ว่า

“ไม่มีอะไรการันตีได้ว่า ที่เคยทำไปแล้วสำเร็จ จะทำได้อีก เพราะคนดูโตขึ้นทุกวันและเด็กรุ่นใหม่ที่มาแทนก็ไม่ต้องการอะไรซ้ำเดิม”

ผลงานชิ้นต่อไปของ GDH 559 จะออกมาในรูปแบบไหน จะสร้างเสียง ว้าว และรายได้มากมายแค่ไหนมารอลุ้นกัน และเพื่อน ๆ ชอบภาพยนตร์เรื่องไหน ซีรีส์เรื่องอะไร หรืออยากให้ GDH 559 ทำอะไรก็คอมเมนต์ พูดคุย แลกเปลี่ยนกันครับ

เรียบเรียงโดย อติพงษ์ ศรนารา