ถ้าเอ่ยถึงการออมเงินเพื่อวัยเกษียณของคนไทย หลายคนอาจกังวลว่าจะมีเงินพอใช้เมื่อเกษียณเพียงพอหรือไม่ เพราะเงินที่เก็บในแต่ละเดือนก็ไม่มากนัก ยิ่งนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 จนถึงวันนี้ ผลตอบแทนที่ได้รับก็ปรับลดลง หรือเงินที่นำไปลงทุนในสินทรัพย์บางประเภทก็ขาดทุน

นอกจากนี้ หลายคนอาจมองว่าช่องทางการออมเงินเพื่อเกษียณ มีเพียงการออมส่วนตัว เช่น หุ้น ตราสารหนี้ ประกันชีวิต

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือการออมเงินโดยสมัครใจเพื่อเตรียมไว้ใช้หลังเกษียณแล้ว ยังมีสิ่งที่เรียกว่า “สวัสดิการ” บางประเภทที่ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือในการช่วยให้เงินออมงอกเงยให้เร็วขึ้น ดังนั้น หากใช้ประโยชน์จากสวัสดิการเต็มสิทธิ ก็สามารถลดความกังวลด้านการเงินหลังเกษียณ

“สวัสดิการ” หมายถึง ผลประโยชน์ที่ภาครัฐจัดให้ข้าราชการ พนักงานในฐานะที่เป็นสมาชิก (รวมถึงอาชีพฟรีแลนซ์และคนไทยทุกคน) เพื่อช่วยให้มีความมั่นคงในชีวิต และเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างแรงจูงใจในการเก็บออม และจะได้รับเพิ่มเติมเมื่อเกษียณไปแล้ว ซึ่งจะช่วยลดรายจ่ายในชีวิตประจำวัน ค่ารักษาพยาบาล ดังนั้น ควรใช้ประโยชน์จากสวัสดิการเป็นช่องทางออมเงินอย่างเต็มที่

ข้าราชการ

1. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

นอกจากจะต้องแบ่งเงินเดือนที่ได้รับในแต่ละเดือนไปเก็บออมและลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เรียกว่า DCA แล้ว ข้าราชการก็มีช่องทางการออมเงินที่สำคัญ คือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ซึ่งหากข้าราชการต้องการออมเงินเพื่อเกษียณผ่าน กบข. ก็ต้องสมัครเป็นสมาชิกก่อน

เมื่อเป็นสมาชิกแล้วก็ต้องจ่าย “เงินสะสม” เข้ากองทุน (จะถูกหักจากเงินเดือน) 3% ของเงินเดือน และรัฐจะส่ง “เงินสมทบ” 3% ของเงินเดือน แล้วรัฐก็ให้ “เงินชดเชย” อีก 2% ที่จ่ายให้สมาชิกที่รับบำนาญ นอกจากนี้ยังมี “เงินประเดิม” ที่จ่ายให้สำหรับผู้ที่เป็นข้าราชการอยู่ก่อนวันที่ 27 มีนาคมปี 2540

เงินจาก กบข. สมาชิกจะได้รับเงินคืนเมื่อเกษียณอายุ (หรือลาออกจากราชการ) ดังนั้น เงินออมจาก กบข. ไม่เกี่ยวข้องกับเงินบำเหน็จหรือบำนาญที่ข้าราชการจะได้รับตามสิทธิ์จากภาครัฐ หมายความว่า เมื่อข้าราชการเกษียณและเป็นสมาชิก กบข. ก็จะได้รับเงินเกษียณสองทาง

ตัวอย่าง เมื่อเกษียณอายุข้าราชการและเป็นสมาชิก กบข.

1. กรณีเลือกบำเหน็จ

...สูตรคำนวณบำเหน็จ = เงินเดือนเดือนสุดท้าย X เวลาราชการ (รวมวันทวีคูณ)

...สูตรคำนวณ กบข. = เงินสะสม + เงินออมเพิ่ม + เงินสมทบ + ดอกผล

2. กรณีเลือกบำนาญ

...สูตรคำนวณบำเหน็จ = เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย X เวลาราชการ (รวมวันทวีคูณ) หารด้วย 50 (ไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย)

...สูตรคำนวณ กบข. = เงินสะสม + เงินออมเพิ่ม + เงินสมทบ + เงินประเดิม* + เงินชดเชย** + ดอกผล

*เงินประเดิม: จ่ายให้ผู้เลือกเป็นสมาชิกก่อน 27 มีนาคม 2540,
**เงินชดเชย: จ่ายให้สมาชิกที่เลือกรับบำนาญเท่านั้น

2. เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหรือบำนาญ (ช.ค.บ.)

คือ เงินที่รัฐจ่ายให้กับข้าราชการเกษียณที่เลือกรับแบบบำนาญ เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพ โดยมีเงื่อนไขว่าข้าราชบำนาญต้องได้รับเงินบำนาญปกติต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น เช่น ได้รับบำนาญปกติ 8,000 บาทต่อเดือน รัฐก็จะโอนเงิน ช.ค.บ. อีก 2,000 บาทต่อเดือน

3. เงินบำเหน็จดำรงชีพ

เป็นเงินส่วนหนึ่งของบำเหน็จตกทอด ซึ่งเป็นเงินที่ทายาทจะได้รับหลังจากที่ผู้รับบำนาญเสียชีวิต โดยรัฐให้สิทธิในการขอรับเงินส่วนหนึ่งก่อน เรียกว่า เงินบำเหน็จดำรงชีพ เป็นเงิน 15 เท่าของเงินบำนาญ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

วิธีคำนวณ = เงินบำนาญ (ไม่รวม ช.ค.บ.) คูณ 15 เท่า โดยแบ่งจ่าย เป็น 3 ครั้ง

ครั้งที่ 1 เมื่อเกษียณอายุราชการ รับไม่เกิน 200,000 บาท
ครั้งที่ 2 เมื่ออายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ ที่เหลือไม่เกิน 200,000 บาท
ครั้งที่ 3 เมื่ออายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ ที่เหลือไม่เกิน 100,000 บาท

4. เงินช่วยพิเศษ (ค่าทำศพ)

เมื่อข้าราชการบำนาญเสียชีวิต รัฐจะจ่ายเงินช่วยเหลือเพื่อใช้ในการจัดการงานศพ
วิธีคำนวณ = (เงินบำนาญ + ช.ค.บ. (ถ้ามี)) คูณ 3 เท่า

5. สวัสดิการอื่นๆ

นอกจากนี้ ข้าราชการบำนาญยังมีสวัสดิการจากภาครัฐอื่น ๆ อีก เช่น บำเหน็จตกทอด โดยจะจ่ายให้กับทายาท (เมื่อข้าราชการบำนาญเสียชีวิต), สิทธิกู้เงินบำเหน็จค้ำประกัน, สวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลและการศึกษาบุตร

พนักงานบริษัทเอกชน

1. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)

เป็นกองทุนที่ภาครัฐได้กำหนดขึ้น สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ โดยที่การจัดตั้งขึ้นอยู่กับความสมัครใจระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ซึ่งเปรียบเสมือนบริษัทจะมีสวัสดิการที่เป็นกระปุกออมเงิน โดยลูกจ้างจะเก็บออมเงิน เรียกว่า “เงินสะสม” (ในอัตรา 2 - 15% ขึ้นอยู่กับข้อบังคับกองทุนของแต่ละบริษัท) หลังจากลูกจ้างเลือกเก็บออมเงินแล้ว นายจ้างจะช่วยเก็บออมเงินอีกแรง เรียกว่า “เงินสมทบ” (ในอัตรา 2 - 15% ขึ้นอยู่กับข้อบังคับกองทุนของแต่ละบริษัท) ซึ่งนายจ้างจะช่วยเก็บออมเงินแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ทุกเดือน จนถึงวันที่ลูกจ้างออกจากงานหรือเกษียณอายุ

โดยความพิเศษของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ ได้เงินสมทบของนายจ้าง หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการได้เงินเพิ่มพิเศษจากการทำงานก็ได้ เพราะในการลงทุนประเภทอื่นจะไม่มีทางได้เงินส่วนนี้

เช่น เริ่มต้นทำงานได้เงินเดือน 15,000 บาท เลือกออมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดือนละ 5% (750 บาท) และบริษัทจ่ายเงินสมทบให้อีก 5% (750 บาท) หมายความว่าทำงาน 1 ปี จะได้เงินเพิ่มจากนายจ้างอีก 9,000 บาท

นอกจากนี้เงินในกองทุนก็จะถูกนำไปบริหารให้เกิดดอกผลงอกเงยโดยผู้บริหารมืออาชีพ ก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น

2. กองทุนประกันสังคม (มาตรา 33)

หากทำงานพนักงานบริษัทเอกชน นายจ้างก็จะทำการสมัครให้พนักงานทุกคนเป็นสมาชิกประกันสังคมมาตรา 33 จากนั้นนายจ้างก็จะส่งเงินสมทบประกันสังคมแต่ละเดือนในอัตรา 5% ของค่าจ้าง (สูงสุดไม่เกิน 750 บาท) และนายจ้างจะสมทบเพิ่ม 5% รัฐบาลสมทบเพิ่ม 2.75%

ประกันสังคมก็ถือเป็นแหล่งเงินออมเพื่อเกษียณที่สำคัญ โดยเงื่อนไขการรับสิทธิก็ต่อเมื่อมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง ซึ่งกรณีเกษียณ หรือเรียกว่า กรณีชราภาพ สามารถเลือกรับเงินได้ 2 วิธี

1. เงินบำนาญชราภาพ (จ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน)

จะได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนในอัตรา 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง หากจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน ประบเพิ่มอัตราเงินบำนาญชราภาพขึ้นอีก 1.5% ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน

2. เงินบำเหน็จชราภาพ (จ่ายเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือน)

จ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบเฉพาะส่วนของผู้ประกันตน, จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทน, กรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน นับตั้งแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของบำนาญชราภาพรายเดือน ที่ได้รับคราวสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย

สูตรคำนวณ เงินบำนาญชราภาพ

1. กรณีจ่ายครบ 180 เดือน = 20 x 15,000 ÷ 100 = 3,000

2. กรณีจ่ายเกิน 180 เดือน = [20+(1.5 x จำนวนปี)] x 15,000 ÷ 100

เช็คเงินสมทบเงินบำนาญ

ระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบ (ปี) กับ เงินบำนาญที่จะได้รับ

15 – 20 ปี ได้รับ 3,000 – 4,125 บาทต่อเดือน
21 – 25 ปี ได้รับ 4,350 – 5,250 บาทต่อเดือน
26 – 30 ปี ได้รับ 5,475 – 6,375 บาทต่อเดือน
31 – 35 ปี ได้รับ 6,600 – 7,500 บาทต่อเดือน

หมายเหตุ: ตัวอย่างการคำนวณจากเงินเดือนเฉลี่ยสูงสุด 15,000 บาท

*เงื่อนไขการนับบำนาญ*

1. จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือน หรือ 15 ปีขึ้นไป
2. อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
3. สิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน

อาชีพอื่น ๆ

1. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)

สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ ไม่อยู่ในระบบสวัสดิการบำเหน็จบำนาญของรัฐ หรือเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ก็สามารถเก็บออมเงินเพื่อวัยเกษียณได้ ด้วยการแบ่งเงินมาออมกับกองทุนการออมเงินแห่งชาติ (กอช.) เพราะเป็นรูปแบบการออมที่ให้สิทธิ์ผู้ประกอบอาชีพอิสระได้ออมเงินเพื่อรับเงินสมทบจากรัฐบาลสูงสุด 100% และเมื่อออมเงินจนถึงอายุ 60 ปีบริบูรณ์ ก็จะได้เงินกลับคืนมาในรูปแบบเงินบำนาญไว้ใช้ยามเกษียณ สูงสุดถึง 7,200 บาทต่อเดือน

การออมเงินกับ กอช. เหมาะกับผู้ที่มีรายได้ไม่แน่นอน ไม่จำเป็นต้องออมทุกเดือน เดือนไหนมีน้อย ออมน้อย เดือนไหนมีมากค่อยออมมาก เริ่มต้นออมเงินเพียง 50 บาท สูงสุดปีละไม่เกิน 13,200 บาท ดังนั้น หากมีอายุ 15 - 60 ปี เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ แรงงานนอกระบบ เกษตรกร แม่บ้าน นักเรียน นักศึกษา ต้องการสร้างความมั่นใจว่ามีเงินบำนาญใช้ในยามเกษียณแน่นอน ควรออมเงินผ่าน กอช. โดยก็จะให้เงินสมทบตามสัดส่วนเงินสะสมและตามช่วงอายุด้วย

อายุสมาชิก 15 -30 ปี = รัฐสมทบให้ 50% ของเงินสะสม ไม่เกินปีละ 1,800 บาท

อายุสมาชิก มากกว่า 30 – 50 ปี = รัฐสมทบให้ 80% ของเงินสะสม ไม่เกินปีละ 1,800 บาท

อายุสมาชิก 50 ปีขึ้นไป = รัฐสมทบให้ 100% ของเงินสะสม ไม่เกินปีละ 1,800 บาท

เมื่อเกษียณก็รับเงินบำนาญเท่ากับเงินที่เก็บออมเอาไว้กับ กอช. พร้อมกับเงินที่รัฐสมทบให้ และดอกผลที่งอกเงยขึ้น

2. กองทุนประกันสังคม (มาตรา 40)

ออกแบบขึ้นมาสำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระหรือแรงงานนอกระบบ (ไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือผู้ประกันตนมาตรา 39) โดยนอกจากจะได้รับสิทธิต่าง ๆ เช่น รักษาตัวที่โรงพยาบาลก็สามารถเบิกเงินทดแทนการขาดรายได้ หรือเสียชีวิตก็ได้รับเงินค่าทำศพ ประกันสังคมมาตรา 40 ก็เป็นอีกช่องทางสำหรับการออมเงินเพื่อเกษียณ

หากเป็นสมาชิกและต้องการการออมเงินผ่านประกันสังคมมาตรา 40 เพื่อเกษียณ สำหรับผู้ประกันตนที่เลือกส่งประกันสังคมแบบทางเลือก ส่ง 100 บาทต่อเดือนหรือส่ง 300 บาทต่อเดือน เมื่ออายุ 60 ปี และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนจะได้รับเงินชราภาพตามจำนวนงวดที่จ่ายเงินสมทบ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทน และสิทธิประโยชน์ตามที่กองทุนประกันสังคมแจ้งเอาไว้

3. เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

นอกจากสวัสดิการที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังมีสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ภาครัฐให้กับผู้สูงอายุคนไทยทุกคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้น เรียกว่า เบี้ยยังชีพ โดยรัฐจะโอนเข้าบัญชีทุกเดือน หากอายุ 60 – 69 ปี ได้รับ 600 บาทต่อเดือน, อายุ 70 – 79 ปี ได้รับ 700 บาทต่อเดือน, อายุ 80 – 89 ปี ได้รับ 800 บาทต่อเดือน และอายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับ 1,000 บาทต่อเดือน