“ถ้าป่วยเป็นโรคเรื้อรัง (กรณีเป็นแล้ว) จะสามารถป้องกันความเสี่ยงด้วยวิธีไหนได้บ้าง เพราะไม่สามารถทำประกันใดๆ ได้แล้ว”

เป็นคอมเมนต์ของลูกเพจท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่พบบ่อยมากไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนในโลกนี้ จนฝรั่งถึงกับเอามาตั้งเป็นกฎชื่อว่า “กฎของ Murphy” กันเลย

กฎของ Murphy (Murphy’s Law) มีประโยคง่ายๆ ว่า "If anything can go wrong, it will." ซึ่งแปลความหมายประมาณว่า “ในภาวะที่เลวร้าย สิ่งที่เลวร้ายกว่ามีโอกาสเกิดขึ้นเสมอ” ตัวอย่างที่เรามักพบในชีวิตประจำวัน เช่น รถเราตอนมีประกันอยู่มักไม่ค่อยเจออุบัติเหตุ แต่พอประกันขาดปุ๊บ อุบัติเหตุมาทันที

ด้านสุขภาพหรือชีวิตก็เช่นกัน มีหลายกรณีที่พบกับตนเอง คือ ไม่ซื้อประกันสุขภาพเพราะยังมีสวัสดิการของบริษัทอยู่ รอเกษียณก่อนค่อยซื้อ ปรากฏว่าเกษียณไม่นาน ป่วยเป็นมะเร็ง ยังไม่ทันได้ซื้อประกันสุขภาพ สวัสดิการก็ไม่มี ต้องเอาเงินที่เก็บไว้ใช้ยามเกษียณมารักษา

ถึงมีคนกล่าวกันเสมอว่า “ประกันเป็นผลิตภัณฑ์การเงินที่ซื้อเร็วไป 3 ปี ยังดีกว่าซื้อช้าไปแค่ 1 วินาที” เหมือนอย่างคอมเมนต์และกรณีตัวอย่างที่ได้กล่าวมา

แต่เมื่อซื้อช้าไปแล้ว กังวลไปก็ไม่มีประโยชน์ เราควรทำอย่างไร Warren Buffett เคยกล่าวไว้ว่า “อย่าวัดความลึกของแม่น้ำด้วยเท้าทั้งสองข้าง” เพราะถ้าน้ำลึกเราก็จะจมได้ ควรวัดแค่เท้าเดียว อีกเท้านึงไว้ดึงตัวเองขึ้นมาถ้าอันตราย แปลว่า “จะทำอะไรก็ตามควรมีแผนสำรองเสมอ”

แผนสำรองสำหรับการแก้ปัญหากรณีไม่สามารถซื้อประกันสุขภาพได้ คืออะไร?

(1) ประกันที่มีอยู่

อย่างเช่น ประกันสังคม หากเรายังทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ เราจะเป็นสมาชิกประกันสังคม มาตรา 33 ตามกฎหมาย ซึ่งคุ้มครองการรักษาพยาบาลไว้อยู่แล้ว แต่หากเราเกษียณหรือออกจากสมาชิกประกันสังคม มาตรา 33 แนะนำให้ต่อสมาชิกประกันสังคม มาตรา 39 เพื่อรักษาสิทธิการรักษาพยาบาลไว้ โดยเราต้องจ่ายเงินสมทบเดือนละ 432 บาท ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ 432 บาท/เดือน คุ้มครอง 6 กรณี

- กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
- กรณีคลอดบุตร
- กรณีทุพพลภาพ
- กรณีเสียชีวิต
- กรณีสงเคราะห์บุตร
- กรณีชราภาพ

(2) สวัสดิการที่ภาครัฐให้

คือ บัตรทอง สิทธิบัตรทองจะครอบคลุมสิทธิแก่ คนไทยที่มีเลขประจำตัว 13 หลัก ซึ่งยังไม่ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ หรือรัฐวิสาหกิจใดๆ รวมไปถึงยังไม่ได้รับสิทธิประกันสังคม ผู้ที่ถือสิทธิบัตรทองจะได้รับการคุ้มครองค่าใช้จ่ายด้านบริการสาธารณสุข โดยคุ้มจะครองบริการ ดังนี้

1. บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
2. การตรวจวินิจฉัยโรค
3. การตรวจและรับฝากครรภ์
4. การบำบัดและการบริการทางการแพทย์
5. ยา เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์
6. การทำคลอด
7. การกินอยู่ในหน่วยบริการ
8. การบริบาลทารกแรกเกิด
9. บริการรถพยาบาล หรือบริการพาหนะรับส่งผู้ป่วย
10. บริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพ
11. การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจ
12. บริการสาธารณสุขด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ

(3) Package รักษาพยาบาลที่ออกโดยโรงพยาบาล

อย่างโรงพยาบาลจังหวัดแห่งหนึ่งแถวกรุงเทพฯ ให้สิทธิพิเศษไม่ว่าจะเป็นส่วนลดค่ารักษาพยาบาล ค่าห้อง ค่ายาในเปอร์เซ็นต์ที่สูงมาก เพียงบริจาคให้โรงพยาบาล 2 ล้านบาท เท่ากับเราได้ซื้อประกันสุขภาพแบบจ่ายครั้งเดียว คุ้มครองตลอดชีพแถมสิทธินี้สามารถส่งต่อเป็นมรดกให้ลูกได้ด้วย ซึ่งว่าไปแล้วอาจจะคุ้มกว่าการซื้อประกันสุขภาพด้วยซ้ำ ข้อจำกัดที่ด้อยกว่าประกันสุขภาพ มีอยู่เรื่องเดียว ก็คือ เราต้องรักษาในโรงพยาบาลที่เราบริจาคเท่านั้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว การเข้าโรงพยาบาล เราเข้าโรงพยาบาลไหน ก็มักจะเข้าโรงพยาบาลนั้นเสมอ จึงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ดังนั้น ลองสอบถามโรงพยาบาลที่เราสนใจด้วยนะว่ามี Package แบบนี้หรือไม่ เผื่อเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่ง

(4) การบริจาคเลือด ได้บุญ ได้สวัสดิการรักษาพยาบาล

ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้แจงสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้บริจาคโลหิต ทั้งในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศและโรงพยาบาลของสภากาชาดไทย ดังนี้

(4.1) กรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข การใช้สิทธิรักษาพยาบาลของผู้บริจาคโลหิต เป็นไปตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2558 แบ่งออกเป็น

• ผู้บริจาคโลหิต 1 ครั้ง ขึ้นไป ได้รับการช่วยเหลือค่าห้องและค่าอาหารพิเศษ ตามสิทธิที่สามารถเบิกได้จากหน่วยงานต้นสังกัดก่อน ส่วนที่เกินสิทธิให้เรียกเก็บ 50 %

• ผู้บริจาคโลหิต 18 ครั้ง ขึ้นไป ได้รับการช่วยเหลือค่าห้องและค่าอาหารพิเศษ 50 % ตามอัตราที่กำหนดไว้

(4.2) กรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในสังกัดสภากาชาดไทย ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา จังหวัดชลบุรี แบ่งออกเป็น

• ผู้บริจาคโลหิต 7 ครั้งขึ้นไป เสียค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยสามัญ ไม่รวมค่ายาและเวชภัณฑ์ หากอยู่ห้องพิเศษ ผ่าตัด ผ่าตัดคลอดบุตร เสียค่าใช้จ่าย 50 % กรณีผ่าตัดโดยใช้อุปกรณ์พิเศษ ไม่ได้รับการยกเว้น

• ผู้บริจาคโลหิต 24 ครั้งขึ้นไป ได้รับการยกเว้นค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยสามัญ ไม่รวมค่ายาและเวชภัณฑ์ หากอยู่ห้องพิเศษ ผ่าตัด ผ่าตัดคลอดบุตร เสียค่าใช้จ่าย 50 % กรณีผ่าตัดโดยใช้อุปกรณ์พิเศษ ไม่ได้รับการยกเว้น ทั้งนี้ การใช้สิทธิดังกล่าว ผู้บริจาคโลหิตที่มีสิทธิพื้นฐาน เช่น บัตรทอง บัตรข้าราชการ และประกันสังคม ต้องใช้สิทธิ์นั้นก่อน โดยให้นำบัตรประจำตัวของผู้บริจาคโลหิต ขอหนังสือรับรอง ได้ที่ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติสภากาชาดไทย ถนนอังรีดูนังต์ ส่วนภูมิภาค ขอหนังสือรับรองได้ที่ ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ เหล่ากาชาดจังหวัด โรงพยาบาลประจำจังหวัด โดยหนังสือรับรองใช้ลดหย่อนการรักษาพยาบาลดังกล่าว เป็นครั้งๆ ไป ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ

ที่กล่าวมาเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น การแก้ปัญหาเรื่องค่ารักษาพยาบาล มีทางออกมากมาย จะเลือกใช้ทางไหน ก็ขึ้นกับความเหมาะสมของแต่ละบุคคล เราจึงควรศึกษาหาข้อมูลให้ละเอียดครบถ้วนก่อนตัดสินใจ แต่ไม่ว่าเลือกทางไหน การดูแลรักษาสุขภาพ ไม่ว่าการกิน การออกกำลังกาย ฯลฯ คือทางที่ถูกต้องสำหรับทุกทางเลือก