ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ “รายได้” มักถูกนำมาใช้ในการวัดสถานภาพความเป็นอยู่ของคนในสังคม หรือใช้เป็นเกณฑ์ในการวัดคนจนคนรวยเป็นตัวเลือกแรกๆ เพราะเป็นปัจจัยที่วัดง่ายและมีข้อมูลที่หาได้ค่อนข้างสะดวก

และต้องบอกว่าปัจจัยทางด้าน “รายได้” ถือเป็นตัวบ่งชี้ที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ หากถูกใช้เป็นเกณฑ์ในการวัดว่า มีใครบ้างที่ความเป็นอยู่ด้อยกว่ามาตรฐานของคนในสังคม อย่างเช่น การกำหนด “Poverty line” หรือ “เส้นความยากจน” สำหรับคัดกรองผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์และจัดให้อยู่ใน “กลุ่มคนยากจน” เพื่อรอการช่วยเหลือต่อไป

แต่สิ่งที่ต้องกลับมาตั้งคำถามคือ หากต้องการวัดว่ามีใครบ้างที่สามารถใช้ชีวิตได้เกินมาตรฐานของสังคม เป็นผู้ที่มีความพร้อมทางสังคมสูง หรือเรียกง่ายๆ ว่า “คนรวย” นั้น เราจะต้องใช้ตัวชี้วัดอะไรกันแน่ถึงจะเหมาะสม…รายได้(Income)? และ/หรือ เงินเก็บ(Saving)? และ/หรือ ความมั่งคั่ง(Wealth)?

ข้อสังเกตการพิจารณาด้านรายได้

“คนรายได้เยอะ อาจไม่ใช่คนรวย” เหตุผลที่บอกแบบนี้เนื่องจากการมีรายได้เยอะสามารถบ่งบอกได้เพียงว่า ผู้นั้นมีความสามารถในการหาเงินได้สูง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความขยันที่มากกว่าคนอื่น ประสบการณ์ที่มากกว่าคนอื่น หรือทำงานที่ความเสี่ยงกว่าคนอื่น

ซึ่งไม่อาจตีความได้เต็ม 100% ว่าคนรายได้เยอะจะต้องรวยด้วย เพราะแต่ละคนมีภาระค่าใช้จ่ายมากน้อยไม่เท่ากัน ยกตัวอย่างภาระทางด้านรายจ่ายที่คนไทยต้องเจอ 3 ด้าน ดังนี้

(1) ภาระค่าครองชีพ (Cost of living)

แน่นอนว่าค่าครองชีพเป็นสิ่งที่ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องจ่าย หากประเมินภาระค่าครองชีพตามค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ค่าครองชีพครัวเรือนไทยคิดเป็น 80% ของรายได้ที่มี หมายความว่า หากมีรายได้ 25,000 บาท ต้องเสียไปกับค่าครองชีพแล้วประมาณ 20,000 บาทเป็นอย่างต่ำ โดยยังไม่นับรวมภาระหนี้สิน และรายจ่ายเพื่อดูแลครอบครัวที่เพิ่มเข้ามาด้วย

(2) ภาระหนี้สิน (Debt burden)

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า คนไทย 1 ใน 3 ของเป็นหนี้ และยอดหนี้มีสัดส่วนสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยจากปี 2560 ถึง 2565 สัดส่วนคนไทยที่มีหนี้ เพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 37% ของประชากรทั้งหมด และ 57% ของคนไทยที่มีหนี้ มีหนี้เกิน 100,000 บาท และที่น่ากังวลคือ ในภาพรวมมูลค่าหนี้ของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ภาระหนี้ที่ต้องจ่ายต่อเดือนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น

(3) ภาระพึ่งพิง (Dependency)

ในช่วง 5 ปีให้หลังมานี้เป็นที่รับรู้กันดีว่าคนไทยโดยเฉพาะวัยทำงานจะมีภาระที่ต้องดูแลคนวัยอื่นๆ เพิ่มสูงขึ้น กล่าวคือ นอกจากดูแลตัวเองแล้วยังมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลครอบครัวด้วย ไม่ว่าจะเป็นในฐานะลูกที่ต้องดูแลพ่อแม่ หรือในฐานะพ่อแม่ที่ต้องเลี้ยงดูลูกๆ บ่งบอกถึงภาวะของ “Sandwich generation” ได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในอนาคตที่ภาพรวมของปัญหาจะยิ่งรุนแรงขึ้น โดยข้อมูลจากสภาพัฒน์ฯ เปิดเผยว่าในอีก 10 กว่าปีนี้ คนวัยทำงานประมาณ 1 คนกว่าจะต้องดูแลผู้สูงอายุอย่างน้อย 1 คนเลยทีเดียว

ดังนั้น การวัดความรวยโดยใช้เกณฑ์ของรายได้จึงไม่ได้การันตีว่าผู้นั้นจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีแล้วหรือพร้อมแล้ว เพราะยังต้องเจอกับภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่เท่ากันจนบางครั้งอาจจะไม่เหลือเงินเก็บอยู่เลยก็เป็นได้เช่นกัน

ข้อสังเกตการพิจารณาด้านเงินเก็บ

การบริหารเงินให้พอใช้จ่ายว่ายากแล้ว การบริหารเงินให้เหลือเก็บยากกว่า เพราะการจะมีเงินเก็บหรือ “Saving” สักก้อน ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความประหยัดใช้ ความมีวินัย และความพยายามค่อนข้างสูงในการเก็บเงินให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้

ซึ่งโดยปกติแล้ว “Saving” ที่เป็นเงินก้อนหลักแสนอาจเป็นเพียงเงินที่ต้องมีไว้เพื่อบริหารความเสี่ยงในชีวิตเท่านั้น ไม่ใช่เงินเก็บเพื่อความมั่งคั่งหรือบ่งชี้ความรวยแต่อย่างใด

กล่าวคือ “เงินเก็บหลักแสน” ส่วนมากมักเป็น “เงินสำรองฉุกเฉิน” ที่ต้องเตรียมไว้เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน

เช่น สมมติว่ามีรายจ่าย 20,000 บาทต่อเดือน เงินที่ควรมีในบัญชีเงินฝากคือประมาณ 120,000 บาท เพื่อสำรองไว้ยามฉุกเฉินในช่วง 6 เดือนข้างหน้า (20,000 x 6 = 120,000)

หรือคนที่มีรายจ่ายประมาณ 40,000 กว่าบาทต่อเดือน เงินในบัญชีก็อาจต้องมีถึง 500,000 บาทเลย เพื่อบริหารความเสี่ยงในช่วงเวลา 1 ปี หรือเทียบเท่ากับ 12 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือนนั่นเอง

ดังนั้น การมีเงินเก็บหรือเงินฝากในบัญชีนิ่งๆ อาจเป็นตัวชี้วัดได้แน่นอนแค่ว่าผู้นั้นมีการบริหารความเสี่ยงในเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้หรือเป็นผู้ที่มีการวางแผนการเงินที่ดีเท่านั้นหรือไม่

มีปัจจัยด้านอื่นๆ ที่สามารถพิจารณาความรวยได้หรือไม่?

ในโลกของการวางแผนการเงิน ความมั่งคั่ง หรือ “Wealth” มักถูกใช้ในการพิจารณาว่าเรารวยขึ้นหรือจนเป็นเรื่องปกติ โดยมีสูตรการคำนวณ คือ “ความมั่งคั่ง = สินทรัพย์ - หนี้สิน” หากคิดออกมาแล้วความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น ก็แสดงว่ารวยขึ้น แต่หากความมั่งคั่งลดก็แสดงว่าจนลง ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบกันระหว่าง 2 ช่วงเวลา

แล้วถ้าอยากรู้ว่า “เรารวยแล้วหรือยัง” ในโลกการเงินคำนวณอย่างไร?

ทั้งนี้ ก่อนจะ “รวย” ต้อง “อยู่รอด” ให้ได้ก่อน ซึ่งถ้าอยากรู้ว่าเราสามารถอยู่รอดในโลกการเงินได้หรือไม่ ต้องคำนวณ “อัตราส่วนความอยู่รอด” ซึ่งต้องรู้ 3 ปัจจัยนี้ก่อน ได้แก่ (1) รายได้จากการทำงาน (2) รายได้จากทรัพย์สินหรือการลงทุน และ (3) ภาระค่าใช้จ่ายที่เรามี

สูตรคำนวณ:
อัตราส่วนความอยู่รอด = [รายได้จากการทำงาน + รายได้จากทรัพย์สิน] ÷ ค่าใช้จ่าย

…ถ้าค่ามากกว่า 1 แสดงว่าอยู่รอดได้

แต่ถ้าจะวัดว่าเรารวยแล้วหรือยังให้ดูจาก “อัตราส่วนความมั่งคั่ง” ที่ต้องไม่นำรายได้จากการทำงานมาคำนวณร่วมด้วย โดยจะเหลือแค่ 2 ปัจจัย คือ (1) รายได้จากทรัพย์สินหรือการลงทุน และ (2) ภาระค่าใช้จ่าย ที่ใช้ในการพิจารณา

สูตรคำนวณ:
อัตราส่วนความมั่งคั่ง = รายได้จากทรัพย์สิน ÷ ค่าใช้จ่าย

…ถ้าค่ามากกว่า 1 แสดงว่ามั่งคั่งแล้ว หรืออีกนัยคือ ถึงแม้ไม่ทำงานเลยก็ไม่อดตาย

สุดท้ายในเรื่องของการพิจารณา “ความรวย” นั้นหากจะวัดจากปัจจัยทางด้านรายได้ และเงินเก็บเพียงอย่างเดียวอาจทำให้ไม่ครอบคลุมในทุกมิติที่เป็นองค์ประกอบของความรวยหรือไม่ และถ้าถามว่าใครที่รวยแล้วบ้าง ต้องกลับไปดูที่นิยามหรือไม่ ว่าคนรวยนั้นรวยจากอะไร? รวยจาก “รายได้” รวยจาก “เงินเก็บ” หรือรวยจาก “ความมั่งคั่ง” กันแน่

เขียนโดย: วัฒนา มะสันเทียะ