เคยได้ยินคนพูดเสมอว่าทุกอย่างชัดเจนเสมอเมื่อมองย้อนกลับไปในอดีต

แม้จะรู้สึกว่ามันเป็นอย่างนั้น แต่ในความเป็นจริงมันทำให้ความจริงบิดเบี้ยวและกระทบต่อการตัดสินใจเรื่องการเงินของเราด้วย

อคติแห่งการมองย้อนกลับ (Hindsight Bias) เกิดขึ้นเมื่อเรามองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเชื่อ ‘แบบผิด ๆ’ ว่าคุณรู้มาโดยตลอด “เป็นอย่างที่คิด” ผลที่ออกมาไม่ต่างจากที่คุณคาดการณ์เอาไว้ตั้งแต่แรก

เอาง่าย ๆ แบบนี้ก็ได้ เมื่อทีมฟุตบอลทีมโปรดของคุณแข่ง แล้วคุณก็พูด ๆ ว่าเกมนี้ก็ชนะแน่นอน แต่พอผลลัพธ์ออกมาไม่เป็นอย่างที่คิด กลับพูดว่า “เป็นอย่างที่คิดเลย คิดไว้อยู่แล้วว่าเกมนี้ต้องแพ้แน่เลย”

นั่นแหละครับอคติแห่งการมองย้อนกลับ

เมื่อทุกอย่างเกิดขึ้นแล้ว เมื่อเราทราบข้อมูลและความจริงของเหตุการณ์ สมองเรามีแนวโน้มที่จะเขียนอดีตใหม่และทำให้ดูเหมือนว่าเรารู้อยู่แล้วว่าทุกอย่างจะจบลงอย่างไร

ปัญหาของอคติแห่งการมองย้อนกลับ

มีประโยคหนึ่งของ โยดา (Yoda) สุดยอดเจไดในตำนานจากเรื่อง Star Wars ที่กล่าวว่า

“อาจารย์ที่ดีที่สุดคือความล้มเหลว”

แม้คำกล่าวนั้นจะจริง แต่ก็เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น

จริงอยู่ที่เราเรียนรู้จากความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ แต่ก็เราจะเรียนรู้จากความล้มเหลวได้ เราก็ต้องซื่อสัตย์และระบุได้อย่างชัดเจนว่าสาเหตุของความผิดพลาดนั้นมาจากอะไรกันแน่

ซึ่งตอนนี้แหละที่อคติแห่งการมองย้อนกลับกลายเป็นปัญหา

ลองจินตนาการก็ได้ครับว่าคุณกำลังเริ่มทำธุรกิจบางอย่าง แล้วมีคนถามว่า “ธุรกิจนี้จะอยู่รอดในปีแรกไหม?” คุณก็คงตอบอย่างมั่นใจว่า “แน่นอนสิ”

หลังจากนั้นหนึ่งปี ปรากฏว่าธุรกิจไปไม่รอด (ซึ่งสถิติการทำธุรกิจโดยเฉพาะสตาร์ตอัปนั้นล้มเหลวมากกว่า 90%) ทีนี้พอมีคนมาถามให้คุณนึกถึงคำตอบที่ตัวเองให้ไว้เมื่อปีก่อน คุณก็อาจจะบอกว่า “ที่จริงก็คิดแหละว่าธุรกิจนี้อาจจะไม่รอดก็ได้”

ตอนนี้คุณกำลังเอาผลลัพธ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้น (ธุรกิจที่ล้มเหลว) มาเป็นตัวตั้งต้นเขียนประวัติศาสตร์ใหม่อีกครั้งหนึ่ง สร้างเรื่องราวบางอย่างที่บอกว่าคุณก็รู้มาเสมอว่ามันจะเกิดขึ้นอยู่แล้ว

ที่จริงคำถามนี้ถูกใช้จริง ๆ ในการทดลองในปี 2009 ที่มหาวิทยาลัย University of Pennsylvania ซึ่งนักวิจัยก็ถามเหล่าผู้ประกอบการว่าโอกาสที่ธุรกิจของพวกเขาจะประสบความสำเร็จไหมในอีกหนึ่งปี ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าแน่นอน (ก็เข้าใจได้ว่าคนที่กำลังจะเริ่มธุรกิจคงไม่มีใครบอกว่าของตัวเองจะเจ๊ง)

หลังจากนั้นหนึ่งปีก็กลับมาถามเหล่าผู้ประกอบการที่ไปไม่รอด พวกเขาจะตอบว่า ‘ก็คิดไว้แล้วว่ามันอาจจะไม่รอดก็ได้’ ซึ่งกลายเป็นช่องว่างระหว่างคำตอบที่มาจากคติแห่งการมองย้อนกลับทันที

ปัญหาเกิดขึ้นตรงนี้แหละ ความบิดเบี้ยวของความคิดที่คิดว่าตัวเองรู้อยู่แล้วว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ไม่วิเคราะห์หรือหาเหตุผลจริง ๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจ ทำไมมันถึงล้มเหลว ทำไมถึงไปไม่รอด ซึ่งการมองข้ามตรงนี้และด่วนสรุปไปเลยว่าตัวเองรู้อยู่แล้ว ทำให้เสียโอกาสเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั่นเอง

แล้วเกี่ยวอะไรกับการลงทุน?

ทีนี้ลองคิดดูนะครับว่านักลงทุนที่ไม่เรียนรู้จากความผิดพลาดและคิดว่าตัวเองรู้อยู่แล้วจะเกิดอะไรขึ้น?

ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งบ่งบอกว่าแม้แต่นักลงทุนมืออาชีพที่ทำงานในธนาคารใหญ่ ๆ ทั้งหลายนั้นล้วนตกเป็นเหยื่อของอคตินี้เช่นเดียวกัน ทำให้ตอบแทนไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวังอยู่บ่อย ๆ ที่น่ากลัวก็คือว่าประสบการณ์หรือจำนวนปีก็ไม่ได้มีผลทำให้อคตินี้ลดลงเลย ไม่ว่านักลงทุนที่อยู่ในตลาดมา 40 ปี หรือคนที่เพิ่งทำงานล้วนมีโอกาสที่จะคิดว่า “นั่นไง คิดไว้แล้วเชียว” อยู่เสมอ

ตลาดหุ้นมีความผันผวนสูงมาก ราคาแกว่งขึ้นลงได้ในพริบตา หลังจากช่วงที่ความผันผวนผ่านไป นักลงทุน มืออาชีพทั้งหลายก็มีแนวโน้มที่จะประเมินสิ่งที่ตัวเองทำได้สูงเกินไปในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสิ่งนี้เองที่ทำให้เกิดความมั่นใจมากเกินไปและไม่เตรียมพร้อมที่จะรับมือกับความผันผวนที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้น

เอาง่าย ๆ หลังจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 ผ่านไป เหมือนว่านักลงทุนที่มีชื่อเสียงก็จะออกมาพูดไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง

- เราน่าจะรู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น
- รู้มาตลอดเลยว่ามันจะเกิดปัญหา

แต่ตอนนั้นกลับมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ออกมาเตือนเรื่องฟองสบู่อสังหาฯในอเมริกา แต่เมื่อมีอคติแห่งการมองย้อนกลับเข้ามาเกี่ยวข้อง เราจะเห็นเลยว่านักลงทุนมากมายกลับเชื่อ (แบบผิด ๆ) ว่าพวกเขารู้มาตลอดว่าจะเกิดอะไรขึ้น

นี่คือเรื่องที่อันตรายเพราะ พวกเขามองข้ามโอกาสในการเรียนรู้กับวิกฤติที่ผ่านมาและไม่พร้อมที่รับมือกับวิกฤติครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจทีผิดพลาดได้

จะเอาชนะอคติแห่งการมองย้อนกลับยังไงดี?

สำหรับนักลงทุนแล้วสิ่งที่พอจะช่วยลดอคติแห่งการมองย้อนกลับได้ดีมากที่สุด (ไม่ว่าจะในเรื่องการลงทุนหรือชีวิตส่วนตัวก็ตาม) คือการเขียนบันทึกการตัดสินใจของตัวเองเอาไว้ (จะเป็นสมุดหรือแอปฯมือถือก็ได้ ขอให้เป็นสิ่งที่เราสามารถหยิบมาดูได้ตลอด)

เมื่อไหร่ก็ตามที่ตัดสินใจทำอะไร ไม่ว่าจะเป็นการซื้อหุ้น ลงทุน ทำธุรกิจ ฯลฯ ทุกอย่างที่เป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ ๆ ในชีวิต และสิ่งที่สำคัญคือเขียนเหตุผลกำกับไปด้วยว่า ‘เพราะอะไร’ ถึงตัดสินใจแบบนี้ ทำไมเราถึงเลือกไปทางซ้ายมากกว่าทางขวา ทำไมเราถึงเชื่อว่าหุ้นตัวนี้จะขึ้น ปลายทางผลลัพธ์ที่เราเชื่อว่าจะเกิดขึ้นจริง ๆ คืออะไรกันแน่

เมื่อเวลาผ่านไปแล้วเราก็กลับมาเช็กครับว่าความจริงมันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ไหม ตอนนี้แทนที่จะบอกว่า “เห็นไหม ว่าแล้วเชียว” คุณจะรู้ว่าตัวเองไม่ได้รู้หรอก ซึ่งการยอมรับตรงนี้ว่าตัวเองไม่ได้รู้มาก่อน คิดผิดมาตลอดคือก้าวแรกของการเรียนรู้จากความล้มเหลวอย่างแท้จริง ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจที่ดีขึ้นในอนาคตด้วย

เราพลาดโอกาสในอดีตและ “รู้งี้” มานักต่อนักแล้ว

อย่าพลาดโอกาสในอนาคตเพราะ “รู้แล้วว่าจะเป็นอย่างงี้” เพิ่มขึ้นเลยครับ