เราคงเคยได้ยินสุภาษิตที่บอกว่า “ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่” กันอยู่บ้าง

คำกล่าวที่ชี้ให้เห็นว่า พฤติกรรมของเด็กในครอบครัว ก็มาจากการเลียนแบบผู้ใหญ่ในครอบครัว พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นยังไง โอกาสที่เด็กจะเป็นอย่างนั้นก็มีสูงมาก

มีการทดลองอันหนึ่งชื่อว่า “Bobo Experiment” (ลิงก์ในอ้างอิง) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเด็กวัยอนุบาลจะแสดงออกถึงความก้าวร้าวต่อตัวตัวตลกล้มลุกชื่อ Bobo (ทุบตี ต่อย เตะ โยน) หากพวกเขาเคยเห็นผู้ใหญ่ทำแบบเดียวกัน

การทดลองนี้เป็นหลักฐานว่าเด็กๆเรียนรู้จากส่ิงรอบข้างและการเลียนแบบด้วย ไม่ใช่แค่รูปแบบ Reward/Punishment ทำดีได้รางวัล ทำไม่ดีโดนทำโทษเท่านั้น การสังเกตหรือเลียนแบบเป็นรูปแบบหนึ่งของการเรียนรู้และส่งผลกระทบต่อการกระทำของเด็กๆ อย่างมาก

“เด็กๆคือกระจกสะท้อนตัวเราที่ชัดเจนที่สุด”

คำพูดนี้เป็นเรื่องจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และมันก็มีหลักฐานที่ชัดเจน ถ้า Bobo พูดได้ก็คงบอกอย่างนั้นเหมือนกัน

เด็กเลียนแบบเรื่องการเงินจากพ่อแม่

เด็กรับรู้และช่างสังเกตกว่าที่ผู้ใหญ่คิด นอกจากพฤติกรรมต่างๆ ที่คุณทำต่อเหตุการณ์และสิ่งรอบตัวแล้ว พวกเขาก็สังเกตเห็นสิ่งที่เรียกว่า ‘เงิน’ ด้วย

ใครมีเงิน ไม่มีเงิน พ่อแม่ใช้จ่ายยังไงเมื่อเทียบกับคนอื่น เด็กคนไหนมีของเล่นใหม่ตลอด ฯลฯ พวกเขารับรู้และได้ยินเมื่อพ่อแม่เครียดหรือเถียงกันเรื่องเงิน

จอร์แดน เว็กซ์เลอร์ (Jordan Wexler) ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของบริษัทที่ปรึกษาการลงทุน EarlyBird สำหรับผู้ปกครองที่ต้องการเริ่มลงทุนสำหรับลูกในอเมริกา บอกว่า “คุณคือกระจกสะท้อนและลูกคือฟองน้ำ”

เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากให้ลูกมีความฉลาดทางด้านการเงิน (Money Literacy) พ่อแม่ผู้ปกครองและคนที่อยู่ในชีวิตเด็กๆ (รวมถึง ย่ายาย/ตาปู่ ที่ชอบสปอยล์แอบให้เงินหลานๆ ด้วย) ก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้เงิน ซึ่งจะกลายเป็นบทเรียนที่สำคัญมากๆ ในชีวิตของพวกเขาเมื่อโตขึ้น

เริ่มจากพ่อแม่ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน สิ่งที่ครอบครัวให้คุณค่าคืออะไร การจับจ่ายซื้อของที่จำเป็น พฤติกรรมการชอปปิงออนไลน์ จัดการหนี้บัตรเครดิตยังไง ใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย ซื้อของแบบไม่มีการวางแผนรึเปล่า สิ่งเหล่านี้ลูกๆ เรียนรู้จากสิ่งที่พ่อแม่ทำได้ทั้งสิ้น

เคลลี่ พาลเมอร์ (Kelly Palmer) ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่งคั่งของ The Wealthy Parent ซึ่งให้บริการวางแผนการเงินสำหรับพ่อแม่มือใหม่แนะนำว่าพ่อกับแม่ต้องร่วมกันตัดสินใจอยู่เสมอ อย่าให้พ่อตัดสินใจแค่ฝ่ายเดียว หรือแม่เป็นคนฟันธงแค่คนเดียว เด็กๆ จะรับรู้ถึงการมีส่วนร่วมและความสำคัญของการตัดสินใจร่วมกันของทุกคน

ให้เด็กมีส่วนร่วมและอธิบายถึงบริบทที่เกิดขึ้น

เวลาไปซื้อของที่ตลาดหรือซูเปอร์มาเก็ต การวางแผนสำหรับทานอาหารนอกบ้าน เดินทางช่วงวันหยุดยาว ฯลฯ เหตุการณ์พวกนี้สามารถใช้เป็นโอกาสเพื่อคุยกับเด็กๆ ได้ถึงเรื่องเงินและคุณค่าของมัน

ในจังหวะที่รีบๆ เราอาจจะต้องตัดบทแล้วทำธุระให้เสร็จก่อน แต่สิ่งสำคัญคือหลังจากที่พอมีเวลาว่างแล้วให้กลับมาอธิบายถึงเหตุผลการตัดสินใจของคุณในจังหวะที่เกิดขึ้นว่าที่ทำไปเพราะอะไร

เช่นคุณต้องรีบไปทำงานต้องแวะซื้อของแล้วลูกงอแงจะเอาขนม จะให้มานั่งคุยอธิบายเรื่องเงินในซูเปอร์มาเก็ตอีก 20 นาทีคงเป็นไปไม่ได้ แต่คุณสามารถกลับมาอธิบายทีหลังได้เมื่อสถานการณ์มันสงบลงและผ่านไปสักนิดหนึ่งแล้ว

การแชร์สถานการณ์และเบื้องหลังการตัดสินใจจะช่วยให้เด็กๆ เข้าใจมากขึ้น ทำไมซื้อของเล่นได้ ตอนนี้การเงินที่บ้านติดตรงไหนรึเปล่า มีค่าใช้จ่ายพิเศษเพิ่มขึ้นมาไหม ฯลฯ

พ่อแม่อาจจะรู้สึกว่าการดึงเด็กๆ เข้ามาพูดคุย หรืออธิบายสถานการณ์เรื่องการเงินในบ้านให้ฟังดูตึงเครียดเกินไป แต่การแชร์ (ไม่ใช่การใช้อารมณ์ ด่าทอ โยนความผิด โทษลูกว่าเป็นภาระต้องค่าใช้จ่าย ฯลฯ) บอกเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้น จะช่วยทำให้เด็กๆ รู้สึกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจภายในครอบครัวนี้ด้วย

เมื่อพ่อแม่แสดงให้เห็นถึงความฉลาดทางด้านการเงิน เก็บออม บริหารหนี้ ลงทุน หรือแก้ไขปัญหาทางด้านการเงินในชีวิตให้ลูกเห็น มีวุฒิภาวะทางอารมณ์​ ช่วยเหลือกันเมื่อชีวิตเจอปัญหา พวกเขาสามารถเรียนรู้และใช้มันในชีวิตเมื่อโตขึ้นด้วย

คนอื่นมีแล้วทำไมเราไม่มีเหมือนเขา?

คำพูดหนึ่งที่ยากที่สุดสำหรับพ่อแม่เวลาพูดกับลูกคือ “เราซื้อไม่ได้ลูก”

ความเป็นพ่อแม่ เราอยากจะมอบสิ่งที่ดีที่สุด ให้เขาเท่าที่เราสามารถทำได้ แต่แน่นอนทุกอย่างก็ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเหมาะสมและความเป็นจริง

เมื่อสังคมของเขากว้างขึ้น เห็นญาติที่นานๆ เจอกันที หรือไปโรงเรียน เห็นเพื่อนๆ มีของเล่นใหม่ กล่องดินสอ ตุ๊กตา หรือ เกมต่างๆ (โตหน่อยก็จะเป็นพวกอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์อย่าง Smart Watch, iPad, iPhone หรือ Nintendo Switch) ก็จะเริ่มตั้งคำถามแหละว่า “ทำไมเราไม่มีนะ?”

หรือเวลาเพื่อนไปเที่ยวต่างประเทศทุกปิดเทอมแล้วกลับมาเล่าประสบการณ์เดินทาง ก็จะเริ่มรู้สึก “ทำไมเราถึงไม่ได้ไปบ้างนะ?”

นี่คือความท้าทายสำหรับพ่อแม่เลย เมื่อความเปรียบเทียบมันเกิดง่ายขึ้นแล้วจะรับมือกับเรื่องนี้ยังไงดี?

อย่างแรกอย่าบอกปัดแบบส่งๆ เช่น “เรามันจน” หรือ “อย่าไปสนใจเลยลูก”

ให้ลองถามว่าทำไมถึงอยากได้สิ่งของเหล่านั้นหรือประสบการณ์ตรงนั้น ลองหาทางแก้ด้วยกัน บางทีอยากไปเที่ยวเพราะได้ใช้เวลากับพ่อแม่ พ่อแม่ทำงานยุ่งตลอด ไม่มีเวลาหยุดพักเลย แบบนี้ปัญหาคือเวลาของพ่อแม่ไม่ใช่การอยากไปเที่ยว

ลองคุยกันอธิบายว่าค่าใช้จ่ายมันประมาณไหน เด็กที่โตหน่อยมีค่าขนมแล้วอาจจะลองเก็บเงินซื้อด้วยตัวเอง แล้วคุณอาจจะช่วยเก็บสมทบอีกนิดหนึ่ง ช่วยกันวางแผนว่าถ้าอยากได้จริงๆ ต้องทำยังไง ใช้โอกาสนี้เพื่อเป็นบทเรียนเรื่องการใช้จ่ายและออมเงินที่ดีเช่นกัน

หรือถ้าเป็นเด็กเล็กหน่อยก็ต้องอธิบายเรื่องค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่างๆ ในบ้านที่พ่อแม่ต้องรับผิดชอบ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสุดท้ายพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี บอกว่าเงินตึงมือ ซื้อของให้ลูกไม่ได้ แต่ตัวเองเอฟของชอปปิงออนไลน์ของมาส่งที่บ้านทุกวัน แบบนี้ปากว่าตาขยิบ เด็กๆ หมดความเชื่อถือไปเลย ไม่ได้นะครับ

สิ่งสำคัญคือการแสดงให้ลูกเห็นว่าพวกเขาสามารถมาคุยกับเราได้เรื่องเงินและจะได้คำตอบที่ไม่ใช่แค่ปัดผ่านไปเท่านั้น เพราะสุดท้ายแล้วเรื่องเงินก็เรื่องหนึ่ง แต่มันคือสายสัมพันธ์ที่คุณมีกับลูก แสดงให้ลูกเห็นว่าคุณแคร์และรักเขา อยากช่วยเขาอย่างจริงใจ ไม่ว่าคุณจะมีเงินเท่าไหร่ในบัญชีก็ตาม